จำนำข้าวผิดหรือไม่? บทเรียนจาก WEF

คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย รัชดา เจียสกุล โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย)

 

อย่างที่เคยเล่าให้ฟัง ดิฉันได้มีโอกาสเป็นผู้ติดตามเข้าร่วมประชุมเวิลด์อีโคโนมิกฟอรั่มที่เมืองต้าเหลียน ระหว่างวันที่ 26-29 มิถุนายนปีนี้ ชื่องานว่า การประชุมประจำปีของแชมป์เปี้ยนใหม่ ซึ่งมีการประชุมเข้มข้น 3 วัน 232 ประชุม ได้ความรู้ใหม่ ๆ กลับมามากมาย แต่นอกจากความรู้ใหม่แล้ว ก็ได้ประเด็นให้ฉุกคิดเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศเราอีกหลายเรื่อง ที่สำคัญนั้นคงเป็นประเด็นของการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 แต่เรื่องน่าคิดจากห้องประชุมเล็ก ๆ ที่จะเป็นเรื่องใหญ่ในเดือนสิงหาคม 2560 คือเรื่องจำนำข้าว

ดิฉันสนใจเรื่อง การศึกษาสหสาขาวิชาชีพ หรือ “Multidisciplinary Study” มาเป็นเวลานาน เนื่องจากเชื่อว่าผู้ที่มีพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ หากมาศึกษาศิลปะ หรือ ปรัชญา หรือผู้มีพื้นฐานด้านศิลปะ แล้วมาศึกษาหาความรู้ใหม่เรื่องเทคโนโลยี สามารถสร้างการพลิกผัน (Disruption) ทั้งเรื่องธุรกิจ และเรื่องของสังคม ดังนั้นหัวข้อการประชุมที่ต้าเหลียน เรื่อง “วัฒนธรรม กับ นวัตกรรม” (Across the Spectrum : Tradition and Innovation) เป็นหัวข้อที่ดึงดูดใจเหลือเกิน ไม่คิดว่าเป็นหัวข้อประชุมที่เดินเข้าไปแล้วจะได้ยินประเด็นที่ทำให้นึกถึงเรื่องจำนำข้าว วิทยากรในหัวข้อนี้มี 2 ท่าน ท่านหนึ่งเป็นศาสตราจารย์ ด้านนวัตกรรม ของอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน แต่อีกท่านหนึ่งที่น่าสนใจมากชื่อคุณ เฮ่า จิงฟาง (Hao Jingfang) เป็นนักเขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ของจีน ที่ทำงานตอนกลางวันเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ที่ศูนย์เศรษฐศาสตร์มหภาคศึกษาในปักกิ่ง แต่ตอนกลางคืนเธอทำงานเป็นนักเขียนนวนิยายแนวอนาคตล้ำยุคที่มาพูดเรื่องความงดงามของการศึกษาทั้งศาสตร์และศิลป์ อดีตและปัจจุบัน เพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 อย่างปลอดภัย

ในเรื่องที่คุณเฮ่า จิงฟาง ยกขึ้น ถึงนวัตกรรมทางด้านนโยบายที่น่าสนใจในอดีต เธอได้กล่าวถึงปรัชญาที่มีอายุกว่า 2,500 ปีของซุนวู (Sun Tsu) ว่าด้วยเรื่องการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร ว่าเป็นนวัตกรรมทางนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ทุกวันนี้ยังใช้กันอยู่ทั่วโลก เป็นนวัตกรรมที่มีอายุยาวนานมากกว่า 2,500 ปี ที่มุ่งช่วยบริหารจัดการราคาสินค้าเกษตร ในฤดูการเก็บเกี่ยวที่มีสินค้าออกมามาก ราคาสินค้าเกษตรนั้นย่อมตกต่ำ ซุนวูเสนอให้มีการสร้างโกดังขึ้นมาแล้วซื้อเก็บสินค้าเกษตรนั้นไว้ เมื่อผลิตผลเริ่มน้อยลง หรือเมื่อราคาสินค้าเกษตรสูงเกินไปจนเกิดยุคข้าวยากหมากแพงค่อยเอาสินค้าออกมาขาย เหล่านี้ก็เพื่อสร้างเสถียรภาพด้านราคา นี่กระมังที่เป็นที่มาของนโยบายการจำนำสินค้าเกษตร

อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนกลับมาศึกษาประวัติศาสตร์นโยบายการจำนำข้าวของประเทศไทยในช่วงปี 2554-2557 ยุคซุนวูประชานิยม ที่มองยังไงก็มีปัญหา นอกเหนือจากเรื่องที่เกิดการขาดทุนเงินงบประมาณมหาศาล และการเปิดช่องให้การทุจริตตลอดห่วงโซ่ ประเด็นที่คิดทีไรก็น้ำตาซึม คือการทำลายอุตสาหกรรมข้าวไทยอย่างโหดร้ายแบบครบวงจรส่งผลให้คุณภาพข้าวไทยตกต่ำ สูญเสียตลาดส่งออก และทำลายอนาคตผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดในกระบวนการ

กรณีของนโยบายจำนำข้าวภาคพิสดารนั้น สร้างปัญหาคลาสสิกตามหลักเศรษฐศาสตร์เรื่อง จริยวิบัติ (Moral Hazard) ซึ่งได้นำไปสู่การเลือกที่ไม่พึงประสงค์ (Adverse Selection) การจำนำภาคพิสดารที่ไม่ใช่การจำนำจริง เนื่องจากไปตั้งราคาจำนำสูงกว่าราคาตลาดเกือบเท่าตัว ที่ได้เคยถูกทัดทานตักเตือนจากผู้รู้ กูรูนักเศรษฐศาสตร์หลายท่าน ไม่ว่าจะเป็น ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ดร.อัมมาร สยามวาลา ผลของการดำเนินนโยบายแบบไม่ฟังเสียงทัดทานนี้ ทำให้เกษตรกรเลือกปลูกข้าวคุณภาพต่ำ เร่งปลูกเฉพาะข้าวที่ให้ผลผลิตเร็ว ไม่สนใจคุณภาพ รัฐบาลซื้อของคุณภาพต่ำในราคาสูงเกินตลาดโลกเกือบเท่าตัว นอกจากขาดทุนมหาศาลแล้ว ผู้ค้าข้าวที่ไหนจะหาลูกค้ามาซื้อข้าวคุณภาพต่ำในราคาแพงขึ้นกว่าเท่าตัวได้ ตลาดข้าวไทยในตลาดโลกภายใต้การจำนำภาคพิสดารได้พังยับเยิน จึงมีนวัตกรรมวิชามาร G-to-G เก๊ ขึ้นมาสร้างความเสียหายยับเยินขึ้นไปอีก

เมื่อเกิดผลเสียหายซะมากมายขนาดนี้ ใครได้ยินคำว่าจำนำก็ระแวงหมด แต่อย่าลืมว่าการจำนำที่ดีนั้นทำได้เพราะช่วยสร้างเสถียรภาพด้านราคาให้สินค้าเกษตร สรุปได้ว่า “การจำนำข้าวนั้นไม่ผิด แต่โครงการจำนำข้าวภาคพิสดารของประเทศไทยที่ผ่านมานั้นผิดแน่นอนค่ะ”