ดันอุตชีวภาพขึ้นไบโอฮับ ยักษ์ใหญ่พร้อมลงทุน ‘บางจาก’เท5พันล้านตั้งรง.ใน EEC

ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

“อุตตม” ดันไทยขึ้น “ไบโอฮับ” เร่งภาคเอกชนส่งแผนลงทุน-ที่ตั้ง-ร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ลั่นทบทวนการให้สิทธิประโยชน์ BOI ใหม่ นำร่อง 3 พื้นที่ “EEC-เหนือตอนล่าง-อีสานตอนกลาง” ยักษ์ใหญ่ “มิตรผล-ไทยเบฟ-ปตท.-บางจาก” พร้อมลงทุน 

ครม.ได้มีมติให้ความเห็นชอบ มาตรการในการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ (2561-2570) หรือ Bio Economy ด้วยความมุ่งมั่นที่จะให้ประเทศไทยเป็น Bio Hub of ASEAN ไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมาตรการนี้จะเน้นให้ภาคเอกชนเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุนในผลิตภัณฑ์เป้าหมายไม่ว่าจะเป็นพลาสติกชีวภาพ (bioplastic)-เคมีชีวภาพ (biochemicals)-ชีวเภสัชภัณฑ์ (biopharmaceuticals) ซึ่งจัดเป็น 1 ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย New S-curve ของประเทศโดยมีพื้นที่นำร่อง 3 เขตด้วยกันคือ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) คาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุน 9,740 ล้านบาท, เขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง (นครสวรรค์-กำแพงเพชร) มูลค่าการลงทุน 51,000 ล้านบาท และเขตภาคอีสานตอนกลาง (ขอนแก่น) มูลค่าลงทุน 35,030 ล้านบาท

อุตฯเร่งเสนอแผนเข้า ครม.

ล่าสุด นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การผลักดันเพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ให้ก้าวไปสู่ Bio Hub ไม่ใช่เพียงการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม Bio อย่างเดียว แต่ผู้ประกอบการจะต้อง “เชื่อมโยง” การพัฒนาอุตสากรรมเข้ากับชุมชนโดยรอบด้วยการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ให้สามารถนำวัสดุเหลือใช้จากโรงงานไป “ต่อยอด” ทำเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมา โดยให้เอกชนที่จะต้องการจะลงทุนตั้งโรงงานไบโอชีวภาพ (Bio Economy) เสนอแผน-พื้นที่ตั้งโรงงานเข้ามา และกระทรวงอุตสาหกรรมจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.อีกครั้งเพื่อปรับแพ็กเกจการให้สิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ใหม่

“หลังจาก ครม.เห็นชอบมาตรการพัฒนา Bio Economy เมื่อกลางปีที่ผ่านมาเดิมจะมีการพูดถึงเพียงการตั้งโรงงาน Bio เท่านั้น ซึ่งผู้ประกอบการที่จะเข้ามาลงทุนก็จะได้แค่สิทธิประโยชน์จาก BOI แต่การจะเป็น Bio Hub จะทำแค่ตั้งโรงงานไม่ได้ ดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมจึงให้เอกชนเสนอแผน-พื้นที่เข้ามาใหม่ ซึ่งจะต้องมีแผนการพัฒนาพื้นที่โดยรอบจะทำยังไงให้ชุมชนมีส่วนร่วม การดึงมหาวิทยาลัย-สถาบันการศึกษาเข้ามาช่วยกันคิดสินค้าจาก Bio ขึ้นมาด้วย ต่อจากนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมจะกลับมาพิจารณาว่า แพ็กเกจให้การส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพจะต้องปรับสิทธิประโยชน์เพิ่มด้วยหรือไม่” นายอุตตมกล่าว

แก้ระเบียบเปิดทางตั้ง รง.

