พาณิชย์ชงเสนอมาตรการปาล์มน้ำมัน เข้า ครม.สัปดาห์หน้า ภายหลังที่ประชุม กนป.เห็นชอบมาตรการแล้ว

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า กระทรวงพาณิชย์เตรียมจะเสนอมาตรการดูแลปาล์มน้ำมันให้กับ ครม. พิจารณา ภายหลังจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ครั้งที่ 4/2561 ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน โดยเฉพาะการเร่งรัดให้โรงไฟฟ้ารับซื้อเพื่อดูดซัยน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ปริมาณ 1.6 แสนตัน และการขับเคลื่อรการใช้ บี 7 พลัส และ บี 20 รวมไปถึงการเข้มงวดในการนำเข้าน้ำมันปาล์มจากต่างประเทศ

ทั้งนี้ เนื่องจากผลผลิตปาล์มน้ำมันในมาเลเซีย และอินโดนีเซียซัพพลายล้นตลาด ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคา CPO โดยการเร่งรัดและออกมาตรการกระตุ้นการใช้ปาล์มน้ำมัน เพื่อพยุงราคาผลปาล์มให้มีการปรับตัวสูงขึ้น โดยเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ต้องการให้ราคาผลปาล์มสูงขึ้น โดยเกษตรกรนำผลปาล์มมาจำหน่ายต้องขายได้ราคาไม่ต่ำกว่า 3 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งปัจจุบันเฉลี่ยขายอยู่ที่ 2.50-3 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับเปอร์เซ็นต์ของน้ำมันปาล์มด้วย

อย่างไรก็ดี สำหรับมาตรการผลักดันการส่งออกต้องยอมรับว่าขณะนี้แข่งขันลำบาก เนื่องจากซัพพลายในต่างประเทศมีปริมาณมาก ส่งผลให้ราคา CPO เฉลี่ยอยู่ที่ 19-20 บาทต่อกิโลกรัมสำหรับมาเลเซีย แม้เราจะมีมาตรการในการส่งเสริมการส่งออก โดยมีมาตรการในการชดเชย แต่ก็ยังลำบากมากในการแข่งขัน ปัจจุบันสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ 4 แสนตัน ขณะที่สต๊อกที่เหมาะสมจะต้องอยู่ที่ปริมาณ 2-2.5 แสนตัน ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการใช้

นายสนธิรัตน์กล่าวอีกว่า สำหรับพืชเกษตรที่มีปัญหา เช่น ยางพารา มะพร้าว สับปะรด ตนจะเร่งแก้ไขในระยะสั้น พร้อมทั้งวางมาตรการระยะกลางและระยะยาว เมื่อมีการปรับตำแหน่งผู้บริหารแล้วก็จะทำให้ผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่จะได้เดินหน้าต่อ รวมไปถึงรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ได้ดำเนินงานไปได้สะดวก ส่วนพืชเกษตรตัวอื่น เช่นมันสำปะหลัง ที่มีปัญหาเรื่องของโรคใบด่างก็อยู่ระหว่างการเร่งแก้ไข ซึ่งคาดว่าจะมีมาตรการพร้อมเสนอเข้าสู่ที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) พิจารณาต่อไป ส่วนราคาสินค้าเกษตรที่ราคาดี เช่น ข้าวขณะนี้อยู่ที่ 14,000 บาทต่อตัน สำหรับข้าวหอมมะลิ และคาดว่าจะปรับขึ้นจากผลของนโยบายรัฐที่ช่วยเหลือเกษตรกร