TU ลุยปรับพอร์ตธุรกิจใหม่ ลดช็อปรง.มุ่งบุกตลาดจีน

ราชาทูน่า TU ปรับพอร์ตธุรกิจ ตั้งเป้าพลิกยอดขายปี”62 โต 5% ทะลุ 1.4 แสนล้านหลังชะลอมา 3 ปี โฟกัสธุรกิจหลักที่ทำกำไร-เติบโตสูง เร่งสปีดธุรกิจใหม่ดัน “น้ำมันทูน่า” เพิ่มดีกรีบูมอีคอมเมิร์ซลุยตลาดจีน รุกตั้งศูนย์บ่มเพาะสตาร์ตอัพผนึก “ธรรมชาติรีเทล” ปั้นแบรนด์ซีฟู้ดหวังขึ้นแท่น “seafood expert”

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2562 บริษัทมีแผนจะปรับพอร์ตโฟลิโอธุรกิจใหม่ โดยจะให้น้ำหนักธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตและการทำกำไรสูง คือ ธุรกิจ marine ingredi-ent และธุรกิจที่มีการเติบโต และมีตลาดที่เติบโตสูง (high growth high market) เพื่อเพิ่มอัตราการทำกำไร และเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในธุรกิจหลัก ไม่เน้นการควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการในต่างประเทศ (M&A) เหมือนช่วงก่อนหน้านี้

“หากเป็นกลุ่มที่ไม่ทำกำไร ก็จะพิจารณาดาวน์ไซซ์ ยุบเลิก ซึ่งมีแนวทางชัดเจนอยู่แล้ว ล่าสุดได้ปิดโรงงานแซลมอนในสกอตแลนด์ วันนี้เราไม่ต้องการเสียเวลา เสียทรัพยากรสำหรับสิ่งที่ไม่จำเป็น แต่จะรักษาอัตราการทำกำไรเพื่อให้ทียูมีคุณภาพ และแข็งแรงมากขึ้น เนื่องจากรายได้ไม่เติบโตมา 3 ปีแล้ว โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ ถือว่าแย่สุด เกือบไม่มีกำไรจากปัญหาวัตถุดิบที่ลดลงรวดเร็ว และค่าเงินบาทแข็งค่า แต่ทิศทางไตรมาส 3 และ 4 จะดีขึ้น เพราะเป็นช่วงไฮซีซั่นของกุ้ง หากให้ประเมินภาพรวมธุรกิจปี 2561 ยากลำบากแน่นอน และเราไม่พอใจ”

ปี 2025 แตะ 8 พันล้านเหรียญ

ทียูจะวางแผนธุรกิจใหม่สำหรับปี 2025 จากเดิมกำหนดแผนปี 2020 จะดันยอดขายให้ได้ 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจากการประเมินสถานการณ์ปัจจุบันคาดว่าจะทำได้ 7,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ห่างจากเป้าหมาย 10% เนื่องจากยังไม่นับรวมรายได้ในส่วนของร้านอาหาร Red Lobster ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 750 ล้านเหรียญสหรัฐ เพราะบริษัทถือหุ้นส่วนน้อยเพียง 25% แม้ธุรกิจนี้จะเติบโต ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ขยายสาขานอกอเมริกา เช่น เปิดสาขาแห่งแรกที่เซี่ยงไฮ้ในเดือนนี้ และกำลังจะเปิดที่ฟิลิปปินส์ จากเดิมมีสาขาในมาเลเซีย ญี่ปุ่น และดูไบ

“ปี 2020 มูลค่า 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐไม่ต้องไปพูดแล้ว แต่เราบริหารธุรกิจขนาด 7 พันกว่าล้านเหรียญสหรัฐ เพราะสถานการณ์เปลี่ยนตลอดเวลา ฉะนั้น คงดูปีต่อปี ปีที่แล้วอยู่ที่ 4,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ถ้าปีนี้ไม่เติบโตก็คงอยู่ที่ตัวเลขยอดขายที่รายงานคือ 4,300 ล้านเหรียญสหรัฐ และคงโตขึ้นปีละ 5% น่าจะอยู่ที่ 4,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่อไปเป็น 4,800 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราพอใจที่ 5% แต่อัตราการเติบโตก็จะเป็นซิงเกิลดิจิตอย่างนี้ หากไม่มีการลงทุนเพิ่ม ถ้าลงเพิ่มก็โตได้อีก ซึ่งในปีหน้า M&A ไม่ได้ เป็นไพรออริตี้ ถ้าไม่ได้เจออะไรที่ดีมาก ๆ จะเน้นเพิ่มอัตราการทำกำไรกระแสเงินสด ทำให้สถานะการเงินเข้มแข็งขึ้น”

ลอนช์น้ำมันทูน่า-บูมตลาดจีน

นายธีรพงศ์มั่นใจว่า แนวโน้มยอดขายปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวเป็นบวกได้ 5% หรือมูลค่า 4,500 ล้านเหรียญสหรัฐ (144,000 ล้านบาท) จากปี 2561 ซึ่งคาดว่าจะมียอดขาย 4,300 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยช่วง 3 ไตรมาสแรกมียอดขาย 97,314 ล้านบาท (3,041 ล้านเหรียญสหรัฐ) ลดลง 1.9% จากไตรมาส 3 ของปีก่อน แต่ทิศทางธุรกิจในไตรมาส 4/2561 มีแนวโน้มดีขึ้น

