อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา GISTDA รุกอัพเกรดเทคโนโลยี

“พายุโซนร้อนปาบึก” พายุที่รุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปี ผ่านไปแล้ว เป็นลูกสุดท้ายในฤดูกาลพายุปี 2561 (เดือน พ.ค. 61-ม.ค. 62) สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ 8 จังหวัดทางภาคใต้ แต่หลังจากนี้ไทยคงต้องปรับตัวรับมือต่อความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจจะมีผลทำให้ “วงรอบ” ของการเกิดพายุเปลี่ยน ไทยจำเป็นต้องมีเจ้าภาพในการพัฒนาเครื่องมือและเทคโนโลยีใหม่ที่จะช่วยเพิ่มความแม่นยำในการพยากรณ์อากาศของไทยเอง “ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา” ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) GISTDA ถึงทิศทางการทำงานหลังจากนี้

จับตา “อากาศเปลี่ยน”

พายุโซนร้อนปาบึก เป็นลูกสุดท้ายของฤดูพายุปี 2561 หากประเมินจากสถิติพายุในภูมิภาคตามวงรอบทำให้มั่นใจว่าโอกาสที่จะมีพายุลักษณะนี้อีกมีน้อยมาก หรือประมาณไม่ถึง 5% ซึ่งโดยปกติจะมีพายุลักษณะนี้วงรอบประมาณทุก 15-20 ปีนับจากที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ คือ พายุลินดาในปี 2540

อย่างไรก็ตาม จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกก็อาจจะมีผลทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและความถี่ของวงรอบได้ เช่น เดิมเคยมีทุก 15 ปี ก็อาจจะเร็วขึ้นเป็นทุก 5 ปี ซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องมีแนวทางในการพัฒนาองค์กรเพื่อเตรียมความพร้อมในการมอนิเตอร์และพยากรณ์ให้เกิดความแม่นยำ เพิ่มมากขึ้นในอนาคต

ปัจจุบันในส่วนของ GISTDA มีหน้าที่ประเมินพื้นที่เสี่ยงที่จะได้รับความเสียหายจากพายุ เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการเยียวยาผลกระทบ เช่น ไร่นาพื้นที่เกษตรเสียหายเท่าไร แจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาเป็นหน่วยงานปฏิบัติการทำหน้าที่พยากรณ์อากาศ ซึ่งภายในกรมจะมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่วิจัยและพัฒนา แต่ไม่ได้เป็นภารกิจหลักในการวิจัยและพัฒนา

การวางแนวทางรับมือภูมิอากาศ

ประเทศไทยจำเป็นต้องมีหน่วยงานหลักที่จะเข้ามาดูแลทำหน้าที่เป็นหน่วยงานวางยุทธศาสตร์ และที่สำคัญจะต้องพัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือในการทำงาน ซึ่งหน่วยงานที่น่าจะเหมาะสมที่จะเป็นเจ้าภาพคือ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่กำลังอยู่ระหว่างควบรวมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นกระทรวงวิจัยและอุดมศึกษา

และขณะนี้ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์พยายามผลักดันเรื่องนี้ โดยการเร่งการยกร่างกฎหมายประมาณ 4-5 ฉบับ เช่น เบโดลแอกต์ (Bayh-Dole Act) ระบบจัดการทรัพย์สินทางปัญญาที่เอื้อให้เจ้าของผลงานวิจัยเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หากกฎหมายนี้สำเร็จ จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยการส่งเสริมให้นักวิจัยที่พัฒนาผลงานสามารถนำผลงานไปจดทะเบียนคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ให้ได้ เช่น จากเดิมที่เป็นเจ้าของงบประมาณ 100% ต่อไปจะแบ่งปันผลประโยชน์กันได้ หากแก้ไขกฎหมายสำเร็จจึงจะถือว่าเป็นการปฏิรูปเรื่องนี้

ลุยสร้างเทคโนโลยีลดนำเข้า

ในอดีตไทยพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยี 100% จากต่างประเทศ ปัจจุบันเรามีนโยบายที่จะมุ่งเน้นส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การพัฒนาเทคโนโลยีเอง ตามแนวทางไทยแลนด์ 4.0 ฉะนั้น ไทยควรมีการปรับเข้าสู่การพัฒนาเทคโนโลยีเอง เหมือนกับประเทศเกาหลีใต้ หรือญี่ปุ่น ที่ต่างก็มีการพัฒนาเช่นกัน แต่ที่ผ่านมาจะเห็นว่าสัดส่วนงบประมาณส่วนใหญ่เป็นงบประมาณสำหรับการจัดซื้อเทคโนโลยีมากกว่าเป็นงบประมาณสำหรับการคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยี

จุดที่น่าสังเกตคือ การเสนอขออนุมัติงบประมาณในแต่ละปี มักจะมีการให้ชี้แจงว่าเมื่อได้งบประมาณไปแล้วจะพัฒนาให้เห็นเมื่อไร ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีต้องใช้เวลา แค่ใช้เวลาในการพัฒนาคน ก็ไม่สามารถจะระบุกรอบเวลาชัดเจนได้ว่าพัฒนาแล้วจะสำเร็จเมื่อไร ไม่เหมือนกับการสั่งซื้อเทคโนโลยี ซึ่งพอได้เงินมาก็ซื้อได้เลย นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชี้วัดได้ลำบาก หากเทียบกับประเทศอย่างเกาหลีหรือญี่ปุ่น ซึ่งจัดสรรงบฯสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีประมาณ 2% ของจีดีพี หรือหน่วยงานด้านอวกาศของเกาหลี ญี่ปุ่น มีการแบ่งสัดส่วนงบประมาณครึ่งหนึ่งหรืออย่างน้อย 25% ของงบประมาณสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยี ในส่วนของ GISTDA มีงบประมาณ 700 ล้านบาทต่อปี ซึ่งแบ่งเป็นงบประมาณสำหรับพัฒนาประมาณ 7 ล้านบาท หรือ 10% ซึ่งควรจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 25% ของงบประมาณที่เราได้

