“ราคาพลังงาน” ดันเงินเฟ้อ”61 สูงสุดรอบ 4 ปี

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ รายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (อัตราเงินเฟ้อทั่วไป) ปี 2561 สูงขึ้น 1.07% ซึ่งเป็นตัวเลขที่เป็นไปตามกรอบคาดการณ์ของกระทรวงพาณิชย์ที่วางไว้ 0.8-1.6% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบ 4 ปี นับจากปี 2557 ที่ 1.89% 

โดยอาจกล่าวได้ว่าปัจจัยหลักที่ทำให้ภาพรวมเฟ้อปี 2561 สูงขึ้น 1.07% มาจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยระดับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในเดือนตุลาคม 86.74 เหรียญ/บาร์เรล สูงสุดในรอบ 4 ปี ทั้งนี้ แม้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะเริ่มปรับลดลงในช่วงปลายปี แต่ก็มีผลกระทบต่อราคาสินค้าและบริการต่อเนื่องกับราคาน้ำมัน รวมถึงราคาสินค้าเกษตร

ทั้งยังมีปัจจัยจากความต้องการสินค้าจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเด็นที่อัตราค่าจ้างและรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น การกระตุ้นการใช้จ่าย ตลอดจนมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ มีผลต่อภาพการลงทุนและการส่งออกที่ดีขึ้น จึงมีผลต่อกำลังซื้อภายในประเทศ เป็นแรงหนุนสำคัญให้เงินเฟ้อขยับสูง

ลุ้นกำลังซื้อปี”62 ฉุดเงินเฟ้อ

ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อปี 2562 “นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร” ผู้อำนวยการ สนค. คาดการณ์ว่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.2% ภายใต้กรอบประมาณการ 0.7-1.7% จากสมมุติฐานอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) 3.5-4.5% น้ำมันดิบดูไบ 70-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 32.5-33.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อไตรมาสแรกของปี 2562 อยู่ที่ 0.86% ไตรมาส 2 อยู่ที่ 0.98% ไตรมาส 3 อยู่ที่ 1.27% และไตรมาส 4 อยู่ที่ 1.81% อย่างไรก็ตาม คาดการณ์เงินเฟ้อดังกล่าวยังไม่รวมปัจจัยการเลือกตั้ง ซึ่งอาจจะมีส่วนต่อกำลังซื้อและมีผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้นได้

ปัจจัยราคาพลังงานที่ยังคงผันผวน ก็เป็นสาเหตุทำให้มีการปรับขึ้นค่าโดยสารในประเทศสูงขึ้น แต่ยังไม่กระทบต่อผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบาย มาตรการดูแลผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การลงทุนและการส่งออกมีทิศทางดีขึ้น ราคาสินค้าเกษตรทั้งข้าวและมันสำปะหลังปรับตัวดีขึ้น ต่างมีผลเชื่อมโยงต่อรายได้และกำลังซื้อ แม้ว่าราคาปาล์มน้ำมัน ยางพารา และมะพร้าวจะยังทรงตัวในระดับต่ำแต่ก็มีสัญญาณดีขึ้นจากมาตรการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ ขณะที่ต้นทุนการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมมีแนวโน้มปรับขึ้นแต่คงไม่ส่งผลต่อราคาสินค้ามากนัก เนื่องจากมีการแข่งขันสูง

รับมือราคาสินค้าเชิงรุก

ด้านการดูแลราคาสินค้าอุปโภค บริโภค สินค้าเกษตร ธุรกิจบริการในปี 2562 นั้น “นายวิชัย โภชนกิจ” อธิบดีกรมการค้าภายใน ระบุว่า เตรียมมาตรการเชิงรุกดูแลราคาสินค้าเกษตร 7 ชนิด ได้แก่ มะพร้าวแห้ง ปาล์มน้ำมัน ไข่ไก่ สับปะรด หอมแดง หอมหัวใหญ่ และกระเทียม ไว้ล่วงหน้า โดยเสนอคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) เห็นชอบแล้ว และมีการติดตามสถานการณ์ราคาอย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมแผนเชื่อมโยงตลาดเพื่อกระจายผลผลิตในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาด โดยอาศัยช่องทางทั้งตลาดกลาง ตลาดต้องชม และร้านค้าริมทาง รวมถึงเร่งผลักดันการส่งออก เพื่อดูแลเสถียรภาพราคาช่วยไม่ให้เกษตรกรขาดทุน โดยกำหนด “ราคาเป้าหมาย” สินค้าแต่ละชนิดที่จะเข้าแทรกแซงทันที เช่น เป้าหมายราคามะพร้าวแห้ง กก.ละ 15 บาท จากราคาปัจจุบัน 11 บาท, ปาล์มน้ำมัน กก.ละ 3.30 บาท จากปัจจุบัน 2.90 บาท เป็นต้น

พร้อมกับเดินหน้ามาตรการต่อเนื่องจากปี 2561 เช่น การให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เข้ามารับซื้อ 1.6 แสนตัน การเตรียมเข้าไปรับซื้อมะพร้าวแห้งจากเกษตรกรช่วงกลางเดือนนี้ ไข่ไก่ ได้เร่งระบายผลผลิตส่วนเกิน ทั้งผลักดันส่งออก 60 ล้านฟอง และสับปะรด ได้เริ่มทำการเชื่อมโยงตลาด เพื่อผลักดันราคาแล้ว ส่วนการดูแลกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ยังคงยืนยันนโยบายที่จะไม่ให้มีการปรับขึ้นราคาสินค้าโดยอ้างราคาน้ำมัน เพราะปัจจุบันราคาน้ำมันแม้จะเคยปรับสูงขึ้น และขณะนี้


ก็ปรับลดลงมาแล้ว และจะเพิ่มทางเลือกในการบริโภคสินค้าราคาถูกให้กับผู้มีรายได้น้อยและผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐผ่านร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ซึ่งจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าชุมชน และในด้านบริการ และสุดท้ายจะมีการประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ในวันที่ 9 ม.ค. 2562 ซึ่งเบื้องต้นจะมีการพิจารณาทบทวนโดยให้นำบริการรักษาพยาบาลทางการแพทย์ เข้าไปบรรจุในบัญชีสินค้าและบริการควบคุม จากปี 2561 ซึ่งมีสินค้าและบริการควบคุมจำนวน 53 รายการ นอกจากนี้ กำลังจะขยายการดูแล “ค่าเซอร์วิสชาร์จ” ในร้านอาหารและภัตตาคารที่ 10% นอกเหนือจากการบวกภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% ว่ามีฐานการคำนวณจากอะไรและนำไปใช้อะไรบ้าง มีความเหมาะสมหรือไม่