สงครามการค้าพ่นพิษ ส่งออกไทยปีหน้าเสี่ยงวืดเป้า 8%

นับจากประธานาธิบดีสหรัฐ “โดนัลด์ ทรัมป์” ขึ้นมารับตำแหน่ง สงครามการค้าก็เริ่มต้นขึ้น 22 ม.ค. 2560 เก็บภาษีสินค้าแผงโซลาร์เซลล์ และเครื่องซักผ้า และต่อมาในวันที่ 8 มี.ค. 2561 เรียกเก็บภาษีเหล็กและอะลูมิเนียม 25% และ 10% จากจีน กระทั่งสหรัฐและจีนได้เริ่มประกาศปรับขึ้นภาษีในสินค้า list 1 ที่มีมูลค่า 34,000 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ตามด้วยสินค้าใน list 2 ที่มีผลต่อการค้าระหว่างกันรวม 260,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในเดือน ก.ย. และ list 3 ซึ่งเมื่อต้นเดือนธันวาคม ทั้งสองฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงชั่วคราวที่จะเลื่อนการขึ้นภาษีจาก 10% เป็น 25% ออกไป 90 วัน เพื่อเจรจาและจะกลับมาทบทวนในช่วงเดือนมีนาคม 2562

1 ปีสงครามการค้า

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการประเมินสงครามการค้า : ผลกระทบการส่งออกไทยปี 2562 ว่า จากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน พบว่าในปี 2561 ไทยได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าจนทำให้ยอดการส่งออกหายไปกว่า 351-597 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 0.1-0.2% ส่วนปี 2562 คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกจะหายไป 1,181-4,427 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงประมาณ 0.5-1.9% ซึ่งจะทำให้การส่งออกทั้งปีขยายตัว 6.1-7.5%

คาดว่าปี 2562 ทั้ง 2 ประเทศนำเข้าสินค้าจากไทยลดลงประมาณ 0.6-2.4% สินค้าส่งออกที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ สินค้าคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทย โดยจากการปรับขึ้นภาษี 10% จะทำให้มูลค่าส่งออกลดลง 343 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่หากขึ้นภาษีเพิ่ม 25% จะทำให้มูลค่าการส่งออกหายไป 758 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาจะเป็นสินค้าเคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า และกลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้

กรณีร้ายแรงสุด ขึ้นภาษี 25%

ภาพรวมผลกระทบจากการส่งออกไทยไปยังตลาดโลกจะลดลง 0.2-0.8% และหากในปี 2562 สหรัฐและจีนปรับขึ้นภาษีมากกว่า 25% ถือเป็นกรณีที่รุนแรงที่สุด จะส่งผลกระทบการส่งออกไทยไปในตลาดโลกลดลง 0.8% หรือมูลค่า 1,796 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 57,736 ล้านบาท

สินค้าจีน-สหรัฐทะลักเข้าอาเซียน

และในอีกมุมเมื่อสหรัฐและจีนขึ้นภาษีระหว่างกัน จะส่งผล
ให้สินค้าบางรายการ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็ก พลาสติก รถยนต์ และเคมีภัณฑ์ มีการส่งออกทะลักมายังตลาดอาเซียนและประเทศไทยมากขึ้น โดยหากมีการปรับขึ้นภาษีมากกว่า 25% คาดว่าจะส่งผลให้มีสินค้าจากจีนและสหรัฐไหลเข้ามายังเวียดนาม เป็นอันดับ 1 ด้วยมูลค่าถึง 3,137 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากเวียดนามมีชายแดนติดกับจีน และยังมีความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับยุโรป และความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ด้วย รองลงก็จะทะลักมาตลาดสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย

ผลสรุปการศึกษาแนะว่า หากต้องการเพิ่มศักยภาพการค้า การส่งออก และลดการนำเข้าจากทั้ง 2 ประเทศ ผู้ส่งออกหรือผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัว โดยเฉพาะผู้ผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นผู้ประกอบการสัญชาติไทยกว่า 70% ต้องปรับเปลี่ยนและเพิ่มศักยภาพให้กับตัวเอง ทั้งมองตลาดอาเซียนมากขึ้น และเพิ่มช่องทางการผลิตให้มากขึ้น ขณะที่ภาครัฐอาจต้องเดินหน้าการเจรจาการค้ากับหลายประเทศ เพื่อหาตลาดทดแทนสหรัฐและจีน