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำการแก้ไขระเบียบเพื่อรองรับมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพประกอบด้วยสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทรายทำการปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย 2527 ให้สามารถนำ “น้ำอ้อย” ไปผลิตเป็นสินค้าอื่นที่ไม่ใช่น้ำตาลทรายได้กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้เพิ่มบัญชีประเภทกิจการอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพให้เป็นอุตสาหกรรม S-curve และกรมโยธาธิการและผังเมืองได้แก้ไขกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมือง

เปิดตัว 6 กลุ่ม Bio Hub 

สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่สนใจจะลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพ ได้แก่ 1) บริษัทโกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC ร่วมทุนกับบริษัทเกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ Ktis ในโครงการไบโอคอมเพล็กซ์ครบวงจรมูลค่า 7,650 ล้านบาท พื้นที่กว่า 2,000 ไร่ในอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ใช้วัตถุดิบมันสำปะหลังและอ้อย ในระยะที่ 1จะสร้างโรงงานผลิตเอทานอล ไฟฟ้าชีวมวลระบบสาธารณูปโภค และระบบส่งเสริมกระบวนการผลิตกลางของโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนโครงการระยะที่ 2 ประกอบด้วยโรงงานเคมีและพลาสติกชีวภาพ โรงงานอาหารเสริม มูลค่า 10,000-30,000 ล้านบาท

2) บริษัท Corbion ประเทศเนเธอร์แลนด์สนใจผลิต poly lactic acid (PLA) 3) บริษัทNature Work (สหรัฐ) ร่วมกับกลุ่ม ปตท.สนใจผลิตไบโอพลาสติกและเคมีภัณฑ์ โดยบริษัท Nature Works อยู่ระหว่างพิจารณาที่จะหาพื้นที่ตั้งโรงงาน PLA แห่งที่ 2 เฟสแรกจะลงทุนในโครงการผลิตเอทานอลจากน้ำอ้อย ส่วนเฟส 2 จะนำน้ำอ้อยมาผลิตวัตถุดิบทั้ง succinic acid และ lactic acid 3) บริษัท พูแรค ได้เข้ามาลงทุนโครงการแรกแล้วและมีแผนขยายโครงการใหม่เพิ่มโดยการตั้งโรงงานผลิต PLA และผลิตกรดแล็กติกที่จะซื้อวัตถุดิบน้ำตาลและแป้งมันสำปะหลังผลิตขึ้นจากการหมักน้ำตาลจากอ้อยหรือน้ำตาลจากแป้งมันสำปะหลัง

4) บริษัท น้ำตาลมิตรผล เตรียมที่จะลงทุนไบโอคอมเพล็กซ์ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น 5) บริษัท บางจาก เตรียมลงทุนตั้งโรงงานไบโอในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมใน EEC ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และ 6) กลุ่มไทยเบฟ (เบียร์ช้าง) ร่วมกับบริษัทในเครือ บริษัท คริสตอลลา จำกัด (บริษัทแม่ของบริษัทน้ำตาลทิพย์สุโขทัย-น้ำตาลทิพกำแพงเพชร-น้ำตาลสุพรรณบุรี) สนใจลงทุนตั้งไบโอคอมเพล็กซ์

บางจากตั้ง รง. Bio ใน EEC

ด้านนายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บางจากอยู่ระหว่างเริ่มแผนสร้างโรงงาน Bio Hub พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง ทั้งด้านไบโอพลาสติก วัสดุชีวภาพ น้ำตาล และโปรตีนชีวภาพ มูลค่าลงทุนประมาณ 5,000 ล้านบาท เบื้องต้นรูปแบบของโรงงานจะคล้ายกับโมเดลธุรกิจโซลาร์สหกรณ์ ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยในส่วนของต้นน้ำบางจากจะร่วมมือกับกลุ่มสหกรณ์ ชุมชน วิสาหกิจชุมชน นำเอาวัสดุทางการเกษตร อาทิอ้อย ปาล์ม มัน น้ำตาล มาผลิตแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้า โดยเฉพาะล่าสุดมีผลิตภัณฑ์จากโครงการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากสาหร่าย (algag biofuel plant plant) ที่จะนำมาต่อยอดเป็นเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการอย่างชัดเจนในต้นปี 2562