สทนช.ชงโปรเจกต์จัดการน้ำอีสานตอนบน 1 แก้น้ำท่วมแล้งแม่น้ำโขง-กรมชลฯผุดอีก 2 โครงการสร้างถนนยางพารา

สทนช.เตรียมเสนอแผนบริหารจัดการน้ำพื้นที่อีสานตอนบน 1 ประกอบด้วยจังหวัดบึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี พร้อมเร่งรัดเดินหน้าโครงการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ หวังแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง จ.บึงกาฬและพื้นที่ได้รับผลกระทบบริเวณริมแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า การลงพื้นที่ของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะ ในการเดินทางไปตรวจราชการ จ.บึงกาฬ และ จ.หนองคาย และประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 9/2561 ระหว่างวันที่ 12-13 ธันวาคม 2561 สทนช. ได้เตรียมแผนงานเพื่อนำเสนอในการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ด้านแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและการแก้ไขปัญหาอุทกภัย จำนวน 3 โครงการ ได้แก่

1. โครงการศึกษาการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำห้วยบางบาด จ.บึงกาฬ โดยกรมชลประทานดำเนินการศึกษาในปีงบประมาณ 2562 หาแนวทางที่ความเหมาะสมทางวิศวกรรมและด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีเป้าหมายเพืีอเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในลำห้วยบางบาดให้ไหลออกสู่แม่น้ำโขงได้อย่างรวดเร็ว

2.โครงการศึกษารายละเอียดแหล่งน้ำในพื้นที่ จ.บึงกาฬ ซึ่ง สทนช. จะเป็นผู้ดำเนินการศึกษาพื้นที่แหล่งน้ำที่อยู่นอกเขตชลประทานและนำมาวิเคราะห์รายละเอียดในภาพรวมต่อไป

และ 3.โครงการปรับปรุงระบบระบายน้ำและปรับปรุง ภูมิทัศน์ห้วยหมากแข้ง จ.อุดรธานี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของลำห้วยหมากแข้ง รองรับปริมาณน้ำฝนจากพื้นที่ภายในเขตเทศบาลนครอุดรธานี แก้ไขปัญหาน้ำเสียภายในลำห้วยหมากแข้งให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น รวมทั้งปรับปรุง ภูมิทัศน์ลำห้วยหมากแข้งให้มีทัศนียภาพที่ดียิ่งขึ้น

พื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1เป็นพื้นที่ที่มักประสบปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งเป็นประจำ โดยเฉพาะพื้นที่ จ.บึงกาฬ ที่มีลำห้วยบางบาด เป็นลำห้วยธรรมชาติในลุ่มน้ำย่อยแม่น้ำโขง ในช่วงฤดูน้ำหลาก ระดับน้ำในแม่น้ำโขงสูงกว่าระดับน้ำในลำห้วย ทำให้น้ำในแม่น้ำโขงไหลย้อนเข้ามาในลำห้วย ส่งผลให้ระดับน้ำในลำห้วยเพิ่มสูงขึ้นตามระดับน้ำหลากในแม่น้ำโขง และระดับน้ำในหนองน้ำต่างๆ จึงมีระดับน้ำสูงเชื่อมต่อกันเป็นผืนเดียว

โดย สทนช. ได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์สภาพปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่อย่างเป็นระบบ (Area Based) พร้อมเสนอกรอบแนวทางในการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อป้องกันอุทกภัยและช่วยเหลือภัยแล้งในพื้นที่ที่อยู่ริมแม่น้ำโขง โดยมีแนวคิดที่จะดำเนินการพัฒนาแก้มลิงในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพในการเก็บกักน้ำให้มากขึ้น พร้อมก่อสร้างประตูระบายน้ำปิดกั้นลำน้ำที่ไหลลงแม่น้ำโขงเพื่อปิดกั้นมิให้แม่น้ำโขงหนุนย้อนเข้าตามลำน้ำที่อยู่ริมแม่น้ำโขงเข้าท่วมพื้นที่ตามแนวลำน้ำในฤดูน้ำหลาก และเมื่อถึงช่วงปลายฤดูฝนประตูระบายน้ำจะปิดกั้นมิให้น้ำในลำน้ำไหลลงแม่น้ำโขงไปหมด ทำให้มีน้ำเก็บกักในลำน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้

เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายโครงการโดยครม.ได้อนุมัติวงเงิน 1,800 ล้านบาท ในการประชุม ครม.สัญจร ครั้งที่ 7/2561 จ.เพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา เพื่อดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ ประกอบด้วย โครงการประตูระบายน้ำห้วยกำแพง จ.บึงกาฬ ในการดำเนินการก่อสร้างประตูและระบบระบายน้ำ รวมทั้งพัฒนาและปรับปรุงระบบชลประทาน เพื่อบริหารจัดการด้านการระบายน้ำและบรรเทาภัยน้ำท่วมในบริเวณพื้นที่ศูนย์ราชการและตัวเมืองบึงกาฬ มีพื้นที่รับประโยชน์รวม 10,670 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 3,000 ครัวเรือน และมีปริมาณน้ำสำรองเพื่อการอุปโภค-บริโภคแก่พื้นที่ชุมชนเมืองบึงกาฬได้ตลอดทั้งปี โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (พ.ศ.2563-2565)

ทั้งนี้กรมชลประทานเตรียมขอตั้งงบประมาณในปี 2563 เพื่อดำเนินงานแล้ว นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่ต้องเร่งรัดดำเนินการ คือ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำหนองเบ็น เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยของจ.บึงกาฬ โดยการขุดลอกเพื่อเพิ่มปริมาณเก็บกักน้ำให้มีปริมาณไม่น้อยกว่า 3.60 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ก่อสร้างประตูควบคุมการระบายน้ำ จำนวน 1 แห่ง และจัดทำคันกั้นแนวเขตที่ดินสาธารณะหนองเบ็น เพื่อป้องกัน การบุกรุก พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว

ปัจจุบันหน่วยงานที่รับผิดชอบกำลังเร่งดำเนินการเตรียมความพร้อมเมื่อแล้วเสร็จ สทนช. จะดำเนินการเร่งรัดการขอตั้งงบประมาณในแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อดำเนินการโครงการฯ ต่อไป

ทั้งนี้ ในส่วนของกรมชลประทานได้จัดแสดงนิทรรศการโครงการส่งเสริมการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ โครงการก่อสร้างถนนภายในโครงการชลประทานบึงกาฬ โครงการถนนภายในบริเวณหัวงานประตูระบายน้ำห้วยคาด และการส่งเสริมและสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากยางพารา พร้อมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับการทำถนนลูกรังผสมยางพารา จากสำนักงานวิจัยและพัฒนา กรมชลประทาน

 

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat
.
หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!