SCG-CPF วืดขอ BOI หุ่นยนต์ ยื่นซ้ำผิดประเภท-แนะดูกิจการอื่นแทน

ขอรับส่งเสริมลงทุนหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติของเครือข่ายศูนย์หุ่นยนต์ CoRE ไม่คืบหน้า หลัง BOI พบ SCG-CPF ยื่นคำขอประเภทกิจการที่ยกออกจากบัญชีส่งเสริมการลงทุนไปแล้วหรือขอรับส่งเสริมซ้ำ พร้อมแนะนำให้กลับไปทำมาใหม่

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” หลังจากนักลงทุนจำนวน 8 รายได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (demandside) ไปเมื่อปี 2560 และมีการทยอยยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนเข้ามาว่า BOI พิจารณาคำขอแล้วพบมีคำขอจากบางบริษัทไม่สามารถขอรับส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติได้ เนื่องจากผิดเงื่อนไขการส่งเสริมภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ แต่ได้ให้ความเห็นไปให้แต่ละบริษัทกลับไปดำเนินการปรับปรุงคำขอเพื่อยื่นเสนอเข้ามายัง BOI ใหม่

โดยคำขอที่ผิดเงื่อนไขตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อาทิ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG ที่เป็นกลุ่มธุรกิจปูนซีเมนต์นั้นทาง BOI ได้นำธุรกิจปูนซีเมนต์ออกจากประเภทกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว แต่หาก SCG ต้องการขอรับส่งเสริมการลงทุนในกิจการหุ่นยนต์จะต้องยื่นคำขอภายใต้มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ในส่วนของประเภทกิจการศูนย์กระจายสินค้าที่ดำเนินการโดยบริษัทในเครือมายื่นขอส่งเสริมลงทุนด้านหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติในคลังสินค้าได้

ด้านคำขอของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ก็ไม่เข้าเงื่อนไขขอรับการส่งเสริมในมาตรการนี้เช่นกัน เนื่องจากเคยยื่นขอตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพทางด้านประหยัดพลังงานไปก่อนหน้านี้แล้ว “CPF จึงไม่สามารถขอใช้มาตรการส่งเสริมซ้ำได้อีก” เพราะมาตรการส่งเสริมการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตจะขอรับส่งเสริมใน 3 เรื่อง คือ 1) การลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 2) การลงทุนเพื่อประหยัดพลังงานด้วยการใช้พลังงานทดแทนและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ 3) การลงทุนการวิจัยพัฒนาและการออกแบบทางวิศวกรรมเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต

ส่วนบริษัทอื่นที่เหลืออย่างบริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ ก็เข้าข่ายเป็นกิจการค้าปลีกที่ BOI ไม่ให้การส่งเสริมประเภทกิจการนี้แล้ว สำหรับคำขอของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)-บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)-บริษัท สุพรีม โพรดักส์-บริษัท เควี อีเลคทรอนิคส์ และบริษัท ยาวาต้า(ประเทศไทย) นั้น “กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าเข้าเงื่อนไขหรือไม่”

ทั้งนี้ 8 บริษัทอยู่ในเครือข่าย Center of Robotic Excellence (CoRE) หน่วยงานหลักในการพัฒนาบุคลากรและยกระดับแรงงานให้มีทักษะสูงขึ้น ช่วยยกระดับเทคโนโลยีและประสิทธิภาพการผลิตในภาคอุตสาหกรรมจากการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และทั้ง 8 รายยังเป็นกลุ่มผู้ใช้ (demand side) พร้อมที่จะลงทุนในมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติประกอบด้วย

1) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) 2) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF  3) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 4) บริษัทดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA 5) บริษัท โฮมโปรดักส์ เซ็นเตอร์ 6) บริษัท สุพรีม โพรดักส์ 7) บริษัท เควี อีเลคทรอนิคส์ และ 8) บริษัท ยาวาต้า (ประเทศไทย)