จบภารกิจ”ศิริ”รมว.พลังงาน ปตท.สผ.”กินรวบ”ก๊าซบงกช-เอราวัณ

เป็นไปตามขั้นตอนที่วางเอาไว้ทุกประการ เมื่อ ครม.มีมติอนุมัติ (13 ธันวาคม 2561) รายชื่อผู้ชนะการประมูลในระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (production sharing contract หรือ PSC) เพื่อยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยแปลง G1/61 (แหล่งเอราวัณเดิม) กับแปลง G2/61 (แหล่งบงกชเดิม) ให้บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ (สัดส่วนลงทุนในแหล่ง 60%) กับบริษัท เอ็มพี จี2 (ประเทศไทย) (สัดส่วนลงทุนในแหล่ง 40%) เป็นผู้ชนะในแหล่ง G1/61 กับบริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ (สัดส่วนลงทุนในแหล่ง 100%) อีกเช่นกัน เป็นผู้ชนะในแหล่ง G2/62 หรือเท่ากับบริษัท ปตท.สผ. เป็นผู้ชนะประมูลทั้ง 2 แหล่ง

นับเป็นชัยชนะที่เหนือกว่า บริษัท Chevron Thailand Holdings Ltd. กับบริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซโปลเรชั่น คัมปะนี ลิมิเต็ด ในฐานะพันธมิตรร่วมกัน (สัดส่วนลงทุนในแหล่ง 74% กับ 26% ตามลำดับ) หรือการประมูลครั้งนี้จะแข่งขันกันอยู่แค่ 2 กลุ่ม ซึ่งในอดีตก็เป็นผู้บริหาร (operation) แหล่งบงกช-เอราวัณ ในระบบสัมปทานเดิมด้วยกันทั้งคู่

โดยที่ไม่มีคู่เปรียบราคาประมูลที่เป็นบุคคลที่ 3 เนื่องจากผู้เข้าร่วมประมูลรายอื่นต่างทยอย “ถอนตัว” หรือ “ไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติเบื้องต้น” กันหมด จากเงื่อนไขสำคัญที่ดูเหมือนถูก “ออกแบบ” มาให้ผู้รับสัมปทานรายเดิมมีข้อ “ได้เปรียบ” ผู้ที่จะเข้ามาใหม่ ไม่ว่าจะเป็น 1.ปริมาณผลิตก๊าซขั้นต่ำต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 10 ปี (G1/61 800 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน-G2/61 700 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน) 2.ราคาเสนอขายก๊าซธรรมชาติที่ “ไม่สูง” ไปกว่าราคาเฉลี่ยของราคาก๊าซธรรมชาติในปัจจุบัน 3.สัดส่วนการแบ่งผลกำไรให้กับรัฐต้องไม่ต่ำกว่า 50% พร้อมผลประโยชน์พิเศษ และ 4.ความจริงที่รับรู้กันดีในวงการปิโตรเลียมที่ว่า แหล่งก๊าซในอ่าวไทยมีการผลิตที่ลดลง และจะค่อย ๆ หมดไปในอีก 10 ปีข้างหน้า

ข้อเท็จจริงเหล่านี้ ทำให้ “ผู้มาใหม่” หรือผู้ที่ลงทุนอยู่แล้วในแหล่งเดิม อาทิ บริษัท Total E&P Thailand ตัดสินใจถอนตัวไม่เข้าร่วมประมูล เมื่อเปรียบเทียบระบบ PSC ใหม่ จะให้ผลประโยชน์ที่ “น้อยกว่า” ระบบสัมปทานเดิม โดยโครงสร้างหลุมก๊าซในอ่าวไทยมีลักษณะเป็น “กระเปาะ” ที่ยากแก่การขุดเจาะ ซึ่งหมายถึงจะต้องใช้เงินลงทุนมากขึ้นสำหรับผู้มาใหม่ ที่มีความชำนาญไม่เท่ากับกลุ่มเดิม ประกอบกับสัญญาระบบ PSC ให้กระจายหุ้นในแหล่งให้กับเอกชนรายอื่นได้หลังจากระยะเวลาผ่านไป 1 ปี

