ปศุสัตว์ปีจอ ฝ่าวิกฤต หมูไข่ราคาตก-ส่งออกไก่แข่งเดือด

สถานการณ์สินค้าปศุสัตว์หลักของไทยในปี 2561 ที่ผ่านมาค่อนข้างผันผวนรุนแรงพอสมควร สุกรหรือหมูราคาตกต่ำมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 และทรุดตัวลงหนักในช่วงต้นปี 2561 ทำให้กรมปศุสัตว์ต้องขอความร่วมมือห้างโมเดิร์นเทรดไม่ให้ขายหมูเนื้อแดงในราคาต่ำกว่า กก.ละ 120 บาท ก่อนราคาจะกระเตื้องขึ้นมาในช่วงครึ่งปีหลัง

ขณะที่ไก่เนื้อราคาส่งออกครึ่งปีแรก 2561 ยังไปได้สวย แต่ครึ่งปีหลังกลับเจอวิกฤตประเทศคู่แข่งรายใหญ่ดัมพ์ราคาจากค่าเงินที่อ่อนตัวลงมาก ส่วนไก่ไข่ผลผลิตล้น แต่เอ้กบอร์ดยังไม่ยอมลงมติในการลดพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่และการปลดไก่ไข่ยืนกรงอายุมากให้เด็ดขาด สถานการณ์สินค้าปศุสัตว์ไทยในปี 2561 จึงถือว่าประสบกับปัญหาหนักหน่วงหลายด้าน

วิกฤตค่าเงิน “ไก่” แข่งเดือด

นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ไก่เนื้อโดยภาพรวมปี 2561 ไม่ค่อยน่าพอใจนัก แม้ว่าการส่งออกจะพุ่งเป็น 9 แสนตัน เนื่องจากสหภาพยุโรป (อียู) เพิ่มการนำเข้าจากไทย 2.7-2.8 แสนตัน เป็น 3.3 แสนตัน เพิ่มขึ้นประมาณ 5 หมื่นตันในปี 2561 เพราะประเทศบราซิลผู้ผลิตไก่ส่งออกรายใหญ่ของโลกปีละ 3 ล้านกว่าตันมีปัญหาด้านคุณภาพสินค้า รัฐบาลบราซิลต้องสั่งปิดโรงงานชำแหละไก่เนื้อส่งออกกว่า 20 แห่ง ส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานของผู้ผลิตอันดับ 1 ของบราซิล

แต่ครึ่งปีหลังของปี 2561 เกิดวิกฤต “ราคา” เนื่องจากค่าเงินในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่รวมถึงบราซิล ทำให้ค่าเงินบราซิลอ่อนค่ากว่า 30% ผู้ผลิตไก่ของบราซิลดัมพ์ราคาขายไก่ลงมา กอปรกับรัฐบาลบราซิลโยกโควตาส่งออกไก่จากผู้ผลิตอันดับ 1 มาให้ผู้ผลิตอันดับ 2

ส่งออกแทน ราคาจึงลดลงมาก ส่วนไก่สดแช่แข็งจากเดิมที่ส่งญี่ปุ่นตันละประมาณ 3,200 เหรียญสหรัฐ แต่ในช่วงเดือนสิงหาคม-ธันวาคม 2561 ราคาลดลงมาเหลือตันละ 2,500 เหรียญสหรัฐเท่านั้น ขณะที่ราคาไก่แปรรูปครึ่งปีหลัง

เหลือต่ำกว่าตันละ 3,000 เหรียญสหรัฐ จากครึ่งปีแรกตันละ 3,500-3,600 เหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ตลาดไก่แปรรูปไปตลาดญี่ปุ่นยังช่วยไว้ โดยยืนอยู่ที่ระดับตันละ 4,500-4,600 เหรียญสหรัฐ เพราะญี่ปุ่นนำเข้าไก่สดแช่แข็งเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 แสนตัน และไก่แปรรูป 3 แสนตัน ขณะที่จีนนำเข้าไก่เนื้อไทยจาก 6 โรงงาน คาดว่าปี 2561 จะนำเข้าประมาณ 1.2 หมื่นตันเท่านั้น ประเด็นนี้ส่งผลให้ราคาไก่เนื้อมีชีวิตหน้าฟาร์มปี 2561 ลดลงเหลือ กก.ละ 32-33 บาท จากปีก่อน กก.ละ 36 บาท

ส่วนแนวโน้มไก่เนื้อในปี 2562 ยังไม่สามารถคาดการณ์การส่งออกได้ เนื่องจากอียูอาจลดการนำเข้า และสิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือ ค่าเงินของคู่แข่งที่อ่อนตัวลงมาก กับราคาวัตถุดิบอาหารไก่เนื้อ โดยเฉพาะข้าวโพดที่ขยับขึ้นเป็น กก.ละ 10 บาทแล้ว

หมูฝ่าปัจจัยเสี่ยง

ขณะที่ นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มช่วงต้นปีที่ราคาสุกรมีชีวิตตกลงไปเหลือ กก.ละ 40 บาท ส่วนช่วงปลายปี 2561 ยังทรงตัวในระดับต่ำ กก.ละ 62 บาทใกล้เคียงกับต้นทุนการผลิต เนื่องจากตลาดในประเทศซึ่งเป็นตลาดหลัก เศรษฐกิจไม่ดีกำลังซื้อซบเซา

