ปิโตรเลียมวืด “ระบบจ้างผลิต” พลังงานชงเกณฑ์สูงเกินเอื้อม

เปิดเกณฑ์การใช้ระบบจ้างผลิต (SC) ตามร่างประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม วงการน้ำมันฟันธง ไม่มีแปลงสำรวจแปลงใดในประเทศไทยที่มีศักยภาพจะจ้างเอกชนผลิตได้ สุดท้ายคงเหลือ 2 ระบบ แบ่งปันผลผลิต (PSC) กับการให้สัมปทานแบบเดิม ประเดิมแหล่งก๊าซ “บงกช-เอราวัณ” เปิดประมูลสิ้นเดือนกันยายน ให้ใช้สัญญาแบ่งปันผลผลิต PSC แน่

หลังจากที่ ครม.อนุมัติในหลักการร่างกฎกระทรวงและร่างประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม ออกตามความใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติมจำนวน 4 ฉบับ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ปรากฏเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงการค้าน้ำมันขึ้นมาทันทีในประเด็นที่ว่า การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21จะไม่มีการนำเอา “ระบบสัญญาจ้างบริการ (Service Contract หรือ SC)” ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานมาใช้แน่นอน

เปิดเกณฑ์ระบบจ้างผลิต

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ร่างกฎกระทรวง/ประกาศทั้ง 4 ฉบับ ประกอบไปด้วย กฎกระทรวงและร่างประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียมทั้ง 4 ฉบับ ซึ่งประกอบไปด้วย ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาณแบ่งปันผลผลิต พ.ศ. …., ร่างกฎกระทรวงกำหนดแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ. …., ร่างกฎกระทรวงหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาในการนำส่งค่าภาคหลวงให้แก่รัฐ สำหรับผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ. …. และร่างประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียมเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบของสัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือสัญญาจ้างบริการ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ร่างประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียมได้กำหนดเงื่อนไขการใช้รูปแบบสัญญาจ้างบริการ หรือ SC ไว้อย่างชัดเจนว่า จะต้องเป็นพื้นที่ที่มีผลการสำรวจพบปิโตรเลียม และมีข้อมูลคาดการณ์ได้ว่า มีปริมาณสำรองน้ำมันดิบ (2P) เหลืออยู่ตั้งแต่ 300 ล้านบาร์เรลขึ้นไป และมีปริมาณการผลิตสะสมรวมกับปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่เหลืออยู่เฉลี่ยทั้งพื้นที่ที่มีค่ามากกว่า 4 ล้านบาร์เรลต่อหลุม และมีปริมาณการผลิตสะสมรวมกับปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่อยู่เฉลี่ยทั้งพื้นที่ที่มีค่ามากกว่า 40,000 ล้าน ลบ.ฟุตต่อหลุม ให้การสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่นั้นดำเนินการในรูปแบบสัญญาจ้างผลิต

ขณะที่รูปแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract หรือ PSC) กับระบบการให้สัมปทานปิโตรเลียม (Concession Contract) นั้นจะพิจารณาจาก “โอกาสการพบปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์” ของภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียมที่มีในพื้นที่นั้น ๆ หากโอกาสในการพบปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ในแปลงสำรวจนั้นมี “ค่าสูงกว่า” โอกาสพบปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ของประเทศไทยก็ให้ใช้ระบบ PSC แต่หากโอกาสในการพบปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์มี “ค่าต่ำกว่า” ก็ให้ใช้รูปแบบการให้สัมปทานเหมือนเดิม

ทั้งนี้ โอกาสในการพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ของแต่ละภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียม โดยคำนวณจากจำนวนหลุมสำรวจของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ระหว่างปี 2514-2559 ปรากฏประเทศไทยมีโอกาสพบปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ ร้อยละ 39, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 14, ภาคเหนือและภาคกลางร้อยละ 33, ปิโตรเลียมบนบกร้อยละ 0, ปิโตรเลียมทะเลอ่าวไทยร้อยละ 50 และ ปิโตรเลียมในทะเลอันดามันร้อยละ 0

บงกช-เอราวัณใช้ PSC

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อพิจารณาจากกฎกระทรวง/ประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียมข้างต้นพบว่า การเปิดให้ยื่นเพื่อขอสิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตโดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่สัมปทานใน 2 แหล่งสำคัญ คือ แหล่งบงกชกับแหล่งเอราวัณ ซึ่งจะเปิดประมูลแข่งขันภายในเดือนกันยายนนี้นั้น จะไม่มีแปลงใดนำรูปแบบสัญญาจ้างบริการ หรือ SC มาใช้

“แปลงสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งประเทศ (อ้างอิงจากแปลงสำรวจผลิตรอบที่ 20) ตอนนี้ไม่มีแปลงใดที่จะมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบหรือปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติสูงมากพอที่จะเข้าเกณฑ์สัญญาจ้างผลิต หรือ SC น่าจะเปิดใช้รูปแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือ PSC มากกว่า” แหล่งข่าวกล่าว

ส่วนการเปิดขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมบนบกรอบใหม่ นอกเหนือจากแหล่งบงกช-เอราวัณ ที่กำลังหมดอายุสัมปทานลงนั้น พื้นที่แปลงส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียมเท่ากับร้อยละ 14) ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2561 แต่ปัญหาตอนนี้ก็คือ แปลงส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ป่าไม้ และพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (ส.ป.ก.) ซึ่งทางสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กำหนดอยู่ในระหว่างการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอใช้ที่ดินแต่จะมีขั้นตอนต่าง ๆ ยุ่งยากมาก ความน่าสนใจที่จะเข้ามาสำรวจและผลิตลดน้อยลง

“ผมมองว่าระบบจ้างบริการ หรือ SC ที่เขียนไว้ในประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียมนั้น มีไว้ก็เหมือนไม่มี เพราะศักยภาพปิโตรเลียมในเมืองไทยไม่ใหญ่ขนาดนั้น ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการให้ความสนใจตอนนี้ก็คือ แปลงปิโตรเลียมที่กรมเชื้อเพลิงฯจะมีการขีดแบ่งใหม่จะเหลืออยู่กี่แปลง (จากเดิมที่มีอยู่ 23 แปลง) และมีศักยภาพจะดีพอที่จะเข้าไปลงทุนหรือไม่” แหล่งข่าวกล่าว

รื้อแปลงปิโตรเลียมใหม่

ด้านนายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ถ้าพิจารณาจากหลักเกณฑ์ของระบบจ้างผลิตหรือจ้างบริการ SC ก็จะพบว่า ยังไม่มีพื้นที่ปิโตรเลียมใดในประเทศที่เข้าข่ายต้องใช้ระบบ SC ส่วนกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับระบบจ้างบริการ ตอนนี้ยังอยู่ในระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะเสนอต่อ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ ครม.ได้เร็ว ๆ นี้

“ขณะนี้กรมเชื้อเพลิงฯอยู่ในระหว่างปรับแก้ไขพื้นที่แปลงปิโตรเลียมที่จะเปิดให้สำรวจและผลิตใหม่ทั้งหมด โดยจะเน้นไปในพื้นที่ที่คาดว่าจะมีศักยภาพ และหลีกเลี่ยงพื้นที่ ส.ป.ก. โดยเฉพาะแปลงปิโตรเลียมในภาคอีสาน