เลื่อนเบร็กซิตป่วนส่งออกไทย พาณิชย์จับตาใกล้ชิด รัฐพร้อมเจรจาโควตา’ภาษีไก่’

แฟ้มภาพประกอบข่าว
อังกฤษเลื่อนโหวต Brexit “สนธิรัตน์” สั่งจับตาใกล้ชิด หวั่นกระทบส่งออก เบื้องต้นยังคงเป้าปี”62 โต 8% ด้านกรมเจรจาฯเตรียมวางกรอบเจรจาสิทธิ์โควตาภาษีการค้าอียู ทั้งรายการ “ไก่หมักเกลือ-ไก่/เป็ดแปรรูป” ต้องไม่กระทบกับโควตาภาษีเดิมของไทย ฟากเอกชน “สรท-กกร.” ห่วง Brexit กระทบบรรยากาศการค้าโลก

แม้ว่า นางเทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ จะตัดสินใจเลื่อนการลงมติ ร่างข้อตกลงการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ในสภาผู้แทนราษฎร จากที่กำหนดไว้ในวันที่ 29 มี.ค. 2562 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด ส่งผลให้เกิดความวุ่นวายถึงความไม่แน่นอนในอนาคตของ Brexit ที่เกิดขึ้นทั้งในอังกฤษและประเทศคู่ค้า ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยที่ยังคงมีความกังวล

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ-กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ติดตามเรื่องของ Brexit อย่างใกล้ชิด เนื่องจากกำลังจะเข้าสู่ช่วงการเจรจา ซึ่งขณะนี้มีการตั้งคณะทำงานของภาคเอกชนทั้งสองประเทศ เพื่อติดตามและรายงานสถานการณ์ โดยมูลค่าการส่งออกหลักในสหภาพยุโรปยังคงอยู่ที่เยอรมนี อังกฤษ และฝรั่งเศส แต่ยังเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะยังไม่มีผลต่อการส่งออกไทย แต่ต้องติดตามเศรษฐกิจภายใน-อัตราแลกเปลี่ยนว่า “จะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง” อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงพาณิชย์มั่นใจว่า เป้าหมายการส่งออกในปี 2562 ยังคงขยายตัว 8% ตามที่วางไว้

จับตาไก่หมักเกลือ/แปรรูป

ด้าน นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า Brexit จะส่งผลให้สหภาพยุโรปต้องมีการปรับแก้ไขตารางข้อผูกพันภาษี-โควตาภาษี ที่ทำไว้กับสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ขณะที่ไทยอยู่ในฐานะผู้ส่งออกสินค้าหลักไปสหภาพยุโรปในหลายรายการ ดังนั้น ทางกรมได้จัดเตรียมข้อมูลเพื่อเตรียมในการเจรจา “ซึ่งไม่ใช่เฉพาะตัวของสหภาพยุโรป แต่รวมไปถึงของสหราชอาณาจักรด้วย” และตามที่สมาชิก WTO ได้แถลงการร่วมไว้ว่า การปรับแก้ใด ๆ ของสหภาพยุโรปจะต้องไม่ทำให้สมาชิกสูญเสียสิทธิ์ที่เคยได้ โดยขณะนี้ได้เริ่มมีการหารือกับสหภาพยุโรปแล้วที่เจนีวา

สำหรับสินค้าที่มีความผูกพันภายใต้ WTO ด้านโควตาภาษีในการส่งออกไปสหภาพยุโรปของประเทศไทย เช่น ไก่หมักเกลือ, ไก่แปรรูป, เป็ดแปรรูป ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับสหภาพยุโรปกรณีที่สหภาพยุโรปจะขอปรับตารางข้อผูกพันที่ทำไว้ใน WTO ในสินค้าเหล่านี้ โดยที่ผ่านมาสหภาพยุโรปให้โควตาภาษีกับประเทศไทย เช่น ไก่หมักเกลือ ไทยได้โควตาจากสหภาพยุโรป 92,610 ตัน แบ่งเป็น ภาษีในโควตา 15.4%, ภาษีนอกโควตา 130 ยูโร/ตัน, ไก่แปรรูปโควตา 160,033 ตัน แบ่งเป็น ภาษีในโควตา 8% ภาษีนอกโควตา 2,765 ยูโร/ตัน

ขณะที่สิทธิ์ภายหลัง Brexit ในการส่งออกสินค้าเข้าไปยังสหราชอาณาจักรกำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลว่า ประเทศไทยมีข้อผูกพันสินค้าที่เข้าสหราชอาณาจักรกี่รายการ เพื่อนำเข้าไปเจรจาด้านการค้า การส่งออก ภาษี โควตาของสินค้าในแต่ละรายการที่เคยส่งออกไป อย่างไรก็ดี สหราชอาณาจักรก็อยู่ระหว่างการรับรองการ Brexit “ซึ่งต้องรอความชัดเจน” แต่กรมก็ทำงานควบคู่ไปด้วย เมื่อมีความชัดเจนก็จะเดินหน้าในการคงสิทธิ์การค้าของไทยไว้

