สภาอุตฯต้านแผน PDP ใหม่หวั่นทำค่าไฟพุ่ง

กลุ่มอุตฯพลังงานหมุนเวียน-สภาอุตฯออกโรงค้านร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า PDP ฉบับใหม่ ชี้คาดการณ์ดีมานด์กำลังการผลิตไฟฟ้าผิดพลาด ส่งผลผลิตไฟฟ้าเกินความจำเป็น วอน “ศิริ” ทบทวนแผน ระบุไฟฟ้าสำรองยังล้นอีกหลายปี

หลังจากที่กระทรวงพลังงานเผยแพร่ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan หรือ PDP) ของประเทศไทยฉบับใหม่ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ปรากฏแผน PDP ฉบับนี้ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้เกี่ยวข้องในวงการพลังงานอย่างกว้างขวางในข้อที่ว่า เป็นแผนที่ “เอื้อ” ให้เกิดโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่จากการคาดการณ์ความต้องการกำลังการผลิตไฟฟ้าที่มากจนเกินความจำเป็น ซึ่งจะส่งผลกระทบในระยะยาวต่อราคาค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ในสัปดาห์สุดท้ายของ ธ.ค. กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ได้ทำหนังสือถึง ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เรื่องขอให้ทบทวนร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ฉบับใหม่ของประเทศ

ซ่อนเงื่อนสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซ

ในร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า PDP ฉบับใหม่ได้กำหนดกำลังผลิตสิ้นปี 2560 ไว้ที่ 46,090 เมกะวัตต์ (MW) กำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ปี 2561-2580 ที่ 51,415 MW กำลังผลิตที่ปลดออกปี 2561-2580 ที่ -24,294 MW และกำลังผลิตไฟฟ้าสิ้นปี 2580 ที่ 73,211 MW ในจำนวนกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ (2561-2580) ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 20,757 MW,

โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ (กฟผ.) 500 MW, โรงไฟฟ้าโคเจเนอเรชั่น 1,105 MW, โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (กผฟ./IPP) 13,156 MW, โรงไฟฟ้าถ่านหิน/ลิกไนต์ (กฟผ./IPP) 1,740 MW, รับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ (สปป.ลาว) 5,857 MW และโรงไฟฟ้าหลักแข่งขัน (กฟผ./IPP) 8,300 MW

หากเปรียบเทียบสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าแยกตามประเภทของเชื้อเพลิงจะพบว่า โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงจะมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 53 (แผน PDP ฉบับปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 37), โรงไฟฟ้าถ่านหิน/ลิกไนต์ร้อยละ 12 (ปัจจุบันร้อยละ 23), โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนร้อยละ 20 (ปัจจุบันร้อยละ 20), การซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาวร้อยละ 9 (ปัจจุบันร้อยละ 12), โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ปลดออกจากแผน (ปัจจุบันร้อยละ 5), เชื้อเพลิงประเภทอื่น ๆ ร้อยละ 0.06 (ปัจจุบัน 0.1) และการอนุรักษ์พลังงานร้อยละ 6

ทั้งนี้หากเปรียบเทียบระหว่างแผน PDP ที่ใช้ในปัจจุบัน กับร่างแผน PDP ฉบับใหม่จะพบการเพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าประเภทที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในสัดส่วน “มากกว่า” ครึ่งของเชื้อเพลิงทุกประเภท ในประเด็นนี้ได้กลายเป็นข้อสงสัยที่ว่า ทำไมแผน PDP ฉบับใหม่จึงนำพาประเทศไทยให้พึ่งการใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงการนำเข้า

LNG ในระยะยาว ทั้ง ๆ ที่ประเทศผู้ซื้อ (ไทย) ไม่สามารถกำหนดราคาซื้อ LNG ได้ เรื่องนี้ย้อนแย้งกับแผน PDP ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันที่พยายามลดการพึ่งพาการใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติในโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ของประเทศ ด้วยการกระจายไปใช้เชื้อเพลิงประเภทอื่น ๆ โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น

สอท.ค้านแผน PDP ฉบับใหม่

สอดคล้องกับหนังสือของกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ที่ทำหนังสือถึง รมต.พลังงาน ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ ขอให้ “ทบทวน” ร่างแผน PDP ฉบับใหม่ โดยให้เหตุผลสำคัญ 3 ประการที่แสดงให้เห็นถึงความ “ผิดพลาด” ของร่างแผน PDP ฉบับนี้ได้แก่ 1) การคาดการณ์ความต้องการกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมที่ผิดพลาด กล่าวคือ