อย่างไรก็ตาม ชัยชนะของ ปตท.สผ.ครั้งนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงทางธุรกิจที่ว่า แหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช-เอราวัณนั้นคิดเป็นร้อยละ 75 ของกำลังการผลิตก๊าซในอ่าวไทยทั้งหมด หรือจัดเป็นแหล่งก๊าซที่ใหญ่ที่สุดในอ่าว โดยเฉพาะ “แหล่งบงกชเดิม” เพียงแหล่งเดียว คิดเป็นยอดขายก๊าซถึงร้อยละ 25 ของบริษัท ปตท.สผ. นั่นหมายถึง ความสำคัญของแหล่งก๊าซแหล่งนี้ในอ่าวไทยมีความหมายอย่างยิ่งต่อการ “อยู่รอด” ของบริษัท ปตท.สผ.

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่บริษัท ปตท.สผ. มีความ “จำเป็น” ที่จะต้องทุ่มเทเพื่อชัยชนะ ไม่ว่าจะเป็นการจับมือกับพันธมิตรรายใหม่อย่างบริษัท เอ็มพี จี2 (ประเทศไทย) ซึ่งก็คือบริษัทลูกของ “มูบาดาลา” ยักษ์ใหญ่ทางด้านปิโตรเลียม เพื่อมาสู้กับกลุ่มเชฟรอน ในแปลง G1/61 แหล่งเอราวัณ ซึ่งเชฟรอนเป็นผู้ operate ในระบบสัมปทานเดิม โดยสะท้อนออกมาจาก “ข้อเสนอ” ราคาก๊าซธรรมชาติตามเงื่อนไขที่กำหนดให้ผู้ประมูลต้องเสนอราคาที่ “ไม่สูงไปกว่าราคาเฉลี่ย” กล่าวคือ165 บาท/ล้าน BTU ในแปลงเอราวัณเดิม กับ 214.26 บาท/ล้าน BTU ในแปลงบงกชเดิม โดย ปตท.สผ.เสนอค่าคงที่ราคาก๊าซทั้ง 2 แปลงเท่ากัน ที่ราคา 116 บาท/ล้าน BTU หรือยอมลดลง (เฉือนราคาก๊าซที่ขายอยู่ในปัจจุบัน) ถึง 49 บาท/ล้าน BTU และ 98.26 บาท/ล้าน BTU ตามลำดับ

กลายเป็นว่า ปตท.สผ.มี “ส่วนลด” ค่าใช้จ่ายราคาก๊าซธรรมชาติให้กับประเทศชาติไปถึง 550,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 10 ปี ตามเงื่อนไขการผลิตก๊าซขั้นต่ำ (ซึ่งเอาเข้าจริงจะต้องมีการเค้นก๊าซจากทั้ง 2 แหล่งผลิตเกินกว่าเงื่อนไขขั้นต่ำอยู่แล้ว) หรือปีละ 55,000 ล้านบาท ส่งผลให้กระทรวงพลังงานสามารถ “เคลม” ส่วนลดดังกล่าว คิดคำนวณกลับมาเป็นการประหยัดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 29 สตางค์/หน่วย เป็นระยะเวลา 10 ปี (ปัจจุบันใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าร้อยละ 58 ของก๊าซธรรมชาติทั้งหมด จนประมาณการว่าหากเฉลี่ยส่วนลดให้ผู้ใช้ก๊าซทุกรายตามสัดส่วนการใช้ก๊าซ จะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าลงได้ประมาณ 17 สตางค์/หน่วย)

เท่ากับ “จบภารกิจ” ของ ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตามที่ได้รับมอบหมายก่อนการเลือกตั้งใหญ่ของประเทศจะมาถึง

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat
.
หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!