จิสด้ารุกใช้ AI บริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล พร้อมดึงทุกหน่วยร่วมบูรณาการ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2561 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “Marine GI Intelligence: Insightful Journey กับมิติใหม่ เพื่อบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรทางทะเล และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” ขึ้น

ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการจิสด้า กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยและภูมิภาคต่างๆ
ทั่วโลก ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ควบคู่กับการรักษาฐานทรัพยากรและคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยพื้นที่พัฒนาทางเศรษฐกิจใกล้พื้นที่ชายฝั่ง และการท่องเที่ยวชายฝั่งนับเป็นรายได้หลักด้านหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจากการขยายตัวมากขึ้นเหล่านี้ ทำให้เกิดการพัฒนาทั้งด้านคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ อุตสาหกรรม การท่องเที่ยวหรือโลจิสติกส์ในพื้นที่ดังกล่าวที่จะเกิดตามขึ้นมาอย่างมากมาย

จิสด้าได้ดำเนินโครงการติดตาม เตือนภัยมลพิษ และภัยพิบัติทางทะเล การติดตั้งระบบตรวจวัดคลื่นและกระแสน้ำในทะเลด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง หรือเรียกว่า “ระบบเรดาร์ชายฝั่ง” มาตั้งแต่ ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน มีการติดตั้งสถานีเรดาร์ชายฝั่งไปแล้วใน 13 จังหวัด กว่า 24 สถานี ประกอบด้วยบริเวณรอบอ่าวไทยจำนวน 22 สถานี และในพื้นที่ทะเลอันดามันที่จังหวัดกระบี่ จำนวน 2 สถานี มีวัตถุประสงค์เพื่อนำข้อมูลกระแสน้ำและคลื่นที่ได้จากระบบเรดาร์ชายฝั่ง มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการน้ำอย่างครบวงจรครอบคลุมถึงทะเลและชายฝั่ง ซึ่งการใช้ประโยชน์ข้อมูลจากระบบเรดาร์ชายฝั่งในช่วง 5-6 ปี ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นการใช้ประโยชน์ข้อมูลในด้านสมุทรศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และมลพิษชายฝั่ง โดยปีที่ผ่านมาเริ่มขยายการรับรู้สู่ชุมชนมากขึ้น ดังนั้น การจัดสัมมนาในครั้งนี้ก็เพื่อส่งเสริมและ ขับเคลื่อนการนำระบบเรดาร์ชายฝั่งไปสู่เทคโนโลยีและ นวัตกรรมภูมิสารสนเทศทางทะเลและชายฝั่งให้มีความทันสมัยมากขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือช่วยในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในด้านอื่นๆ อาทิ ด้านการท่องเที่ยว ด้านการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และด้านความมั่นคงของประเทศ

ปัจจุบัน ผู้คนหันมาให้ความสนใจกับปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มากขึ้น เราได้มีการจัดเก็บข้อมูลจากการตรวจวัดกระแสน้ำและคลื่น รวมถึงข้อมูลจากเซ็นเซอร์ตรวจวัดลมและระบบแสดงตัวตนเรืออัตโนมัติ หรือ Automatic Identification System: AIS มาอย่างต่อเนื่อง และมีความเป็น Big Data ซึ่ง ณ วันนี้ เราได้พัฒนาระบบจากฐานข้อมูลเหล่านี้ไปสู่ Machine Learning เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ คาดการณ์การเคลื่อนที่ของกระแสน้ำ วิเคราะห์พฤติกรรมของคลื่นและเรือ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางภูมิสารสนเทศในการบริหารจัดการทางทะเลอย่างชาญฉลาด หรือ Marine GI Intelligence ของประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่ เพื่อการสร้างความเชื่อมั่นทางด้านการท่องเที่ยวของทะเลและชายฝั่ง ทำให้ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์และเศรษฐกิจของประเทศ บนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ผอ.จิสด้ากล่าว