อุ้มราคายาง 6 รัฐบาล 1.8 แสนล้าน แจกเงิน-ปล่อยกู้ ยันช็อปช่วยชาติ

สินค้าเกษตร ข้าว-มัน-ยาง-อ้อยเป็นปัจจัยชี้ระดับ “กำลังซื้อ” ของเกษตรกรทั่วประเทศ

ฐานของเกษตรกรกลุ่มนี้กลายเป็น “ฐานเสียง” ใหญ่ทางการเมือง

ราคาสินค้ากลุ่มนี้ยังเป็นดัชนีที่มีนัยสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจฐานราก

5 ปีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการสับเปลี่ยนกำลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ จาก “นายพล” เพื่อนร่วมรุ่นนายกรัฐมนตรี มาสู่นักบริหารจากกระทรวงมหาดไทย

ฉากการต้อนรับม็อบและแกนนำชาวสวนยางของ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีพลเรือน เกิดขึ้นซ้ำซากทุกฤดูกาล ข้อเรียกร้องทุกครั้งคือ “อุดหนุนราคา-เยียวยา” รายได้ให้ชาวสวนยาง

แม้ว่าล่าสุด (20 พ.ย. 61) คณะรัฐมนตรีจะอนุมัติช่วยเหลือทางตรงให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง 999,065 ราย และคนกรีดยาง 304,266 ราย ให้ความช่วยเหลือไร่ละ 1,800 บาท รายละไม่เกิน 15 ไร่ โดยช่วยเจ้าของสวนยาง จำนวน 9.99 แสนราย ไร่ละ 1,100 บาท และคนกรีดยาง 3.04 แสนราย ไร่ละ 700 บาท ใช้งบประมาณรวม 18,604 ล้านบาท มาตรการนี้จะทำให้ชาวสวนยางกว่า 1.3 ล้านราย ได้รับอานิสงส์ อีกรอบ

นอกจากนี้ยังมีมาตรการที่เคยดำเนินการแล้วไม่ได้ผล กลับมาใช้อีกครั้ง คือการสั่งการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ 8 หมื่นแห่ง ทำถนนลาดยางผสมซีเมนต์ อย่างน้อยหมู่บ้านและตำบลละ 1 กิโลเมตร ซึ่งจะต้องใช้น้ำยางสด 1.44 ล้านตัน หรือคิดเป็นน้ำยางข้น 7.2 แสนตัน ใช้งบประมาณ 49,700 ล้านบาท

มาตรการขายผ้าเอาหน้ารอดที่ต้องแนบท้ายข้อเสนอทุกครั้ง คือ “การแปรรูป” ในการนี้ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์สำรวจรวบรวมสมาชิกเกษตรกรสวนยาง ตั้งกลุ่มแปรรูปเพื่อการส่งออก ด้วยการคัดเลือกสหกรณ์ในพื้นที่ที่สนใจเข้ามาดำเนินโครงการโดยเร็ว และกรมเร่งหางบฯสนับสนุนยาง-ยังเป็นสินค้าที่กระทรวงการคลังรับไว้ในโครงการ “ประชารัฐ-ประชานิยม”ช่วงโค้งสุดท้ายของปี ก่อนเข้าสู่ฤดูการเลือกตั้ง ฝังไว้ในโครงการ “ช็อปช่วยชาติเวอร์ชั่น 2” ด้วยการให้ “ยางรถยนต์” เป็น 1 ใน 3 สินค้าที่นำมาลดหย่อนภาษีได้ในวงเงินไม่เกิน 15,000 บาท

ขณะที่มาตรการแก้ปัญหาระยะยาวที่เคยประกาศลดพื้นที่ปลูก 8 ล้านไร่ ในปีนี้สั่งการให้วางแผนลดพื้นที่ปลูก 4 ล้านไร่

ในยุครัฐบาล คสช. รัฐบาลจ่ายงบประมาณเพื่ออุ้มชาวสวนยางมาแล้ว 75,000 ล้านบาท แต่ “ผลงาน” ของการใช้เงินงบประมาณตั้งแต่ปี 2557 บางโครงการยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ-เบิกเงินยังไม่ครบตามที่อนุมัติ 8 โครงการ อาทิ

1.โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อใช้ในการรวบรวมยาง วงเงิน 10,000 ล้านบาท ระยะเวลาจ่ายเงินกู้ถึงปลายปี 2562 มีสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรยื่นกู้ 510 แห่ง ได้รับอนุมัติ 371 แห่ง เบิกเงินกู้เพียง 8,503 ล้านบาท

2.โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรเพื่อแปรรูปยางพารา วงเงิน 5,000 ล้านบาท ระยะเวลาถึงปี 2567 เกษตรกรเข้าร่วม 290 แห่ง

3.โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการกิจการยาง (น้ำยางข้น) วงเงิน 10,000 ล้านบาท ระยะเวลาถึงเดือน เม.ย. 2562 มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ 33 บริษัท 53 โรงงาน

4.โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท ระยะเวลาถึงปี 2562 มีผู้ประกอบการเข้าร่วม 15 บริษัท

5.โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง วงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท มีผู้ประกอบการเข้าร่วม 20 ราย

6.ขยายเวลาชำระหนี้ โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายางของ กยท. ปัจจุบันเหลือสต๊อกยาง 104,550.40 ตัน

7.โครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเสริม ระยะเวลาถึงเดือน พ.ย. 2562 วงเงิน 15,000 ล้านบาท เกษตรกรเบิกเงินกู้แล้ว 136,475 ครัวเรือน

8.โครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานรัฐ ในปี 2561 ใช้น้ำยางข้น 9,952 ตัน ยางแห้ง 785 ตัน และ กยท.รับซื้อน้ำยางสด 3,952 ตัน นำไปแปรรูปเป็นน้ำยางข้นเพื่อจำหน่ายให้หน่วยงานรัฐ

มาตรการใหม่ที่มีการสนธิกำลังทั้งกระทรวงเกษตรฯ, กระทรวงการคลัง และภาคเอกชนที่จำหน่ายยางและผลิตภัณฑ์ยางให้จัดโปรโมชั่นช่วงเทศกาลปีใหม่เพื่อเพิ่มการบริโภค รัฐบาลคาดหวังไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แห่งวาระการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ครั้งล่าสุดว่า…

“ภาครัฐจะแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ และเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในหน่วยงานของรัฐ ซึ่งคาดว่าจะทำให้ราคายางมีทิศทางแนวโน้มที่สูงขึ้น”

ตั้งแต่รัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร จนถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (2542-2561) มีการจ่ายเงินงบประมาณเพื่ออุ้มราคายางมาแล้วกว่า 1.8 แสนล้านบาท

อีกไม่ถึง 100 วันจะมีการเลือกตั้ง หากราคาสินค้าเกษตรและมาตรการอุ้ม-อุดหนุน ข้าว-มัน-ยาง-อ้อย ยังไม่กระเตื้องเป็นรูปธรรม ย่อมส่งผลต่อคะแนนการเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!