Trade War ยกแรก โซลาร์เซลล์-เครื่องซักผ้าไทยอ่วม

แม้ว่าสหรัฐและจีนจะบรรลุข้อตกลงในการยุติการทำสงครามการค้าชั่วคราวเป็นเวลา 3 เดือน จนถึงเดือนมีนาคม 2562 เพื่อเปิดช่องให้มีการเจรจา แต่ระหว่างนี้ประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ต้องเตรียมพร้อมภายในเพื่อรับมือสงครามการค้ายกใหม่เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “สงครามการค้า” หรือ Trade War ส่งผลให้เกิดความตึงเครียดในบรรยากาศการค้าโลก ภาคเอกชนวิตกกังวลและขาดความเชื่อมั่น จนอาจชะลอกำลังการผลิตและการลงทุนใหม่ได้ แต่อีกด้านหนึ่งก็มีความเป็นไปได้ที่เอกชนจะตื่นตัวเร่งพัฒนาสินค้าใหม่ รวมถึงการแสวงหาแหล่งลงทุนใหม่เพื่อกระจายความเสี่ยงสร้างโอกาสทางการค้า “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “อดุลย์ โชตินิสากรณ์” อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ถึงเอฟเฟ็กต์การใช้มาตรการทางการค้าของสหรัฐที่มีต่อไทยในช่วงปีที่ผ่านมา และการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือการใช้มาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTB) มากขึ้น 

ภาพรวมการใช้มาตรการ

ในปี 2561 สหรัฐมีการใช้มาตรการกับสินค้าไทย แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ การใช้มาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) ขึ้นภาษีกับสินค้าโซลาร์เซลล์ร้อยละ 30 และเครื่องซักผ้าร้อยละ 20 ที่ผลิตจากประเทศต่าง ๆ รวมถึงไทย (โดยมีการยกเว้นในบางประเทศ เช่น ออสเตรเลีย บราซิล เกาหลีใต้) และอีกส่วนเป็นการใช้มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเหล็ก 25% และอะลูมิเนียม 10% โดยใช้มาตรา 232 ภายใต้กฎหมาย Trade Expansion Act 1962 นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2561 แต่ยกเว้นให้กับอาร์เจนตินาและออสเตรเลีย

ในส่วนของการดำเนินการของไทยจะสามารถเจรจาเพื่อขอยกเว้นการใช้มาตรา 232 ได้ 2 แนวทาง คือ การเจรจาเพื่อขอยกเว้นการขึ้นภาษีรายประเทศ ซึ่งในส่วนนี้ทางกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะเป็นผู้เจรจากับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) โดยผ่านกรอบการเจรจา TIFA ซึ่งได้เริ่มมีการเจรจามาตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 ที่ผ่านมา

และอีกส่วนคือการเจรจาเพื่อยกเว้นการใช้มาตรการขึ้นภาษีเป็นรายสินค้า ซึ่งทางกรมการค้าต่างประเทศจะเป็นผู้เจรจา การดำเนินการแก้ไขกรมการค้าต่างประเทศได้ประสานผ่านสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และผู้ส่งออกไทยประสานผ่านผู้นำเข้าสหรัฐ ให้ยกเว้นเป็นรายสินค้า ซึ่งประสบความสำเร็จ เพราะผู้นำเข้าสหรัฐมีความจำเป็นต้องใช้สินค้าไทย จึงได้มีการยกเว้นภาษีนำเข้าให้กับสินค้าเหล็กบางรายการ โดยเงื่อนไขของการยกเว้นก็ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของผู้นำเข้าว่าต้องการใช้สินค้าอะไร เท่าไร โดยมีการเจรจาแบบเคสบายเคส

เอฟเฟค “สงครามการค้า”

ผลที่เกิดขึ้น คือ มาตรการทางการค้าทำให้เกิดโอกาสในการส่งออกสินค้าไปทดแทนจีนในตลาดสหรัฐ และส่งออกสินค้าไปทดแทนสหรัฐในตลาดจีน ซึ่งจากการตรวจสอบยอดการส่งออกสินค้ากลุ่มเหล็กและอะลูมิเนียมของไทยในช่วง 10 เดือนแรกก็ยังขยายตัวเพิ่มขึ้น ยกเว้นกลุ่มที่ถูกใช้เซฟการ์ด คือ โซลาร์เซลล์ที่ส่งออกลดลงร้อยละ 69.82 และเครื่องซักผ้าลดลงร้อยละ 49.99

