ช็อกวงการผ่านร่างพ.ร.บ.ข้าว TDRI เตือนไทยเสียขีดความสามารถแข่งขัน

ช็อกวงการ พ.ร.บ.ข้าวผ่าน สนช.วาระ 1 แล้ว กมธ.วิสามัญเรียกผู้เกี่ยวข้องหารือ 3 ม.ค. 62 ขีดเส้น 30 วันผ่านร่างแก้ไข TDRI-สมาคมโรงสี-สมาคมผู้ส่งออกข้าวรุมยำแนวคิดล้าสมัย เสี่ยงขัด รธน. ม.77 ทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ชาวนารับเคราะห์ถูกกดราคา

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. …ได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระ 1 และได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) ขึ้นมาพิจารณา ซึ่งทางคณะ กมธ.ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องทางสมาคมโรงสีข้าวไทย สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย และสมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งประเทศไทย ไปร่วมประชุมเมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2562 เพื่อให้ความเห็นประกอบการพิจารณาแก้ไขร่างกฎหมายภายใน 30 วัน ก่อนที่จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.วาระ 2-3

นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางสมาคมได้ทำหนังสือถึง พล.อ.มารุต ปัชโชตะสิงห์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. … ไปเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2562 เพื่อให้ข้อมูลและชี้แจงว่าตามที่ สนช.ได้มีการยกร่าง พ.ร.บ.ข้าว ซึ่งล่าสุดมีการเปลี่ยนแปลงไปหลายมาตราแล้ว แต่ที่น่าห่วงคือเมื่อศึกษาลึกในรายละเอียดของกฎหมายจะเห็นว่าเน้นการกำกับ ติดตามดูแลและควบคุมเฉพาะโรงสีและผู้ค้าข้าวเป็นพิเศษ ทั้งที่ควรจะมีการดูแลทั้งระบบ ทั้งส่วนของชาวนา โรงสี พ่อค้าข้าว พ่อค้าข้าวถุง และผู้ส่งออก

กฎหมายเน้นการคุ้มครองสิทธิ์และให้ความเป็นธรรมกับชาวนา สะท้อนว่ามุมมองของบุคคลภายนอกหรือแม้แต่ผู้ยกร่างกฎหมายนี้ มองว่าโรงสีเป็นผู้เอาเปรียบชาวนาจึงต้องหาวิธีการที่เข้มงวดในการกำกับดูแลโรงสีจนเกินความจำเป็น ทั้งที่ทางสมาคมโรงสีฯยืนยันว่าดำเนินการตาม พ.ร.บ.การค้าข้าวของกระทรวงพาณิชย์อยู่แล้ว ซึ่งประเด็นนี้จะกลายเป็นอุปสรรคและสร้างต้นทุนแฝงในการซื้อข้าวระหว่างโรงสีและเกษตรกร และหากกำหนดบทลงโทษที่ไม่พิจารณาถึงผลที่จะตามมา เมื่อนำมาใช้จริงจะส่งผลกระทบในทางปฏิบัติอย่างมาก


“แม้ว่ากฎหมายฉบับนี้จะมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตข้าวตลอดห่วงโซ่อย่างบูรณาการ มีกลไกควบคุมการผลิตและจำหน่ายข้าวเปลือกอย่างเป็นระบบ สร้างความเป็นธรรม กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวจากทุกภาค เพื่อไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ซึ่งในกฎหมายควรให้มีการดูแลทั้งส่วนของชาวนา โรงสี พ่อค้าข้าว พ่อค้าข้าวถุง และผู้ส่งออก รวมถึงผู้ซื้อผลพลอยได้จากข้าวด้วย ไม่ใช่กำกับดูแลเฉพาะโรงสี หรือพ่อค้าข้าวเปลือกซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานเท่านั้น”

อีกทั้งร่างนี้ได้จัดทำฐานข้อมูลเพื่อนำไปใช้ในเชิงบริหาร โดยระบุหน้าที่และอำนาจของกรมการค้าฯเพิ่มเข้ามา เพื่อทำหน้าที่รวบรวมวิเคราะห์ข้อมูล นำเสนอ และเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้านการส่งเสริมจากภาครัฐให้แก่เกษตรกรในอนาคต ซึ่งอาจทำให้เกิดการทำงานซ้ำซ้อนเกิดขั้นตอนด้านการค้าเกินจำเป็น และลดประสิทธิภาพการค้าข้าวลงไป

