“คำพิพากษา” ยิ่งลักษณ์ จุดเปลี่ยน “นโยบายข้าวไทย”

25 สิงหาคม 2560 จะถือเป็นวันที่ประวัติศาสตร์ไทยต้องบันทึกไว้อีกหน้าหนึ่ง เพราะจะมีการตัดสินคดีสำคัญ 2 คดี โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำสั่งคดีหมายเลขดำ อม.22/2558 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กรณี ละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว จนทำให้รัฐเสียหายเป็นมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท รัฐต้องแบกภาระสต๊อกข้าวมากกว่า 18 ล้านตัน มาจนถึงปัจจุบัน

เป็นวันเดียวกับที่ศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ อม.25/2558 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง “นายภูมิ สาระผล” อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว จำเลยที่ 1, “นายบุญทรง เตริยาภิรมย์”

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว จำเลยที่ 2 และพวก ในการใช้วิธีพิสดารอ้างขายข้าวให้กับรัฐวิสาหกิจจีน แต่ไม่มีการส่งออกจริง หรือ “จีทูจีเก๊”!

หลายสำนักประเมินว่า ผลการตัดสินคดีจำนำข้าว เป็น “เดิมพัน” สำคัญสู่ทิศทางการเมืองในอนาคต !

แต่อนาคตทิศทางตลาดข้าวไทย และการวางนโยบายของรัฐบาลหลังจากสิ้นสุดคำตัดสินคดีนี้จะเป็นอย่างไร ?

“เกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์” นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย ให้มุมมองว่า ผลการพิจารณาคดีทั้งในส่วนของโครงการรับจำนำข้าวและจีทูจี ไม่ว่าจะออกมาเป็นอย่างไรจะไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจข้าว เพราะเป็นเรื่องของปัจเจก ซึ่งสังคมรับรู้กันมานานอยู่แล้ว แต่หลังจากนี้ขึ้นอยู่กับว่ามูลค่าความเสียหายจัดเป็นเท่าไร การบังคับคดีจะเป็นอย่างไร

ในกรณีนี้ ถ้าเป็นบริษัทผู้ส่งออกข้าวหรือโรงสีที่เกี่ยวข้องกับคดีความ อาจจะกระทบถึงการดำเนินธุรกิจ หากถูกใช้มาตรการบังคับทางปกครอง เช่น หากมีการอายัดเงิน ซึ่งจะมีผลกับความเชื่อมั่น

ในการซื้อขาย แต่ถ้าไม่เกี่ยว ถือว่าเป็นเรื่องทางปัจเจก ดังนั้น จึงไม่ได้มองว่าตลาดข้าวจะซบเซา เพราะตลาดข้าวมีกลไกทางการตลาดขึ้นอยู่กับความต้องการซื้อและความต้องการขาย ซึ่งส่วนใหญ่มีทั้งตลาดต่างประเทศ และธุรกิจในประเทศ

บทเรียนจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวต่อธุรกิจโรงสี ซึ่งถูกมองว่าเป็นธุรกิจที่เข้ามารับจ้างในโครงการรับจำนำข้าว จริงอยู่ที่มีโรงสีที่ได้ประโยชน์จากโครงการ แต่ข้อเท็จจริงคือ ไม่ใช่โรงสีทุกแห่งอยากจะรับจ้างรัฐ เรามีการลงทุนธุรกิจเป็นหลักหลายร้อยล้านบาท จะลงทุนมารับจ้างทำไม แต่สาเหตุที่ต้องไปรับจ้าง เพราะกลไกการดำเนินธุรกิจของเราไม่สามารถทำธุรกิจได้ หลังจากที่มีการดำเนินโครงการรับจำนำ ซึ่งไม่ว่าเราชอบหรือไม่ชอบนโยบายแบบไหน แต่ไม่ว่ารัฐบาลจะใช้โครงการช่วยเหลือเกษตรกรแบบไหน โรงสีจะอยู่ในห่วงโซ่นี้เช่นเดิม

อนาคตหลังจากนี้ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งพรรคใดจะเข้ามาบริหารประเทศ เชื่อว่ายังจะต้องมีโครงการเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกร แต่ไม่ว่าจะมาในรูปแบบใด ผลจากสิ่งที่เกิดขึ้นจากคดีนี้ ถ้าคดีออกมาแล้วนางสาวยิ่งลักษณ์มีความผิด ต่อไปใครจะกำหนดนโยบายคงลำบาก ต้องวิเคราะห์ถึงการดำเนินนโยบายว่าจะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด จะนำเงินมาจากแหล่งใด จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจอย่างไรหรือไม่ นักการเมืองหรือคนที่รับผิดชอบที่เข้ามาบริหารประเทศคงจะมีความลำบาก เพราะต้องรับผิดชอบต่อนโยบายที่กำหนดขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม คดีนี้เป็นเหมือนเหรียญสองด้าน ถ้าผลการตัดสินออกมาว่าไม่ผิด ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเป็นอีกด้านหนึ่ง เพียงแต่นโยบายใดก็ตามที่จะนำมาช่วยเหลือเกษตรกร จะต้องตอบคำถามว่า หากผู้ที่ใช้นโยบายดูแลไม่ทั่วถึง ปล่อยให้มีการทุจริตหรือนโยบายมีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจทำลายกลไกตลาดทำให้เกิดการสต๊อกข้าว จะถูกฟ้องร้องด้วยมาตรา 157

ในอีกด้านหนึ่ง “ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์” นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย มองว่า ตลาดข้าวจะไม่ได้รับผลกระทบกระเทือนจากผลของการพิจารณาในวันที่ 25 สิงหาคมนี้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลชดเชยจากในสิ่งที่นักการเมืองได้กระทำลงไป ซึ่งเป็นคนละส่วนกับคดีจีทูจี

ในกรณีของคดีจีทูจีอาจจะมีผู้ส่งออกบางรายที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งต้องดำเนินการพิสูจน์ต่อไป คงยังไม่มีผลในทันทีต่อการดำเนินธุรกิจของกลุ่มนี้

บทเรียนจากการกำหนดนโยบายที่ผ่านมามีการพูดถึงการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีวิธีการ (mechanism) มากำกับดูแลไม่ใช่สามารถที่จะทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ เพราะที่ผ่านมามีแนวทางที่จะใช้บริหารจัดการข้าวหลายวิธี แต่เลือกใช้วิธีที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งจริง ๆ ได้รับการเตือนหลายครั้งจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง จากองค์กรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กระทรวงการคลัง สำนักงานผู้ตรวจราชการแผ่นดิน แต่ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยน ทำให้เกิดผลกระทบตามมา

ท้ายที่สุดแล้ว ประเด็นร้อนที่จะเกิดขึ้นปลายสัปดาห์นี้ ไม่ว่าผลการตัดสินของศาลจะชี้ขาดออกมาอย่างไร คงจะเป็นบทเรียนให้นักการเมือง และผู้บริหารประเทศในยุคต่อไปควรได้จดจำและบริหารประเทศด้วยความรอบคอบ เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด มันคือผลประโยชน์ของคนทั้งชาติที่ต้องแบกรับภาระไปด้วยกัน !