ปตท.ทุ่ม 3,000 ล้าน ปั้นวังจันทร์วัลเลย์ EECi

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จัดเป็นอีก 1 บริษัทที่เข้าร่วมในโครงการเขตนวัตกรรมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EECi) โดยบริษัทได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาพื้นที่กว่า 3,302 ไร่ที่วังจันทร์วัลเลย์ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง ให้เป็นศูนย์รวบรวมผลงาน-งานวิจัย-นวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อลดการ “นำเข้า” งานนวัตกรรมจากต่างประเทศ โดยจะเปิดให้ผู้ประกอบการ กลุ่มอุตสาหกรรม โรงงาน สามารถเข้ามาใช้ศูนย์แห่งนี้ค้นคว้า-วิจัยด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมไทยให้แข่งขันกับตลาดโลก

จากพื้นที่ทั้งหมด 3,302 ไร่จะประกอบไปด้วย 3 โซนหลัก ได้แก่ community zone, innovation zone และ education zone ปัจจุบัน education zone ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและมีการลงทุนไปค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (Kamnoetvidya Science Academy : KVIS), สถาบันวิทยสิริเมธี (Vidyasirimedhi Institute : VISTEC) และ Wangchan Forest Project หรือโครงการปลูกป่ายั่งยืนของศูนย์การเรียนรู้ป่าวังจันทร์

สำหรับโซน innovation zone ที่จะดำเนินการเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางด้านงานวิจัย-นวัตกรรมต่าง ๆ เช่น ระบบอัตโนมัติหุ่นยนต์และระบบอัจฉริยะการเป็นศูนย์กลางงานวิจัยและนวัตกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ ศูนย์กลางและฐานในการรังสรรค์นวัตกรรมจากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ ปัจจุบันบริษัทในกลุ่ม ปตท. ร่วมกับพันธมิตรที่สนใจในการเข้ามาใช้พื้นที่ในโซนนี้เพื่อต่อยอดงานวิจัย-นวัตกรรมมากขึ้น โดยภาคเอกชนอื่น ๆ สามารถเข้ามาใช้งานในพื้นที่นี้ได้โดยมีเป้าหมายเฉพาะภาคอุตสาหกรรม-โรงงานในพื้นที่การนิคมใกล้เคียง

ล่าสุด บริษัท ปตท.ได้เสนอขออนุมัติงบฯลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาทในการประชุมบอร์ดผู้บริหาร ปตท.เมื่อวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อสนับสนุนและพัฒนาเขตนวัตกรรม EECi โดยจะเป็นการลงทุนในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค ทั้งถนน น้ำประปา ไฟฟ้า อาคารและที่พักอาศัย ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในต้นปี 2562 พร้อมกันนี้ ปตท.ยังวางแผนที่จะเดินหน้า roadshow โครงการนี้ในต่างประเทศ โดยขณะนี้มีนักลงทุนแสดงความสนใจใน EECi มากกว่า 20 รายแล้ว

ขณะเดียวกันทาง สวทช.เองก็ได้เข้าจองพื้นที่กว่า 100 ไร่ และเงินลงทุนอีกประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อซื้ออุปกรณ์-เครื่องมือในการวิจัย โดยในช่วงที่ผ่านมา สวทช.ได้ร่วมกับค่ายพันธมิตรที่จะพัฒนา EECi จำนวนมาก ทั้งภาครัฐ-เอกชนในประเทศและต่างประเทศเพื่อที่จะทำงานวิจัย-นวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ โดยในขณะนี้ได้พัฒนาเทคโนโลยีกว่า 101 ราย และบ่มเพาะผู้ประกอบการด้านชีวภาพได้ 13 ราย “ซึ่งก็เห็นถึงผลสำเร็จที่เกิดขึ้นได้”

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!