ส่วนแนวโน้มปีหน้ายังคาดการณ์ลำบากเพราะไทยยังไม่สามารถควบคุมปริมาณการผลิตสุกรได้ เนื่องจากไม่มีการขึ้นทะเบียนฟาร์มเลี้ยงมาตรฐานที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และยังมีปัญหาสหรัฐบีบหนักให้ไทยเปิดนำเข้าเนื้อสุกรที่มีสารเร่งเนื้อแดง

โดยเบื้องต้นคาดการณ์ว่าราคาสุกรเป็นมีชีวิตในปี 2562 อยู่ระดับ กก.ละ 55-65 บาทหากการเลี้ยงไม่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องป้องกันการระบาดของโรคแอฟริกัน สไวน์ ฟีเวอร์ (ASF) ที่ระบาดในจีน ยุโรปตะวันออก และยุโรปเหนือเข้ามาในไทยด้วย ซึ่งขณะนี้ผู้ผลิตสุกรรายใหญ่ของไทย เช่น กลุ่ม ซี.พี. เบทาโกร และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กำลังหาเงินทุนเพื่อซื้อเครื่องฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ ASF ประมาณ 10 ล้านบาท เพื่อมอบให้กรมปศุสัตว์นำไปฉีดพ่นที่ด่านกักกันสัตว์ชายแดนทางภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคตะวันออก

“ไก่ไข่”ล้นตลาดข้ามปี

ขณะที่ “ไข่ไก่” ยังคงอยู่ในภาวะอึมครึม หลังจากกรมปศุสัตว์และผู้เลี้ยงไก่ไข่รายใหญ่ได้หารือร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาราคาไข่ไก่ตกต่ำ “นายมาโนช ชูทับทิม”นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ความคืบหน้าในการดำเนินการปลดพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ลงจาก 5.5 แสนตัว เหลือ 4.6 แสนตัว ทำได้เกือบครบ 100% แล้ว แต่มาตรการนี้จะส่งผลต่อราคาไข่ไก่ในประมาณ

กลางปีหน้า เพราะพ่อแม่พันธุ์เหล่านี้ออกไข่เพื่อเป็นไก่ไข่ยืนกรงแล้ว

ขณะที่การปลดไก่ไข่ยืนกรงอายุ 72-75 สัปดาห์ ใกล้จะครบ 100% แล้วเช่นกัน โดยกรมปศุสัตว์กำลังเร่งรัดผู้ผลิตรายใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กลุ่มบริษัท เบทาโกร จำกัด และบริษัท แสงทองสหฟาร์ม จำกัด 3 ผู้ผลิตรายใหญ่ให้การสนับสนุนเต็มที่ เหตุที่ล่าช้าบ้างมาจากโรงเชือดของบริษัทเหล่านี้ยังต้องชำแหละไก่เนื้อเพื่อส่งจำหน่ายต่างประเทศและในประเทศ การปรับเปลี่ยนไลน์ผลิตจึงมีขั้นตอนอยู่พอสมควร

โดยปลายปีราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเริ่มกระเตื้องขึ้นมาที่ 2.30 บาทต่อฟอง จากที่เคยลงไปต่ำสุดที่ 1.70-1.80 บาทต่อฟอง แต่ยังต่ำกว่าต้นทุนที่ 2.80 บาทต่อฟอง ส่วนการส่งออกไข่ไก่

60 ล้านฟองก็กำลังดำเนินการ แต่โดยรวมตลาดส่งออกยังหาความแน่นอนไม่ค่อยได้ การส่งออกในแต่ละปีจึงอยู่ที่ระดับ 3-5% ของปริมาณการผลิตเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (เอ้กบอร์ด) ยังลงมติให้มีการควบคุมพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ให้อยู่ในระดับ 4.6 แสนตัว ซึ่งจะได้ไก่ยืนกรงที่ 106 ตัวต่อ 1 แม่ไก่ไข่ ที่จะให้ไข่ไก่รวม 40 ล้านฟองต่อวัน ใกล้เคียงกับการบริโภคภายในประเทศแล้ว จึงยากที่จะดึงราคาไข่ไก่มาที่ต้นทุนการผลิตฟองละ 2.80 บาท (ไข่คละ) ได้ เพราะล่าสุดเมื่อวันที่


24 ธ.ค.ที่ผ่านมา เอ้กบอร์ดได้แต่เร่งรัดการส่งออกไข่ไก่เพิ่มขึ้นเป็น 148 ล้านฟองเท่านั้น ยังไม่มีการควบคุมพ่อแม่พันธุ์และการปลดไก่ไข่ยืนกรง จึงมีเพียงมาตรการที่ขอความร่วมมือผู้ผลิตผู้นำเข้า 16 รายให้ลดจำนวนพ่อแม่พันธุ์และการปลดไก่ไข่ยืนกรงอายุมากเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาเท่านั้น