“บอร์ดบีโอไอ” คลอดมาตรการระบบรางชี้เป้าขอนแก่น-โคราชได้ยกเว้นภาษี5ปี ด้านมาตรการท่องเที่ยวปรับเงื่อนไขวงเงิน

บอร์ดบีโอไอเห็นชอบ 2 มาตรการพิเศษ เน้นส่งเสริมและสร้างการเชื่อมโยงการกระจายรายได้ การพัฒนาภูมิภาค และเพิ่มโอกาสการลงทุนทั่วประเทศ โดยส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมระบบราง พัฒนาระบบโลจิสติกส์ ไปสู่ภูมิภาคและส่งเสริมการสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่าที่ประชุมได้พิจารณามาตรการสำคัญหลายเรื่อง ซึ่งจะช่วยให้เกิดการกระจายรายได้และสร้างโอกาสในการลงทุนสู่ภูมิภาค รวมทั้งเพื่อสร้างความเชื่อมโยงเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปสู่การท่องเที่ยวในระดับท้องถิ่น และที่ประชุมได้เห็นชอบมาตรการสำคัญ 2 เรื่อง ดังนี้

สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบราง

1.มาตรการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมระบบรางและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง สืบเนื่องจากในอนาคต จะมีการพัฒนาระบบรางระยะทางรวมมากกว่า 6,000 กิโลเมตร ทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า และรถไฟความเร็วสูง จึงเป็นโอกาสอันดีในการสร้างอุตสาหกรรมในประเทศจากความต้องการในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ด้วยการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย และลดการพึ่งพาการนำเข้า ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้ปรับปรุงประเภทกิจการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการผลิตชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์สำหรับระบบรางที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญ และการผลิตชิ้นส่วนและ/หรือระบบสนับสนุนที่จำเป็น อาทิ การผลิตโครงสร้างหลัก ตู้โดยสาร ห้องควบคุมรถและอุปกรณ์ โบกี้ ระบบห้ามล้อและ/หรือชิ้นส่วนสำคัญ ระบบไฟฟ้าและระบบจ่ายไฟฟ้า ระบบควบคุมและระบบอาณัติสัญญาณ รางและชิ้นส่วนราง เป็นต้น รวมทั้งการออกแบบทางวิศวกรรม

นอกจากนี้ ยังกำหนดมาตรการพิเศษเพื่อเร่งให้เกิดการลงทุนในกลุ่มกิจการอุตสาหกรรมระบบรางและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องเพื่อให้สอดคล้องกับแผนงานรองรับระบบขนส่งมวลชนทางรางของภาครัฐในอนาคต โดยกิจการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2564 นี้ จะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 3-5 ปี นับจากวันสิ้นสุดการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลของโครงการ ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติ หากลงทุนตามเงื่อนไขที่กำหนด

“นอกจากมาตรการของบีโอไอจะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตในระบบรางแล้ว ยังเป็นแรงผลักดันหนึ่งในการช่วยสร้างความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนา และการพัฒนาบุคลากรระหว่างบริษัทเอกชนและสถาบันการศึกษาด้วย และที่สำคัญระบบรางต่างๆ จะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศด้วย” เลขาธิการบีโอไอกล่าว

ปรับปรุงเงื่อนไข – เพิ่มกิจการท่องเที่ยว

2.นโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การท่องเที่ยวเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคอื่นๆ ได้ ทั้งในภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ จึงควรกระตุ้นให้เกิดการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว และการสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่มีความหลากหลายมากขึ้น และสอดคล้องกับทิศทางยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน คณะกรรมการจึงเห็นชอบให้ปรับปรุงประเภทกิจการด้านการท่องเที่ยวที่ให้การส่งเสริมอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งเปิดให้การส่งเสริมประเภทกิจการใหม่ ดังนี้

1.ปรับปรุงแก้ไขหรือขยายขอบเขตประเภทกิจการรวมถึงเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนเดิม อาทิ กิจการพิพิธภัณฑ์ เพื่อส่งเสริมกิจการพิพิธภัณฑ์ในรูปแบบที่หลากหลายขึ้น รวมทั้งพิพิธภัณฑ์ในเมืองรองต่าง ๆ

2.เพิ่มประเภทกิจการ ได้แก่ 1) กิจการท่าเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ (CRUISE TERMINAL) เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อรองรับการท่องเที่ยวสำราญทางน้ำ โดยเฉพาะเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ (CRUISE) 2) กิจการสร้างแหล่งท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพ เพื่อสนับสนุนให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่มีขนาดใหญ่ และได้มาตรฐาน สำหรับดึงดูดนักท่องเที่ยว

ไฟเขียวส่งเสริมการลงทุนบริษัท ไออาร์พีซี

ที่ประชุมได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนแก่บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ในการขยายกิจการผลิตผลิตพาราไซลีน (PARAXYLENE) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นหลักสำหรับการผลิตโพลีเอสเตอร์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง เช่น เส้นใยโพลีเอสเตอร์ เม็ดพลาสติกที่ใช้ในการผลิตขวดน้ำดื่ม เป็นต้น และสารเบนซีน (BENZENE) ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตปิโตรเคมีขั้นปลายชนิดพิเศษอื่นๆ เงินลงทุนทั้งสิ้น 35,960 ล้านบาท ตั้งกิจการอยู่ที่เขตอุตสาหกรรมของบริษัท ไออาร์พีซี จังหวัดระยอง โครงการนี้จะใช้เทคโนโลยีการผลิตใหม่ล่าสุด และเป็นการผลิตเพื่อรองรับตลาดในประเทศและส่งออกซึ่งกำลังขยายตัว