สรท.แนะรัฐปั้นแพลตฟอร์ม “NTP” ยึดโมเดลสิงคโปร์

สรท.เล็งชงผลศึกษา “พาณิชย์-ดีอี” ผุด “National Trade Platform” ยึดโมเดลสิงคโปร์ หวังดันอีคอมเมิร์ซไทยเทียบชั้นอาลีบาบาในอนาคต

นางสาวกัญญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า สภาผู้ส่งออกได้ศึกษาการทำการค้า การส่งออกในรูปแบบอีคอมเมิร์ซ แพลตฟอร์มครบวงจร โดยอาศัยต้นแบบการศึกษาจากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งปัจจุบันเปิดบริการในรูปแบบ the national trade platform (NTP) ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์เป็นผู้ควบคุมและกำกับดูแลการทำการค้าและส่งออกระหว่างกันทั้งรูปแบบรัฐต่อรัฐ เอกชนกับรัฐ หรือรัฐกับเอกชน โมเดลดังกล่าวจะช่วยลดต้นทุนและขั้นตอนเอกสารต่าง ๆ ในจุดเดียว ซึ่งจะสร้างประโยชน์ให้กับภาคการค้าและการส่งออกให้สามารถเติบโตได้เร็วมากขึ้น ซึ่งทางสภาผู้ส่งออกฯเตรียมเสนอผลการศึกษาดังกล่าวให้กับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) พิจารณาดำเนินการผลักดันต่อไป

“ปัจจุบันการค้าในรูปแบบออนไลน์ไม่ใช่แต่การค้าระหว่างผู้ประกอบการกับผู้บริโภคแล้ว แต่ได้ขยายเข้าสู่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการมากขึ้น และเพื่อให้ไทยเป็นส่วนหนึ่งและตัวเลือกในการทำการค้า การส่งออกระหว่างประเทศ ประเทศไทยควรที่จะมีแพลตฟอร์มเป็นของตัวเอง นอกจากจะเป็นตัวเลือกหนึ่งในการเข้ามาทำการค้า การส่งออกของประเทศผู้นำเข้าแล้ว ยังขยายการค้า เพิ่มช่องทางออนไลน์มากขึ้น แม้ปัจจุบันจะมีรูปแบบการค้าในลักษณะออนไลน์ สามารถเลือกซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ได้ แต่ก็ไม่ได้เป็นรูปธรรมหรือครบวงจรในจุดเดียว ซึ่งผลการศึกษานี้อยู่ในขั้นตอนยื่นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร็วนี้ ๆ หากภาครัฐบาลให้ความสนใจสนับสนุน ภาคเอกชนพร้อมที่จะให้ความร่วมมือเต็มที่ เพราะเชื่อว่ารูปแบบการค้าในลักษณะนี้มีการเติบโต และหลายประเทศได้มีการพัฒนาและนำมาใช้มากขึ้น เช่น จีน อย่างอาลีบาบา เป็นต้น”

นอกจากนี้ในผลการศึกษายังพบว่า ในปีนี้ทางสิงคโปร์ได้ลงนามความร่วมมือกับฮ่องกง เพื่อพัฒนา global trade connectivity network หรือ GTCN ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มซื้อขาย โดยใช้ distributed ledger technology เข้ามาใช้ วัตถุประสงค์เพื่อลดค่าธรรมเนียมบริการทางการเงินข้ามประเทศ ทั้งยังมีความปลอดภัยและประสิทธิภาพสูงขึ้น

โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในปี 2562 ซึ่งจะทำให้รูปแบบการค้า การส่งออก เปลี่ยนไปอย่างมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการไทยต้องเรียนรู้ และเตรียมรับมือกับการค้าในรูปแบบการค้าออนไลน์ใหม่นี้ด้วย

“เมื่อเจรจา เลือกสินค้า สุดท้ายก็ต้องเจรจาโดยตรงและไม่ได้มีความต่อเนื่อง จะเข้ามาใช้งานก็เมื่อต้องการซื้อสินค้าและเจรจาภายหลังเท่านั้น เพื่อให้การค้า การส่งออกอยู่ในรูปแบบครบวงจร ทั้งการเจรจาซื้อขาย การติดต่อ การขนส่ง เอกสารต่าง ๆ ในจุดเดียว ประเทศไทยควรที่จะผลักดันให้เกิดขึ้น นอกจากจะทำให้การค้า การส่งออกขยายตัว และเปิดโอกาสให้ผู้นำเข้าเข้ามาเลือกซื้อสินค้า และช่วยลดต้นทุน ยังเป็นการเปิดโอกาสให้กับกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้เป็นอย่างดี โดยมีตลาดเป้าหมาย คือ CLMV อาเซียน ซึ่งมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีความมั่นใจ และชื่นชอบในสินค้าอย่างมาก ระบบนี้จะทำให้โอกาสการทำการค้าง่ายขึ้น เพราะรูปแบบการติดต่อสะดวก ทั้งยังมีต้นทุนลดลงด้วย”

ก่อนหน้านี้ สภาผู้ส่งออกได้นำประเด็นผลการศึกษานี้เข้าที่ประชุม คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ซึ่งต่างก็ได้ให้ความสนใจและพร้อมสนับสนุน นอกจากนี้ สภาผู้ส่งออกยังได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นไปในทิศทางที่ดี

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการดำเนินการผลักดันเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยากและใหญ่ จะผลักดันให้เกิดขึ้นต้องมีหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ดำเนินการหลัก เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล เอกสารทางราชการเป็นส่วนใหญ่ และมีระบบการเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น เรื่องความปลอดภัยในระบบข้อมูล หรือการป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ การที่สิงคโปร์ดำเนินการได้ เนื่องจากรัฐบาลเป็นผู้ควบคุม จึงดำเนินการได้ ทั้งนี้ ประเทศไทยจะให้หน่วยงานใดเป็นหลักในการผลักดัน ประเด็นนี้อาจจะต้องให้หน่วยงานภาครัฐเป็นผู้พิจารณา เนื่องจากเกี่ยวข้องในหลายหน่วยงาน แต่หากดำเนินการได้จริงจะเป็นเรื่องที่ดีมาก

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!