“บี.กริม” รอพีดีพีใหม่ก่อนเดินหน้าแผนลงทุน 5 ปี 5,000 MW

บี.กริม คาดปี”62 รายได้โต 34% ปักหมุดเกาหลีใต้ รอความชัดเจน PDP ใหม่ ก่อนลงทุนในประเทศ หวังขยายกำลังผลิตตามเป้าหมาย 5 พันเมกะวัตต์ใน ปี”65

นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM กล่าวว่า ปี 2562 บริษัทคาดการณ์ว่าจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้ง 2,939

เมกะวัตต์ เติบโต 34% จากปี 2561 ที่มีกำลังการผลิตติดตั้งที่ 2,076 เมกะวัตต์ จากปัจจัยการลงทุนโดยเฉพาะประเทศใหม่ เช่น เกาหลีใต้ ที่อยู่ระหว่างการเจรจา รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศเวียดนาม 2 แห่ง กำลังผลิต 677 เมกะวัตต์ ขณะที่ต้นปีบริษัทเตรียมจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) 5 แห่ง มีกำลังการผลิต 863 เมกะวัตต์ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ สปป.ลาว กำลังการผลิต 15 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ดี บริษัทยังมองโอกาสทางธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศต่อเนื่อง อาทิ กลุ่มประเทศอาเซียน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ตามเป้าหมายในการเพิ่มกำลังการผลิต อยู่ที่ 5,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2565

ล่าสุดโครงการโซลาร์ราชการและสหกรณ์ 7 โครงการกำลังการผลิต 30.8 เมกะวัตต์ ได้เริ่มทยอยจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์(COD) แล้ว เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2561

สำหรับแผนในประเทศ บี.กริมอยู่ระหว่างรอความชัดเจนร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan : PDP) ฉบับใหม่ก่อน เบื้องต้นคาดการณ์กำลังการผลิตลดลง แต่แนวโน้มความต้องการจะเพิ่มเป็น 60,000 เมกะวัตต์ ซึ่งโจทย์คือจะทำให้อย่างไรให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพด้านพลังงาน ทั้งนี้ หากภาครัฐมีความชัดเจนเรื่องนี้ บริษัทพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าแบบประเภทผู้ผลิตไฟฟ้าจากเอกชนรายใหญ่ (IPP) มีความสามารถในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า IPP เพราะมีทีมที่มีความเชี่ยวชาญโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติและทีมบุคลากรที่ชำนาญอยู่แล้ว

“เข้าใจว่าแผนฉบับใหม่มีระบุเรื่อง smart grid ต่อยอดไปถึง renewables ผสมผสานได้ ส่งไปเข้าระบบแต่ต้องมีเสถียรภาพ ซึ่งขอให้รัฐเปิดทาง ยังไงเราก็พร้อมลุย ส่วนจะได้หรือไม่ได้ไม่ใช่ประเด็น ไม่มีอะไรต้องกังวล โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่แบบ IPP บริหารจัดการต้นทุนได้ง่ายกว่าโรงไฟฟ้าขนาดเล็กแบบ SPP ด้วยซ้ำ เพราะเป็นการสร้างโรงไฟฟ้า

และทำสัญญาระยะยาวขายให้กับ กฟผ.รายเดียวเท่านั้น ในขณะที่ SPP นอกจากการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าแล้ว ยังต้องดูแลคุณภาพไฟฟ้าให้กับลูกค้าจำนวนมาก และต้องรักษาเสถียรภาพการจ่ายไฟให้ตอบโจทย์ลูกค้าซึ่งยากกว่า เพราะบางทีลม แสงแดด เรากำหนดไม่ได้ ดังนั้นถามว่าเราพร้อมสำหรับ IPP ไหม เราพร้อมมาก” นางปรียนาถกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบัน BGRIM มีโรงไฟฟ้าเชิงพาณิชย์รวม 36 แห่ง เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 15 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 18 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 2 แห่ง และ โรงไฟฟ้าพลังงานดีเซล 1 แห่ง ตั้งอยู่ในประเทศไทยและต่างประเทศมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมกว่า 2,056 เมกะวัตต์ และมีโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างแผนการก่อสร้างในระหว่างปี 2562-2565 อีกกว่า 1,070 เมกะวัตต์