“สนธิรัตน์” เร่งวางยุทธศาสตร์โลจิสติกส์ รับมือช้อปออนไลน์ข้ามชาติบุกไทย หลังพบการค้าออนไลน์โตมาก

“สนธิรัตน์” เร่งวางยุทธศาสตร์โลจิสติกส์ รับมือช้อปออนไลน์ข้ามชาติบุกไทย หลังพบการค้าออนไลน์โตมาก ชี้หาก 5 ปี ปรับตัวไม่ทัน คาดกระทบการค้าไทย

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจด้านขนส่งโลจิสติกส์และคลังสินค้า กว่า 10 ราย อาทิ บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ เมนเนจเมนท์ จำกัด บริษัทไดนามิคส์ โลจิสติกส์ จำกัด บริษัท สยามเอท์เลต จำกัด บริษัท ตลาด ดอท คอม กรุ๊ป จำกัด บริษัท ชิปป๊อป จำกัด เป็นต้น ว่า ในที่ประชุมได้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกระทรวงพาณิชย์กับเอกชน เพื่อไปรวบรวมปัญหาและข้อเสนอที่จะป้องกันการเกิดปัญหาสินค้าจากทั่วโลกไหลเข้าสู่ไทย และการเข้ามามีบทบาทของธุรกิจออนไลน์ต่อการค้าประจำวัน ซึ่งหากไทยไม่ปรับตัวและจัดทำแนวทางการบริหารจัดการที่ดี เชื่อว่าภายใน 5 ปีข้างหน้า เมื่อระบบออนไลน์และบริษัทข้ามชาติเข้ามาขยายตลาดในไทยมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และรายย่อยทั้งในภาคผลิตและภาคบริการขนส่ง โดยมอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นผู้รวบรวมปัญหาและข้อเสนอ เพื่อนำสู่ที่ประชุมคณะกรรมการด้านโลจิสติกส์ ที่คาดว่าจะประชุมกลางเดือนธันวาคมนี้

“จากนี้ระบบค้าบนออนไลน์จะเข้ามามีบทบาทและแทนที่การค้าปกติ ค้าออฟไลน์มากขึ้น ห่วงเป็นสึนามิทางการค้า ซึ่งไทยจะได้รับผลกระทบมากกว่าสงครามการค้า เพราะยังหาตลาดทดแทนและชดเชยส่วนที่ประเทศหนึ่งค้าไม่ได้ก็จะซื้อจากไทยแทน หรือย้ายแหล่งผลิตมาไทย ตอนนี้จะทำอย่างไรที่ไทยจะใช้ระบบค้าออนไลน์ในการส่งออกสินค้าไปทั่วโลก และส่งเสริมให้รายย่อยเข้าสู่ระบบอีคอมเมิร์ซ เหมือนที่หลายประเทศได้เร่งทำแล้ว ทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง หรือมาเลเซีย แนวคิดต้องการวางแผนทางเรื่องอีคอมเมิร์ซและอีโลจิสติกส์ให้มียุทธศาสตร์และแผนงานที่เป็นรูปธรรม ผมต้องการผลักดันเร่งด่วนก่อนที่จะลุกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์“


นายสนธิรัตน์กล่าวว่า นอกจากนี้ ได้สั่งการให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศรื้อฟื้นการจัดประชุมความร่วมมือการค้า (เจซีซี) ซึ่งพบว่าหลายประเทศหยุดชะงักไป 5-10 ปี อาทิ ไทยกับเกาหลีใต้ หรือไทยกับมาเลเซีย เพื่อสร้างประโยชน์ในการเพิ่มการค้าการลงทุนระหว่างประเทศให้มากขึ้น ซึ่งเป็นการทดแทนการส่งออกที่เจอปัญหาสงครามการค้า โดยปี 2561 ยังมั่นใจส่งออกโตได้ 8% และปีหน้ายังโตในระดับใกล้เคียงนี้