ในร่างแผน PDP ใช้ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในระบบของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง (กฟผ.-กฟน.-กฟภ.) ที่ไม่ได้รวม captive power ของ IPS หรือกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้ารายย่อย ทำให้แผนการจัดสรรไฟฟ้าไม่ครอบคลุมถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าจริงทั้งหมดของประเทศ ทั้งที่ผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อย IPS ที่สามารถผลิตไฟฟ้าด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่ากำลังมีการขยายตัวตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะมีผลต่อการคาดการณ์ความต้องการกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

2) วิธีการคำนวณกำลังผลิตไฟฟ้าที่เชื่อถือได้ (reliable capacity) โดยใช้สูตร reliable capacity = available capacity-ความเสี่ยงของโอกาสที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในแต่ละภาคหยุดเดินเครื่อง ซึ่งในร่างแผน PDP ฉบับใหม่ใช้สูตร reliable capacity = available capacity X 85% ซึ่งหากคิดเป็นค่าความเสี่ยงของโอกาสที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในแต่ละภาคหยุดเดินเครื่องพร้อมกันหมดเท่ากับ 15% หรือคิดเป็นจำนวนสูงถึง 6,094.95 MW (รวมกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 769.35 MW)

ดังนั้นการคำนวณกำลังการผลิตสำรองในแผน PDP ที่เหมาะสมควรใช้ตัวเลขกำลังการผลิตไฟฟ้าที่พึ่งพาได้ทั้งหมดของระบบ (total dependable capacity) มาใช้มากกว่า ซึ่งจะสามารถสะท้อนกำลังผลิตสำรองที่แท้จริงของระบบไฟฟ้าได้โดยไม่ “จำเป็น” จะต้องจัดสรรกำลังการผลิตไฟฟ้า “เพิ่มเติม” หากนำตัวเลขของกำลังการผลิตที่เชื่อถือได้ (reliable capacity) มาใช้ในการคำนวณข้างต้น นั่นหมายถึง ระบบไฟฟ้าของประเทศที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่พึ่งพิงได้ทั้งหมดสามารถรองรับการหลุดออกจากระบบหรือการหยุดเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (ในแต่ละภาค) ได้พร้อม ๆ กันถึง 6,094.95 MW) ซึ่งในโลกของความเป็นจริงโอกาสที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จะหยุดพร้อม ๆ กัน “เป็นไปได้น้อยมาก” นั่นหมายถึง วิธีคำนวณ reliable capacity ในร่างแผน PDP ฉบับใหม่จะทำให้ระบบไฟฟ้าของประเทศมีกำลังการผลิตไฟฟ้า “มากจนเกินความจำเป็น” ซึ่งจะมีผลต่อภาระค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศ

3) กำลังผลิตไฟฟ้าที่เชื่อถือได้ (reliable capacity) ของพลังงานหมุนเวียน ปัจจุบันกระทรวงพลังงานมีการดำเนินโครงการ SPP Hybrid Firm, การรับซื้อไฟฟ้า VSPP แบบ semifirm ในอนาคต ส่งผลให้โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (แสงอาทิตย์-ลม-ชีวมวล-ก๊าซชีวภาพ) สามารถจ่ายไฟฟ้าเทียบเท่ากับโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ดังนั้นหากมีการปรับสมมุติฐานของอัตราส่วนร้อยละของ dependable capacity ใหม่จะส่งผลให้กำลังผลิตไฟฟ้าที่เชื่อถือได้เพิ่มขึ้นเป็น 17,640 MW จากที่เป็นอยู่ 10,000 MW นั่นหมายความว่า ตัวเลขกำลังผลิตไฟฟ้าที่เชื่อถือได้ของประเทศจะเพิ่มขึ้นถึง 7,640 MW “สามารถลดสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล (โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง) ลงได้” “สัดส่วนการพึ่งพาการนำเข้า LNG ที่จะต้องนำเข้ามาในระดับสูงจะลดลง”

ปลัดพลังงานบอกไม่ทบทวน

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จะเดินหน้าตามร่างแผน PDP ฉบับใหม่ “จะไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนอะไรอีกแล้ว” ร่างแผน PDP ฉบับใหม่จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในช่วง ก.พ.นี้

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!