อย่างไรก็ตาม “ศูนย์พยากรณ์ฯ” สรุปว่า ไม่ได้มีเฉพาะปัจจัยเสี่ยงเท่านั้น แต่ยังโอกาสที่ไทยจะส่งออกไปสหรัฐและจีนเพิ่มขึ้นก็มี เช่น สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ยาง และผลิตภัณฑ์ยาง พลาสติก ไม้ และอาหารแปรรูป เป็นต้น

เดือน พ.ย.พลิกติดลบ 0.95%

ด้าน นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือน พ.ย. 2561 มีมูลค่า 21,237 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 0.95% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้า
มีมูลค่า 22,415 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 14.7% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 1,178 ล้านเหรียญสหรัฐ และส่งออกรวม 11 เดือน (มกราคม-พฤศจิกายน 2561) มีมูลค่า 232,725 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 7.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้าอยู่ที่ 231,344 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 14.8% ส่งผล 11 เดือนการค้าเกินดุล 1,381 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ ถือเป็นการพลิกกลับมาติดลบอีกครั้ง หลังจากที่
เดือน ก.ย. 2561 ตัวเลขส่งออกของไทยติดลบ -5.2% ครั้งแรกในรอบ 19 เดือน และพลิกกลับมาขยายตัว 8% ในเดือน ต.ค. 2561

ส่งออกไป “สหรัฐ-จีน” หดตัวทั้งคู่

นางสาวพิมพ์ชนกกล่าวว่า สาเหตุที่การส่งออกเดือน พ.ย.หดตัวอีกครั้ง เป็นผลมาจากฐานการส่งออกที่ผ่านมาสูง และผลกระทบทางอ้อมจากข้อพิพาททางการค้าที่มีการขึ้นภาษีสินค้าระหว่างกัน ซึ่งไทยอยู่ในห่วงโซ่อุปทานทำให้มีการนำเข้าลดลง โดยพบว่าการส่งออกไปยังสหรัฐ ในเดือน พ.ย.อยู่ที่ 1,779 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2% ขณะที่ตลาดส่งออกจีนมีมูลค่า 2,594 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 8.9%

ทั้งนี้ จากรายงานการศึกษาผลกระทบสงครามการค้าต่อการส่งออกไทยของกระทรวงพาณิชย์พบว่า ภาพรวมการส่งออกสินค้าที่ไทยถูกใช้มาตรการทางการค้า เช่น โซลาร์เซลล์ เครื่องซักผ้า ไปยังสหรัฐ มูลค่าส่งออกอยู่ที่ 70.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 18.4% ขณะที่สินค้าที่ไทยเป็นห่วงโซ่อุปทานจีน เช่น ยานพาหนะและส่วนประกอบ ของใช้ในบ้าน ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าส่งออก 2,435 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 9.6%

อย่างไรก็ตาม หากในเดือนสุดท้ายที่เหลือประเทศไทยสามารถส่งออกได้ 22,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จะทำให้ทั้งปีขยายตัว 8% แต่หากส่งออกได้มีมูลค่า 21,600 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งปีขยายตัว 7.5%

พาณิชย์กัดฟันตั้งเป้าปี’62 โต 8%

ส่วนแนวโน้มการส่งออกในปี 2562 กระทรวงพาณิชย์ยังประมาณการเป้าหมายเติบโตที่ 8% อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามผลจาก “สงครามการค้า” เพราะขณะนี้มีหลายประเทศเร่งรัดเจรจาการค้าระหว่างกันมากขึ้น ด้วยการลดภาษีเพื่อสร้างตลาดใหม่ ทดแทนการส่งออกที่หายไปจากปัญหาดังกล่าว ซึ่งในส่วนของประเทศไทยกำลังเข้าสู่การเลือกรัฐ

คาดว่ารัฐบาลที่เข้ามาใหม่จะสานต่อการเจรจาการค้าในกรอบอาเซียน +6 หรือ RCEP และความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีที่สำคัญ ๆ หลายฉบับ เพื่อเป็นเครื่องมือในการผลักดันการส่งออกในปี 2562 ต่อไป

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!