“พาณิชย์”เข้มงวดส่งทีมลงพื้นที่ตรวจสอบ11ผู้นำเข้ามะพร้าวตามกรอบอาฟต้า

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฯ ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบบริษัทที่ขออนุญาตนำเข้ามะพร้าวภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน หรืออาฟต้า(AFTA) โดยมีกำหนดตรวจสอบภายในสิ้นปีนี้จำนวน 11 ราย และได้เริ่มตรวจสอบไปแล้ว 7 บริษัท ในจังหวัดราชบุรี กรุงเทพฯ นนทบุรี และปทุมธานี และมีกำหนดจะตรวจสอบอีก 4 บริษัทในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และกระบี่ภายในเดือนธ.ค.2561 นี้

ทั้งนี้ ผลจากการตรวจสอบพบว่า โรงงานในพื้นที่จังหวัดราชบุรี กรุงเทพฯ และปทุมธานี มี 2 ใน 4 บริษัท มีโรงงานพร้อมเครื่องจักรผลิตกะทิ และมะพร้าวเกร็ดอบแห้งตามลำดับ แต่ในช่วงเวลานี้ยังไม่มีการผลิต เนื่องจากรอคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ส่วนโรงงานย่านจอมทอง แจ้งว่าได้เลิกกิจการไปแล้ว ส่วนโรงงานแถวคลอง 11 ได้ย้ายเครื่องจักรไปผลิตในอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ซึ่งกรมฯ จะประสานกรมโรงงานให้ช่วยตรวจสอบสถานะใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) อีกครั้งว่าได้ปฏิบัติถูกต้องหรือไม่

“การดำเนินการตรวจสอบโรงงานที่ขออนุญาตนำเข้ามะพร้าวภายใต้ AFTA ดังกล่าว เป็นการปฏิบัติตามนโยบายของ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้สั่งการให้กรมฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบบริษัทที่ขอนำเข้ามะพร้าว โดยให้ไปดูว่ามีการนำเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมจริงหรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้นำเข้ามา แล้วส่งไปขายต่อหรือเอาไปทำอย่างอื่นที่ไม่ตรงตามที่ได้ขออนุญาตนำเข้า เพราะจะกระทบต่อราคามะพร้าวที่เกษตรกรขายได้ ซึ่งกรมฯ ยืนยันว่าหากผลการตรวจสอบพบว่ามีการกระทำผิด ก็จะดำเนินการตามกฎหมายขั้นเด็ดขาด”นายอดุลย์กล่าว

นายอดุลย์ กล่าวว่า ส่วนการดูแลการลักลอบนำเข้า กรมฯ อยู่ระหว่างการออกประกาศกระทรวงพาณิชย์กำหนดให้มะพร้าวเป็นสินค้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. … โดยจะกำหนดให้นำเข้ามะพร้าวได้เพียง 2 ด่าน คือ ท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบังเท่านั้น และยังได้ออกประกาศกรมการค้าต่างประเทศ เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอและการออกหนังสือรับรองแสดงการได้รับสิทธิการยกเว้นภาษีทั้งหมดหรือบางส่วน สำหรับเมล็ดถั่วเหลือง มะพร้าว เนื้อมะพร้าวแห้ง และน้ำมันมะพร้าว ที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรตามความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 เพื่อบริหารจัดการการนำเข้ามะพร้าวไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมภายในประเทศด้วย

โดยประกาศดังกล่าวฯ ได้เพิ่มเงื่อนไขการออกหนังสือรับรองแสดงการได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีทั้งหมดหรือบางส่วนสินค้ามะพร้าวทั้งกะลา มะพร้าวอ่อน และมะพร้าวฝอย ต้องได้รับอนุญาตจากคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสินค้ามะพร้าว ที่ตั้งขึ้นภายใต้คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชก่อน และกำหนดให้ผู้ได้รับหนังสือรับรองต้องให้คำรับรองว่าจะไม่นำมะพร้าวนำเข้าไปจำหน่าย จ่าย โอน ให้นิติบุคคลหรือบุคคลทั่วไปแปรสภาพโดยการกะเทาะภายนอกโรงงานของตนเอง และแก้ไขบทลงโทษ โดยให้พักหรือเพิกถอนการขึ้นทะเบียน ซึ่งหากเป็นการเพิกถอนการขึ้นทะเบียนผู้นำเข้า จะไม่สามารถขอหนังสือรับรองได้จากเดิม 2 ปี เป็น 5 ปี

ก่อนหน้านี้ กรมฯ ได้ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้ามะพร้าว แจ้งข้อมูลปริมาณการใช้มะพร้าวผล การกะเทาะเปลือก และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตในกิจการของตนเองประกอบการพิจารณาลงพื้นที่ตรวจสอบ โดยมีผู้ประกอบการ 9 ราย ไม่แจ้งข้อมูล และ 2 ราย แจ้งข้อมูลไม่ครบถ้วน จากทั้งหมด 32 ราย และกรมฯ ได้นำร่องตรวจสอบผู้ประกอบการในส่วนที่ไม่แจ้งข้อมูลและแจ้งข้อมูลไม่ครบก่อน

 


ที่มา มติชนออนไลน์