ครม.ไฟเขียว ปตท.สผ. รับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแหล่งบงกช-เอราวัณ ฟุ้ง 10 ปี รัฐฟันรายได้ 6.5 แสนล้านบาท

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (หนองคาย บึงกาฬ เลย หนองบัวลำภูและอุดรธานี) เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย จังหวัดหนองคาย แถลงว่า ครม.สัญจรมีมติอนุมัติให้บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท เอ็มพี จี 2 (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิ์เป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 (แปลงเอราวัณ) และ บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/61 (แปลงบงกช)

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน แถลงว่า จากการเปิดประมูลสิทธิแหล่งปิโตรเลียมแปลงเอราวัณและบงกช มีผู้ยื่นคำขอเข้าประมูล 2 ราย ได้แก่ บริษัท ปตท.สผ. และ บริษัท Chevron Thailand Holding Ltd โดยผลการประมูลบริษัท ปตท.สผ. เป็นผู้ชนะการประมูลรับสิทธิรับสัญญาแบ่งปันผลผลิตทั้ง 2 แปลง ระยะสัญญา 20+10 ปี เพราะเสนอเงื่อนไขดีกว่า โดยยึดผลประโยชน์ที่รัฐจะได้ 4 หัวข้อหลัก

4 ประเด็นหลัก 1.ราคาก๊าซธรรมชาติตลอดอายุสัญญาตามสูตรราคาที่กำหนดในเอกสารเชิญชวน โดยปตท.สผ.เสนอแปลงเอราวัณและบงกช 116 บาทต่อล้านบีทียู 2.ส่วนแบ่งกำไรของผู้รับสัญญา แปลงเอราวัณ แบ่งกำไรให้รัฐ 68 % เก็บไว้เอง 32 % แปลงบงกช แบ่งกำไรให้รัฐ 30 % ซึ่งถึงแม้ว่า ปตท.สผ.จะให้สามารถรับส่วนแบ่งกำไรได้ตามกฎหมาย 50 % ก็ตาม 3.โบนัสและผลประโยชน์พิเศษ และ 4.สัดส่วนการจ้างพนักงานไทย ปีแรก 98 % และ 99 % เป็นคนไทยทั้งหมด

นายศิริกล่าวว่า จากเงื่อนไขดังกล่าวทำให้ราคาขายก๊าซต่ำกว่าราคาที่ซื้อในปัจจุบันลงมาก ส่งผลให้ดีให้ในปี 65 จะซื้อก๊าซถูกลงในการผลิตไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม และก๊าซเอ็นจีวี ราคาถูกลง หรือประหยัดลงในอัตรา 550,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 10 ปี หรือ ประหยัดลง 55,000 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ยังทำให้รัฐเพิ่มรายได้เพิ่มขึ้น 1 แสนล้านบาทในระยะ 10 ปีแรก เช่น จากค่าภาคหลวง รวมแล้วรัฐได้รับประโยชน์ 650,000 ล้านบาทในระยะ 10 ปีแรกของสัญญา หลังจากนี้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะเจรจาและทำสัญญากับ ปตท.สผ.โดยเร็ว คาดว่าจะลงนามได้กุมภาพันธ์ 2562 โดยเริ่มผลิตในปี 2565 เป็นต้นไป

“ทำให้ลดค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าทั้งในส่วนของการลดค่าไฟให้กับประชาชน โรงงานอุตสาหกรรมและก๊าซเอ็นจีวีได้ หน่วยละ 29 สตางค์ หรือ เฉลี่ยทุกราย 17 สตางค์ต่อหน่วย จึงมั่นใจการประมูลครั้งนี้เป็นไปด้วยความโปร่งใสและ ค่าไฟฟ้า ค่าเชื้อเพลิงจะลดลง”

 

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat
.
หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!