ยกตัวอย่างเช่น โครงการธีออส 2 ต้องมีการถ่ายทอดให้มีการพัฒนาตัวเอง ซึ่งเราสามารถทำได้ระดับโครงการ แต่พอโครงการจบก็ยังไม่รู้ว่าจะมีความต่อเนื่องไปอีกเท่าไร เทคโนโลยีไทยปัจจุบัน ตอนนี้ระดับการพยากรณ์ของเรามีความแม่นยำสูง แต่ไม่ได้ 100% นะ เพียงแต่ในทางทฤษฎียังสามารถพัฒนาได้ดีกว่านี้ อย่างการพยากรณ์อากาศที่แม่นยำ การสร้างแบบจำลองสภาพอากาศ

ตั้ง “EPS” รุกพัฒนาวิจัย

กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กำลังตั้ง EPS (The Earth, Planets and Space) หรือศูนย์วิจัยโลก ดาวเคราะห์ และอวกาศ ในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) ซึ่งขณะนี้เตรียมตั้งเสนอของบประมาณปี 2563 อยู่ โดยศูนย์นี้จะเป็นศูนย์วิจัยที่ทำหน้าที่บริหารงานวิจัย แต่ไม่ใช่

สภาวิจัย (Funding) ดูแลเฉพาะ เนื่องจากที่ผ่านมาเรามีมหาวิทยาลัยจำนวนมาก มีการวิจัยและพัฒนาออกมาก็จริง แต่ยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการใช้ ดังนั้น หากต้องการดำเนินการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม องค์ความรู้ขนาดนี้ เราจำเป็นต้องแยกผู้บริหารจัดการงานวิจัยออกจากผู้ทำวิจัย ซึ่งเดิมจะทำหน้าที่ทั้งทำวิจัยและบริหารโครงการ

ทั้งนี้ ผู้บริหารจัดการงานวิจัยจะต้องเป็นมืออาชีพ ที่ผ่านมาหัวหน้าโครงการทำหน้าที่บริหารเอง แต่ไม่ใช่โครงการใหญ่ ขนาด 100-200 ล้านบาทต่อปี ซึ่งต้องอาศัยผู้บริหารมืออาชีพ เรายอมรับว่าอาจารย์ที่ทำวิจัยก็เชี่ยวชาญทางด้านวิชาการ แต่ควรแยกออกจากกัน

บทบาทศูนย์ EPS

ศูนย์นี้จะทำหน้าที่บริหาร และอำนวยความสะดวก กำหนดทิศทางการทำวิจัย เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการใช้งานวิจัย จากเดิมที่นักวิจัยอาจจะมุ่งเน้นวิจัยตามความสนใจ ซึ่งอันนั้นก็ยังสามารถทำได้ แต่ในระยะนี้จำเป็นต้องมีการกำหนดทิศทางวิจัยที่ตรงกับความต้องการใช้ เพื่อลดงบประมาณในการนำเข้าหรืองบประมาณที่เสียไปซื้อปีละหมื่น ๆ ล้านบาท ทั้งที่หากเราทำเองจะมีต้นทุนต่ำกว่า เช่น อาจจะใช้งบประมาณ 200-300 ล้านบาทต่อปี ในระยะเวลา 5 ปี จะพัฒนาเทคโนโลยีเข้ามาแทนได้

กรอบระยะเวลาดำเนินการ ตามแผนวางไว้ 7-8 ปี จึงจะเห็นศูนย์นี้เป็นรูปเป็นร่าง เพราะจะใช้พื้นที่ EECi ซึ่งปัจจุบันนี้ยังเป็นพื้นที่ไร่มันสำปะหลัง จะต้องดำเนินการทั้งเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง และกระบวนการต่าง ๆ ซึ่งในเรื่องสิ่งปลูกสร้างก็ทำไป ส่วนในปีนี้เป็นปีแรกสามารถจะเริ่มดำเนินการบางส่วนโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ดำเนินการไปพลาง ๆ ก่อน เพื่อให้การดำเนินงานไปได้ในช่วงระหว่างนี้

ดร.อานนท์สรุปภาพให้เห็นว่า ที่ผ่านมาหลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องยากที่เราจะพัฒนาและเป็นเจ้าของเทคโนโลยีเอง แต่ GISTDA ทำสำเร็จมาแล้ว โดยได้มีการจัดสรรงบประมาณหลักร้อยล้านบาท ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียม ที่สร้างเองทั้งหมด ใช้งบประมาณในการพัฒนาไม่ถึง 100 ล้านบาท จากที่เคยซื้อ 1,000 ล้านบาท มีสิทธิบัตรเป็นของจิสด้า สามารถขายเทคโนโลยีนี้ให้กับต่างชาติได้

ล่าสุดได้มีบริษัทอิสราเอลเข้ามาเจรจาติดต่อขอซื้อซอฟต์แวร์นี้ อยู่ระหว่างการต่อรองราคา คาดว่าระดับราคาที่ได้จะมีมูลค่ามากนับร้อยล้านบาท ซึ่งนี่เป็นตัวอย่างว่าเราสามารถพัฒนาเทคโนโลยีของเราเองได้ แต่การพัฒนาเทคโนโลยีนี้ใช้เวลา 4-5 ปี ไม่ใช่แค่ปีเดียว เริ่มตั้งแต่สร้างคนสร้างทีมงานก่อน และที่สำคัญเมื่อสร้างคนแล้วต้องรักษาบุคลากรนั้นไว้ให้ได้

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!