รัฐบาลปิดจ๊อบระบายข้าวค้างสต๊อก16.84ล้านตัน มูลค่า1.45แสนล้าน

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ
กรมค้าต่างประเทศ ปลื้มปิดจ๊อบระบายข้าวค้างสต๊อกสำเร็จ ปริมาณ 16.84 ล้านตัน มูลค่า 1.45 แสนล้านบาท ลดภาระรัฐได้เดือนละ 1 พันล้านเกลี้ยง ขณะที่การส่งออกข้าวไทยปี 61 ทะลุ 11.13 ล้านตัน ส่วนปี 62 มองเบื้องต้นก่อน 10 ล้านตัน พร้อมอีดกิจกรรมดันส่งออกเต็มที่

 

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การระบายข้าวภายใต้รัฐบาลชุดปัจจุบัน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 – ธันวาคม 2561 กรมฯ ในฐานะประธานคณะทำงานดำเนินการระบายข้าวในสต็อกของรัฐและเลขานุการคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว ได้ระบายข้าวในสต็อกของรัฐที่ผ่านการตรวจนับปริมาณและมีผลการตรวจสอบและจัดระดับคุณภาพแล้ว รวมทั้งสิ้น 16.84 ล้านตัน มูลค่ารวม 145,080 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลไม่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาข้าวไว้ในสต็อกเดือนละกว่า 1,000 ล้านบาท ส่งผลดีทำให้กำจัดอุปทานส่วนเกินที่เคยกดทับตลาดและราคาข้าวไทยได้หมดไป เชื่อว่าการส่งออกข้าวในปี 2562 นี้ประเมินว่าจะอยู่ประมาณ 10 ล้านตัน อย่างไรก็ดี จากการระบายข้าวหมดไปครั้งนี้จะสร้างความเชื่อมั่นให้ตลาดข้าวไทยให้กับผู้ส่งออกและเกษตรกรได้ในอนาคต

สำหรับผลจากการระบายสต๊อกออกไปจนหมด ทำให้ปี 2561 ไทยสามารถส่งออกข้าวได้ตามเป้าหมาย มีปริมาณรวม 11.13 ล้านตัน มูลค่ารวม 5,623 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบจากปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการส่งออกเพิ่มขึ้นส่งผลดีต่อราคาข้าวเปลือกในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนเป้าหมายการส่งออกข้าวในปี 2562 ในเบื้องต้นคาดว่าจะมีปริมาณ 10 ล้านตัน การส่งออกอาจจะลดลงจากปี 2561 เล็กน้อย อย่างไรก็ดีจะผลักดันให้มีมูลค่าการส่งออกสูงขึ้น โดยจะสนับสนุนให้เกษตรกรเพาะปลูกข้าวคุณภาพดี และข้าวที่เป็นที่ต้องการของตลาด เพื่อการส่งออกให้มากขึ้น

เนื่องจากราคาข้าวไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น อินเดีย และเวียดนาม รวมทั้งผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอาจจะมีผลกระทบ รวมไปถึงเศรษฐกิจโลก แต่ยังมีปัจจัยบวกที่คาดว่าจะทำให้การส่งออกข้าวเติบโต คือ ความต้องการบริโภคข้าวของโลกยังมีต่อเนื่อง ข้าวไทยยังได้รับความเชื่อมั่น ภัยธรรมชาติสถานการณ์และประเมินสถานการณ์ข้าวทั้งในและต่างประเทศ สำหรับการผลักดันการส่งออกข้าวในปี 2562 กรมฯ มีแผนขยายตลาดและประชาสัมพันธ์ข้าวไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งบุกตลาดประเทศผู้นำเข้าสำคัญในภูมิภาคเอเชีย เช่น ฮ่องกง สิงค์โปร์ จีน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และภูมิภาคอื่นๆ

รวมทั้งจะมีการจัดกิจกรรมที่สำคัญในประเทศ ได้แก่ งานประชุมข้าวนานาชาติ Thailand Rice Convention 2019 ซึ่งเป็นเวทีระดับสากลให้ผู้ที่อยู่ในแวดวงการค้าข้าวจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้มาพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเป็นโอกาสอันดีของประเทศไทยในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างผู้ส่งออกข้าวของไทยและผู้นำเข้าข้าวจากประเทศคู่ค้าสำคัญ นอกจากนี้ จะเร่งผลักดันและขยายโอกาสทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากข้าวไทย ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยมีกิจกรรมสำคัญในปี 2562

ส่วนการอำนวยความสะดวกในการส่งออกข้าว กรมฯ จะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในการเชื่อมโยงการออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าทุกชนิดแบบคู่ขนานภายในเดือน มกราคม 2562 ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอใบรับรองมาตรฐานสินค้าได้ทั้งที่กรมฯ และที่สภาหอฯ โดยสินค้าที่จะขอใบรับรองได้ ได้แก่ ข้าวโพด ถั่วเขียว ถั่วเขียวผิวดำ ข้าวฟ่าง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ปลาป่น ข้าวหอมมะลิไทย ปุยนุ่น เป็นต้น ขณะเดียวกัน จะเพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลและควบคุมคุณภาพมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทยมากขึ้น

นายอดุลย์กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการส่งมอบข้าวแบบ G to G กรมฯ อยู่ระหว่างส่งมอบข้าวงวดที่ 7 ปริมาณ 100,000 ตัน ให้ COFCO Corporation (COFCO) รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2562 และได้เสนอให้ COFCO พิจารณาเจรจาราคาขายข้าวในงวดที่ 8 ปริมาณ 100,000 ตัน ซึ่งหากเจรจาตกลงราคาได้จะถือเป็นข่าวดีอย่างยิ่งสำหรับชาวนาและตลาดข้าวไทย เนื่องจากมีคำสั่งซื้อปริมาณมากมารองรับผลผลิตข้าวที่ออกสู่ตลาด โดยผู้ส่งออกข้าวจะต้องไปรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาเพื่อส่งมอบภายใต้สัญญาดังกล่าว ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรได้รับมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้นและส่งผลดีต่อการค้าข้าวไทยทั้งระบบ ทั้งนี้ กรมฯ จะเร่งเจรจาให้รัฐบาลจีนตกลงราคาและนำเข้าข้าวที่เหลือให้ครบปริมาณ 1 ล้านตันตามสัญญาแบบ G to G ให้แล้วเสร็จภายในปี 2562