กรมชลเร่ง 3,000 โครงการปี”62 เตรียมรับมือน้ำแล้งต้นปี

กรมชลฯเผยแผนงานปี”62 เร่งรัดงานพระราชดำริสร้างแหล่งน้ำโครงการชลประทาน 3,099 โครงการ-คาดการณ์ต้นปีน้ำแล้ง ย้ำน้ำต้นทุนเขื่อนมีจำกัด 

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า แผนงานปี 2562 กรมชลประทานจะเร่งรัดการดำเนินการโครงการตามพระราชดำริทั้งหมดในความดูแลของกรมชลประทาน 3,099 โครงการ แล้วเสร็จ 2,860 โครงการ เฉพาะในปี 2561 แล้วเสร็จรวม 60 โครงการ อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง 130 โครงการ อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมอีก 69 โครงการ และยังได้เร่งรัดการพัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน โดยเร่งการดำเนินการโครงการขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ให้เป็นไปตามแผนงานความต้องการใช้น้ำระยะ 10 ปี โดยรวมทุกแผน 384 ล้าน ลบ.ม./ปี รวมทั้งปรับปรุงโครงการชลประทานที่มีอายุการใช้งานมานานกว่า 30 ปี จำนวน 77 โครงการ ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการปฏิบัติงาน ทั้งการบริหารจัดการน้ำ และไม่หยุดการพัฒนาระบบงานสู่ digital platform และพัฒนาระบบฐานข้อมูล (big data)

“กรมชลประทานยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน เน้นแผนรองรับแผนการปฏิรูปประเทศแล้ว ยังน้อมนำศาสตร์พระราชาไปสู่การปฏิบัติ และปรับปรุงกระบวนการจัดทำแผนงานและงบประมาณทั้งระบบ โดย กนช.เห็นชอบร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ 20 ปี เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา และจะปรับระเบียบตาม พ.ร.บ.กฎหมายน้ำ เพื่อรองรับผลกระทบ”

อย่างไรก็ดี ช่วงต้นปี 2562 คาดการณ์ว่าจะเกิดภัยแล้ง กรมชลประทานได้วางแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี”61/62 (ระหว่าง 1 พ.ย. 61-30 เม.ย. 62) โดยได้มีการจัดสรรน้ำตามแผนการใช้น้ำฤดูแล้งจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และแหล่งน้ำอื่น ๆ รวมกันทั้งสิ้น 23,100 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีแผนการจัดสรรน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ เขื่อนป่าสักฯ) รวมประมาณ 8,000 ล้าน ลบ.ม. (เป็นน้ำจาก 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา 7,300 ล้าน ลบ.ม. และผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองอีก 700 ล้าน ลบ.ม.) ขณะที่ผลการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี”61/62 ทั้งประเทศ ปัจจุบัน (3 ม.ค. 62) มีจัดสรรน้ำไปแล้วประมาณ 7,000 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 30 ของแผนทั้งประเทศ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้วกว่า 2,900 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 37 ของแผน

“ถึงแม้ว่าจะมีปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศ แต่ยังคงต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน และเกษตรกร ร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ พร้อมรณรงค์การปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ ซึ่งข้าวโพดเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยและมีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน ซึ่งจะเป็นการช่วยกันประหยัดน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัดและสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนหน้าอีกด้วย”

สำหรับแผนงานโครงการขนาดใหญ่ระยะ 5 ปี (2562-2566) ยังคงเน้น 10 โครงการ วงเงิน 500,000-700,000 ล้านบาท โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตามลำดับความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น 1) โครงการผันน้ำแม่น้ำโขง-เลย-ชี-มูล


วงเงินประมาณ 100,000 ล้านบาท 2) โครงการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำสาละวินเข้าเขื่อนภูมิพล 70,000-80,000 ล้านบาท ขณะนี้รอผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) 3) โครงการผันน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ลงเขื่อนลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา วงเงิน 6,000 ล้านบาท กับโครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์เพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่กาญจนบุรี วงเงิน 20,000 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษา เป็นต้น