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า อังกฤษอยู่ระหว่างเจรจาข้อตกลงการออกจากสหภาพยุโรป (withdrawal agreement) และกรอบความร่วมมือกับสหภาพยุโรปในอนาคต (framework for a ดuture relationship with EU) โดยนายกอังกฤษอยู่ระหว่างเจรจาชี้แจงกรอบข้อตกลงและความร่วมมือทั้งหมดในขณะนี้ “ซึ่งยังมีหลายประเด็นที่ต้องชี้แจงให้ชัดเจน โดยเป็นสิ่งที่ยังต้องติดตาม” สำหรับข้อตกลงที่เจรจาอยู่นั้น เช่น การรักษาสิทธิพลเมือง ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านภาษี และวิธีคำนวณค่าชดเชย (divorce bill) ที่สหราชอาณาจักรต้องจ่ายให้สหภาพยุโรป เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สนค.คาดว่า Brexit จะส่งผลกระทบต่อไทยใน “วงจำกัด” แม้จะมีผลต่อความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจการค้าโลก ส่วนความสัมพันธ์ด้านการค้า-การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับอังกฤษ และสหภาพยุโรป ปัจจุบันยังเป็นไปด้วยดี และระหว่างนี้ประเทศไทยควรจะพิจารณาโอกาสการเข้าเจรจาการค้ากับอังกฤษ เพื่อรักษาโอกาสในการส่งออกสินค้า โดยสินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์, เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ, ไก่แปรรูป, ผลิตภัณฑ์ยาง “หลัง Brexit จะส่งผลต่อการส่งออกไม่มากนัก และไทยน่าจะได้ประโยชน์จากการที่สหราชอาณาจักรจะมีความยืดหยุ่นในการกำหนดนโยบายและเจรจาการค้ามากขึ้น” น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว

สภาเรือศึกษา 2 กรณี

น.ส.กัญญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า ประเด็น Brexit ยังเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด จากข้อมูลของธนาคารกลางของสหราชอาณาจักรเองก็ยังประเมินว่า หากอังกฤษยังเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปจะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ขยายตัว 3.9% แต่หากมีการ Brexit จะทำให้เศรษฐกิจติดลบได้

“Brexit จะเป็นปัจจัยที่ช่วยให้มีการส่งออกสินค้า โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอาหารมีแนวโน้มเติบโตมากที่สุด เนื่องจากตลาดยังมีความต้องการสูง ส่วนสินค้าอื่นทางภาคเอกชนอาจต้องประเมินโอกาสที่จะได้รับอีกครั้ง ทั้งยังต้องเตรียมศึกษาความพร้อมด้านการค้า การส่งออก โดยขอให้หน่วยงานภาครัฐเตรียมประเด็นกรอบเจรจา?ด้านการค้าต่าง ๆ ไว้ เมื่อมีความชัดเจนจะสามารถเดินหน้าได้ทันที” น.ส.กัญญภัคกล่าว

สำหรับผลการประเมินเรื่อง Brexit ทางสภาผู้ส่งออกได้ทำการศึกษาเบื้องต้นไว้ 2 กรณี คือ กรณีแรก “dis-orderly Brexit” จัดเป็นกรณีที่เลวร้ายที่ 1) อังกฤษกลับเข้าอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ WTO และไม่มีข้อตกลงทางการค้าฉบับใหม่เกิดขึ้นภายในปี 2022 2) อังกฤษสูญเสียความสามารถในการเข้าถึงข้อตกลงทางการค้าทุกฉบับในปัจจุบันที่สหภาพยุโรปทำกับประเทศอื่น ๆ 3) เกิดความยุ่งยากบริเวณชายแดน เนื่องจากมี customs checks

และกรณีที่สอง “disruptive Brexit” จัดเป็นกรณีที่ 1) อังกฤษกลับเข้าอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของ WTO และไม่มีข้อตกลงทางการค้าฉบับใหม่ เกิดขึ้นภายในปี 2022 2) อังกฤษยังคงสามารถเข้าถึงข้อตกลงทางการค้าทุกฉบับในปัจจุบันที่สหภาพยุโรปมีกับประเทศอื่น ๆ และ 3) มีความล่าช้าเกิดขึ้นบริเวณชายแดน เนื่องจากมีการตรวจสอบ certification ของสินค้า source : botss

ด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า กกร.คาดการณ์เศรษฐกิจปี 2562 ขยายตัว 4.0-4.3% การส่งออกอยู่ในกรอบ 5-7% โดยภาคเอกชนยังเป็นห่วงเรื่องสงครามการค้า รวมไปถึงความเสี่ยงจากกรณีของ Brexit จะกระทบต่อภาคการค้า การส่งออกของไทย

“มีความจำเป็นต้องติดตามและให้ความสำคัญ เพราะจะมีผลต่อบรรยากาศการค้าระหว่างประเทศ”

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat
.
หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!