เนื่องจากธุรกิจโรงงานน้ำมันทูน่าธุรกิจใหม่ที่ประเทศเยอรมนี ผ่านการตรวจสอบรับรองด้านคุณภาพเพื่อใช้เป็นส่วนผสมของนมผงทารกแล้ว จะเริ่มทำการตลาดในกลุ่มผู้ผลิตนมผงแบรนด์ใหญ่ระดับโลก เช่น เนสท์เล่, มี้ด จอห์นสัน และแบรนด์สำคัญในประเทศต่าง ๆ เช่น ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ได้ในปี 2562 เป็นปีแรก คาดว่าจะมียอดขาย 20 ล้านเหรียญสหรัฐ และเมื่อมีตลาดชัดเจนยอดขายจะเพิ่มขึ้นเป็น 100 ล้านเหรียญสหรัฐใน 3 ปี ประกอบกับทิศทางตลาดจีนซึ่งได้ไปเริ่มทำตลาดร่วมกับกลุ่มอาลีบาบามาเป็นเวลา 2 ปีแล้วเติบโตค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม ฐานตลาดจีนยังมีขนาดเล็ก เมื่อเทียบกับภาพรวมของบริษัท แต่ก็พยายามผลักดันต่อเนื่อง

“แม้จะมีสงครามการค้าทำให้เศรษฐกิจจีนแผ่วลง แต่ตลาดจีนยังเติบโตสูงกว่าตลาดอื่น โดยเฉพาะอาหารทะเลแช่เยือกแข็งมีตลาดค่อนข้างใหญ่ และมีโอกาสขยายตลาดได้อีกมาก”

นอกจากนี้จะกระจายตลาดจากเมืองหลัก คือ เซี่ยงไฮ้ ไปยังหัวเมืองต่าง ๆ ให้มากขึ้น โดยมีขยายร่วมไปกับเหอหม่า ซูเปอร์มาร์เก็ตเครืออาลีบาบา รวมถึงการหารือกับพาร์ตเนอร์ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์อื่นในจีน เช่น เทนเซ็นต์ เพื่อขยายโอกาสทางการค้าด้วย ส่วนการผลิตจะยังไม่ได้มีการลงทุนโรงงานในจีน แต่จะนำเข้าสินค้าจากแหล่งผลิตอื่น ๆ แทน

หนุนนวัตกรรม-สตาร์ตอัพ

นายธีรพงศ์กล่าวถึงแนวทางในการสร้างอัตราการทำกำไร ซึ่งเป็นโฟกัสใหม่ว่า จะต้องเพิ่มมูลค่าบายโปรดักต์ โดยส่งเสริมนวัตกรรมต่าง ๆ พัฒนาความรู้ ประสบการณ์ และเทคโนโลยีสร้างความได้เปรียบ ซึ่งช่วงต้นปี 2562 ทียูจะลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) จัดทำโครงการสเปซเอฟ เพื่อค้นหาสตาร์ตอัพด้านอาหารที่มีแนวคิดดี ๆ มาต่อยอดทางธุรกิจ

ส่วนบริษัทจะสนับสนุนพื้นที่และอุปกรณ์ ซึ่งจะให้ใช้พื้นที่ตั้ง “ศูนย์บ่มเพาะพัฒนาสตาร์ตอัพไอเดีย” หรือ Global Innovation Incubator ปีแรกจะคัดเลือกสตาร์ตอัพได้ 10 กลุ่ม และทยอยเพิ่มเป็น 30-40 รายในระยะ 3-4 ปีข้างหน้า

รุกตลาดซีฟู้ดห้างหรู

ด้านตลาดในประเทศ ได้ร่วมลงทุนผ่านบริษัท ธรรมชาติ ซีฟู้ด รีเทล จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการอาหารทะเลสดในห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ และกลุ่มเซ็นทรัล 150 สาขา และมีร้านอาหารซีฟู้ด 5 สาขา คือ เดอะด็อกที่ทองหล่อ และห้างสรรพสินค้าชั้นนำ เอ็มโพเรียม เอ็มควอเทียร์ พารากอน ทั้งนี้บริษัท ธรรมชาติฯตั้งมาเป็นเวลา 7 ปีแล้ว แต่ทียูเพิ่งจะมาลงทุนในปีนี้ โดยถือหุ้นสัดส่วน 25.1% ร่วมกับบริษัท ธรรมชาติ ซีฟู้ด ลิมิเต็ด ถือหุ้นสัดส่วน 49% และนางศันสนีย์ แกทเทนบี้ เดวี่ส์ 25.9%

“วันนี้โพซิชั่นของเราต้องการเป็น seafood expert ห้างสรรพสินค้าทุกที่ ร้านอาหารที่ต้องการซีฟู้ดต้องนึกถึงเราเป็นคนแรก”

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!