ซึ่งเป็นคนละประเด็นกัน และไม่สามารถจะใช้แนวทางการเจรจาได้เช่นเดียวกับกลุ่มเหล็ก

จับตา Circumvention

ในฝั่งการนำเข้าหลังจากที่สหรัฐใช้มาตรการ มีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีสินค้าจากจีนที่เข้ามาสวมสิทธิ์ใช้แหล่งกำหนดสินค้า (circumvention) จากไทย เพื่อส่งออกไปยังสหรัฐ โดยหลังการใช้มาตรการจีนส่งออกเหล็กไปสหรัฐลดลงร้อยละ 20 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ไทยมีการนำเข้าเหล็กจากจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เป็นการนำเข้าในปริมาณที่ไม่ผิดปกติ เพราะความต้องการใช้เหล็กในอุตสาหกรรมก่อสร้างและการลงทุนในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ และโครงการก่อสร้างจากการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม กรมได้เฝ้าระวังและตรวจสอบ โดยร่วมมือและเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมศุลกากรสหรัฐ กรณีที่มีความน่าสงสัยว่าจะมีการใช้ไทยเป็นฐานการส่งออก แอบอ้างแหล่งกำเนิดสินค้าเพื่อส่งไปยังสหรัฐ หากไม่สามารถชี้แจงได้ก็จะมีการใช้มาตรการ blacklist เช่น ในกลุ่มตะปู ใบเลื่อย ไม้แขวนเสื้อ อ่างล้างชามสเตนเลสไปก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ได้ประสานงานกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อเพิ่มความเข้มงวดเรื่องการตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าด้วยเช่นกัน

สหรัฐ-จีนพักรบ 90 วัน

เท่าที่ติดตามการตัดสินใจพักรบในครั้งนี้ เป็นการยุติการใช้มาตรการขึ้นภาษี 90 วัน สำหรับสินค้าในลอตที่ 3 ซึ่งมี 5,745 รายการ คิดเป็นมูลค่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งทุกฝ่ายก็ยังต้องติดตามประเมินสถานการณ์นี้ต่อเนื่อง อาจจะเสี่ยงไม่กล้าเจรจาค้าขาย เพราะอาจจะถูกเรียกเก็บภาษี หากผลการเจรจาของ 2 ฝ่ายไม่ประสบความสำเร็จ แต่อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้มีความเป็นไปได้หลายทาง

กระทบภาพรวมการค้าโลก

จากการติดตามบรรยากาศการค้าโลกขณะนี้ ทุกประเทศมีการใช้มาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี หรือ NTB ระหว่างกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านสุขอนามัย (SPS) มาตรการทางเทคนิค (TBT) ซึ่งมีทั้งมาตรการเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด และการอุดหนุน (AD/CVD) และมาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางการค้า ในส่วนของไทยมีการใช้มาตรการ AD/CVD เพิ่มขึ้นเป็น 17 เคส โดยในจำนวนนี้ 15 เคสเป็นสินค้าเหล็ก ส่วนอีก 2 เคสเป็นสินค้าเคมีภัณฑ์ และมีการใช้มาตรการเซฟการ์ดกับสินค้ารวม 3 เคส ซึ่งเป็นสินค้ากลุ่มเหล็กทั้งหมด ส่วนหนึ่งเกิดจากการหลบเลี่ยงเอดีไปนำเข้าสินค้าที่อยู่ในพิกัดใกล้เคียงกัน จึงนำมาสู่การฟ้องเซฟการ์ดมากขึ้น

อีกด้านหนึ่งสินค้าส่งออกจากไทยก็ถูกใช้มาตรการทางการค้าเพิ่มขึ้นมาก ปัจจุบันมี 75 สินค้า โดยเป็นสถิติที่สะสมเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะเมื่อใช้แล้วก็มักจะไม่มีการยกเลิกใช้ไปเรื่อย ๆ โดย


ขณะนี้มีสินค้าที่อยู่ระหว่างการถูกเปิดไต่สวนใช้มาตรการ 10 เคสใน 4 ประเทศ และอยู่ระหว่างการทบทวนมาตรการ 7 เคส และโดน CVD อีก 3 เคส เพราะยิ่งเปิดการค้าเสรีลดภาษีเป็น 0% ระหว่างกัน ก็ทำให้มีการใช้มาตรการ NTB มากขึ้น