เจรจาเอฟทีเอไทย–ตุรกี คืบหน้า เล็งแลกเปลี่ยนข้อเสนอเปิดตลาดต้นปี62

แฟ้มภาพ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี(เอฟทีเอ)ระหว่างไทย–ตุรกี รอบที่ 4 ทั้งสองฝ่ายพยายามลดความแตกต่างและหาท่าทีร่วมกันให้ได้มากที่สุดในการจัดทำข้อบท 5 เรื่อง ได้แก่ 1.ข้อบทว่าด้วยการค้าสินค้า 2. ข้อบทกฎถิ่นกำเนิดสินค้า ที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบการคำนวณและสะสมถิ่นกำเนิดสินค้า 3. ข้อบทด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อาทิ ขอบเขตการใช้มาตรการและการประเมินความเสี่ยง

นางอรมน กล่าวต่อว่า 4. ข้อบทด้านมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน และมาตรการปกป้องทางการค้า และ 5. ประเด็นด้านกฎหมาย เช่น กลไกการหารือสองฝ่ายเพื่อกำกับดูแลการปฏิบัติตามพันธกรณีเมื่อความตกลงเอฟทีเอมีผลใช้บังคับ และกลไกการระงับข้อพิพาททางการค้า เป็นต้น โดยในส่วนข้อบทที่ยังมีความเห็นต่างกันให้พยายามหาทางออกในการประชุมครั้งต่อไป ที่ตุรกี จะเป็นเจ้าภาพในเดือนเมษายน 2562 รวมทั้งตั้งเป้าปิดรอบการเจรจาภายในปี 2563 นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังสามารถตกลงรูปแบบการลดเลิกภาษีศุลกากรที่จะเป็นพื้นฐานในการแลกเปลี่ยนข้อเสนอการเปิดตลาดในต้นปี 2562

นางอรมน กล่าวว่า ตุรกีถือเป็นตลาดใหญ่และตลาดใหม่ของไทย มีประชากรกว่า 80 ล้านคน ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญ อยู่ตรงกลางระหว่างตลาดยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ โดยปี 2560 ตุรกีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 36 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ 4 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 1,517.39 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 10.4% โดยเป็นการส่งออกจากไทยไปตุรกีมูลค่า 1,266.46 ล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้าจากตุรกีมูลค่า 250.94 ล้านเหรียญสหรัฐ

นางอรมน กล่าวว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2561 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 1,233.14 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปตุรกี 963.18 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากตุรกี 269.96 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับสินค้าศักยภาพของไทยที่ส่งออกไปยังตุรกีในรอบปีที่ผ่านมา เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ยางพารา เส้นใยประดิษฐ์ และผลิตภัณฑ์ยาง ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูปเครื่องประดับอัญมณี เคมีภัณฑ์ ลวดและสายเคเบิล เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น

 

ที่มา มติชนออนไลน์