แหล่งข่าวจากวงการโรงสีกล่าวว่า ประกาศใช้ในทางปฏิบัติจะเป็นปัญหามาก โดยเฉพาะการออกใบรับซื้อข้าวจะเป็นปัญหาให้กับโรงสีทุกโรง เพราะโดยหลักของการค้าขายที่แท้จริงแล้ว คนขายสินค้าจะต้องมีการทำใบส่งสินค้า หรือที่เรียกว่า ใบกำกับสินค้า (invoice) ต้องระบุชนิดสินค้า จำนวน ราคา แล้วส่งให้กับผู้ซื้อสินค้านั้น แต่ข้าวเปลือกกลับกลายเป็นชาวนาส่งมาให้โรงสีเป็นผู้ตรวจสอบสินค้าและก็ตีราคา สินค้านั้นจึงเกิดสิ่งที่ไม่เข้าใจตรงกันว่าคุณภาพข้าวของคนมาขายคืออะไร เมื่อได้ราคาไม่ได้ดั่งใจก็จะบอกว่าโรงสีกดราคารับซื้อ ฉะนั้น กฎหมายนี้ควรต้องขึ้นทะเบียนชาวนา และรับรองชนิดพันธุ์ข้าว น้ำหนักปริมาณความชื้นแล้วส่งมาให้โรงสีเป็นผู้ตรวจรับสินค้าอีกครั้งหนึ่งถึงจะถูกต้องตามหลักการค้าขาย

“จากการตามอ่านร่าง พ.ร.บ.แล้วจะมุ่งเน้นไปที่โรงสีและผู้รับซื้อข้าวเปลือกเท่านั้น โดยมีการกำหนดบทลงโทษทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งยังไม่ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่การค้าข้าวอย่างครบวงจรที่แท้จริง ประเด็นเรื่องบทลงโทษนี้จะทำให้เกิดผลเสียต่อการรับซื้อข้าว”

สอดคล้องกับ ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยที่มองว่า การประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นควรดำเนินการให้รอบด้าน เพราะประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมค้าข้าวทั้งระบบและเดิมมีกฎหมายที่หลายหน่วยงานดูแลอยู่แล้ว หากมีการบังคับใช้แล้วเกิดผลกระทบทางปฏิบัติ ย่อมจะทำให้เกิดต้นทุนแฝงของผู้ประกอบการ ซึ่งในท้ายที่สุดต้นทุนดังกล่าวจะถูกผลักไปสู่เกษตรกรในรูปแบบของการลดราคารับซื้อ แต่ก็มีบางประเด็นที่เห็นด้วย เช่น การกำหนดโซนนิ่งพื้นที่ปลูกข้าว

ขณะที่ รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่าร่างกฎหมายนี้เน้นการควบคุมและกำกับการซื้อขายข้าวเปลือกมากกว่าการพัฒนา เพราะมีสมมุติฐานว่าชาวนาถูกโรงสีกดราคา ถือว่าเป็นแนวคิดที่ล้าสมัย และเป็นอันตรายต่อการค้าข้าวมาก โดยเฉพาะในมาตรา 13 ที่กำหนดให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว เพื่อพยากรณ์ราคาข้าว ซึ่งไม่มีใครที่ไหนในโลกสามารถทำได้ เพราะราคาข้าวขึ้นอยู่กับตลาดโลก หากจะพยากรณ์ควรพยากรณ์ผลผลิตให้ความแม่นยำมากกว่า อีกทั้งข้อกำหนดที่บังคับควบคุมผู้ประกอบการโรงสีในทางปฏิบัติอาจเป็นการสร้างภาระต้นทุนส่งผลกระทบต่อการค้าข้าว ดังนั้น หากบังคับใช้จะทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันภาคเกษตรแน่นอน และบทลงโทษถึงขั้นจำคุกนั้น ถือว่าเสี่ยงที่จะขัดต่อมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ

ประเด็นเรื่ององค์กรในหมวด 2-4 มุ่งเน้นให้อำนาจกรมการข้าวเพิ่มขึ้น ถือว่าขัดแย้งกับพันธกิจเดิมที่กรมจะต้องทำงานวิจัยไม่ใช่ไปทำงานกำกับดูแลควบคุมการค้า ซึ่งเป็นหน้าที่องกระทรวงพาณิชย์ กรมการข้าวไม่ได้มีความเชี่ยวชาญ และไม่มีกำลังคนมากเพียงพอ หากจะดำเนินการต้องเพิ่มกำลังคนซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มภาระให้รัฐ

“กฎหมายนี้ออกโดยความคิดที่ล้าสมัยเรียกว่า กฎหมายยุคสงครามโลก หากต้องการปรับกฎหมายต้องลดเรื่องการให้อำนาจกำกับ ควบคุม และหันไปเน้นการทำวิจัยและพัฒนา เราทำได้เพียงเตือนถ้าผ่านร่างกฎหมายนี้ไปไทยจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันภาคเกษตรแน่นอน”

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!