5 รอบ ประชาพิจารณ์ แผนพัฒนาผลิตไฟฟ้า PDP 2018

หลังจากประชาพิจารณ์รับฟังความเห็น “ร่างแผนการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP 2018 (2561-2580)” ผ่านไป 5 ครั้ง ล่าสุดสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เตรียมเสนอแผน PDP ฉบับปรับปรุงแก้ไขหลังประชาพิจารณ์เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในวันที่ 7 มกราคม 2562 

ภาพรวมการผลิตไฟฟ้า

ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ 55,117 เมกะวัตต์ (MW) ต่อปี แบ่งเป็นการผลิตโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สัดส่วน 29%, โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) 27%, โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) 15%, การนำเข้าจากต่างประเทศ (สปป.ลาว) 7%, โรงไฟฟ้าขนาดจิ๋ว (VSPP) 7% และ ISP ผู้ที่ผลิตไฟเองใช้เอง เช่น ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่เริ่มจะมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ย.) มีการผลิตไฟฟ้า 61,719 MW หรือเพิ่มขึ้น 2.2% แบ่งเป็น กฟผ. 27%, IPP 24%, SPP 20% ถ้าจะแบ่งตามสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงจะเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 58%, ลิกไนต์ 18%, นำเข้า 11% และพลังงานหมุนเวียน 10% ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนให้สอดรับกับสถานการณ์ด้านพลังงานในปัจจุบัน

5 จุดเปลี่ยน PDP 2018

อย่างไรก็ตาม แผน PDP ฉบับใหม่มีข้อแตกต่างไปจากแผน PDP ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน 5 ประการ คือ 1) การบริหารจัดการไฟฟ้าแบบรายภูมิภาค จากเดิมที่จะมองแบบภาพรวมของประเทศโดยอาศัยค่าเฉลี่ยการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (peak) ของ 3 การไฟฟ้าฯ (กฟผ.-กฟน.-กฟภ.) 2) การอนุรักษ์พลังงาน จะพิจารณาจากต้นทุนการอนุรักษ์พลังงานเทียบกับต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและสิ่งแวดล้อม 3) ระบบส่งไฟฟ้า จะพิจารณาเป็นรายภูมิภาค 4) สมดุลการผลิตไฟฟ้ารายภูมิภาค กับการผลิตไฟฟ้าของทั้งประเทศ เน้นให้เกิดความมั่นคงระดับในประเทศก่อน และ 5) การเปลี่ยนระบบจากการคำนวณจากกำลังการผลิตไฟฟ้าที่พึ่งพาได้ (reserve margin) 15% เปลี่ยนมาเป็นกำลังการผลิตที่เชื่อถือได้ (reliable capacity) 85% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญา

ไฮไลต์ความเห็นแก้ PDP

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้ประมวล “ไฮไลต์” การเสนอความเห็นต่อ PDP จากเวทีประชาพิจารณ์ออกมาได้ข้อสรุปว่า ในภาพรวมสิ่งที่สังคมคาดหวังต้องการให้แผน PDP เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและให้ประโยชน์ต่อประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า

แต่ก็มี 10 ประเด็นที่น่าสนใจจากเวทีนี้ด้วย ได้แก่ 1) ข้อเสนอให้ควรบรรจุเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินในแผนใหม่ เพราะต้นทุนต่ำและเทคโนโลยีที่พัฒนาสูงขึ้น ทั้ง ๆ ที่โรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นเรื่องขัดแย้งในพื้นที่มาโดยตลอด 2) ควรนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้เพื่อให้เกิดความมั่นคงในระยะยาว เสนอให้มาใช้กับพื้นที่ที่มีความต้องการใช้ไฟสูงอย่างกรุงเทพฯหรือพื้นที่เศรษฐกิจ ซึ่งยังเป็นประเด็นที่มีการหยิบยกขึ้นมาพูดด้วย

3) ควรพิจารณาประเภทโรงไฟฟ้าที่หลากหลายให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่และเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตแต่ละพื้นที่ เช่น ภาคใต้ ไม่เหมาะที่จะติดตั้งโซลาร์เซลล์เพราะมีฝนตกชุกทั้งปี 4) พลังงานทางเลือก/พลังงานทดแทน มีข้อเสนอว่าควรเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนในรูปแบบต่าง ๆ ให้มากขึ้น และมีแนวทางในการเปิดเสรีพลังงานทางเลือกที่ชัดเจน/แนวทางการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่ชัดเจน และมีตัวอย่าง best practice โรงไฟฟ้าขยะเพื่อลดความขัดแย้ง หรือพิจารณาพื้นที่ใหม่ ๆ เช่น จ.ภูเก็ต จ.สงขลา 5) ควรส่งเสริมให้มี “โซลาร์รูฟท็อป” ทุกครัวเรือน และมีแนวทางการรับซื้อไฟคืนที่ชัดเจน

6) เรื่องการแข่งขัน/ผลประโยชน์ทับซ้อน มีการเสนอว่าควรมีแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ กฟผ.มาแข่งขันกับภาคเอกชนอย่างชัดเจน เนื่องจาก กฟผ.มี พ.ร.บ.ควบคุมและกำกับดูแลหน่วยงานที่อาจจะทำให้ กฟผ.เสียเปรียบหากต้องมาแข่งกับเอกชน หรือเสนอให้สร้างอาคารสำนักงานของกระทรวงพลังงานไม่ควรให้เช่าพื้นที่จาก ปตท.เพื่อป้องกันปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน 7) เรื่องพลังงานอนาคตมีข้อเสนอว่า ควรจะมีการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าหากมีรถยนต์ไฟฟ้า และควรส่งเสริมการพัฒนาการผลิตแบตเตอรี่เพื่อเก็บพลังงานไฟฟ้าภายในประเทศ และการเพิ่มความยืดหยุ่นในระบบสายส่ง (grid flexibility) ตลอดจนการส่งเสริมการสร้างฐานข้อมูลโดยใช้ big data ด้วย

8) ประเด็นสิ่งแวดล้อมมีข้อเสนอว่า ควรมีแนวทางป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยเฉพาะมีมาตรการทางกฎหมายดูแลผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศ 9) รูปแบบการลงทุนโรงไฟฟ้า/แนวทางการบริหาร มีการเสนอให้มีการส่งเสริมการร่วมทุนระหว่าง 3 การไฟฟ้ากับภาคเอกชน กรณีที่ 3 การไฟฟ้าไม่สามารถลงทุนด้วยตนเองได้ทั้งหมด และการให้สิทธิประโยชน์ประชาชนจากการมาตั้งโรงไฟฟ้า

พร้อมกับข้อเสนอควรมีแนวทางจัดการระบบ cogeneration ให้ชัดเจนว่า สามารถดำเนินการได้เฉพาะในเขตนิคมอุตสาหกรรมหรือนอกเขตประกอบการอุตสาหกรรมได้ และ 10) เสนอให้เตรียมโรงไฟฟ้าเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคตะวันออกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากโครงการการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) ด้วย