ปี”62 ปีทองลงทุน “EEC” 5 โครงการสร้างพื้นฐาน-New S-curve

ก้าวเข้าสู่ปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่ได้ชื่อว่ามีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ทั้งการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย รวมถึงผลจากสงครามการค้า แต่อย่างไรก็ตามยังต้องยกให้ปีนี้เป็น “ปีทองของการลงทุน” โดยเฉพาะการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญที่ไทยใช้เป็นแม็กเนตดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ

ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านเริ่มเห็นสัญญาณการลงทุนต่างชาติไหลโดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น เกาหลี หรือแม้กระทั่งจากฝั่งยุโรปและอเมริกา ไหลเข้ามาจำนวนมาก ด้วยความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางภูมิภาคอาเซียน เป็นแหล่งวัตถุดิบ บวกกับนโยบายส่งเสริม การลงทุนอย่างต่อเนื่อง

สรุป 5 โครงการ EEC ก.พ.นี้

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) กล่าวว่า ในเดือนกุมภาพันธ์นี้จะได้ข้อสรุปผู้ชนะโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใน EEC ทั้ง 5 โครงการ ซึ่งนับว่าเดินหน้าได้ตามแผน

ตั้งธุรกิจในพื้นที่ EEC พุ่ง

ภาพการกระตุ้นการลงทุนในอีอีซี ยังเป็นปัจจัยบวกที่มีส่วนช่วยเสริมให้ธุรกิจใน 3 จังหวัดคึกคักขึ้น โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ระบุว่า มียอดจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในพื้นที่อีอีซี ช่วง 11 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ย.) มากถึง 6,645 ราย เพิ่มขึ้น 5.75% จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว เป็นทุนจดทะเบียน 18,349 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 4.14% พื้นที่ จ.ชลบุรีสูงที่สุด

ในประเภทอสังหาริมทรัพย์ 1,193 รายเพิ่มขึ้น 17.95% ทุนจดทะเบียน 4,165.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.70% รองลงมา ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 549 ราย เพิ่มขึ้น 8.25% ทุนจดทะเบียน 837.25 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 4.56% และ 3.ภัตตาคาร/ร้านอาหาร 283 ราย เพิ่มขึ้น 4.25% ทุนจดทะเบียน 646.81 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.53%

ชู “อีอีซี-New S-curve”

สำหรับแนวโน้มการลงทุนในอีอีซี ปี 2562 ยังคึกคัก แม้ว่าไทยกำลังก้าวเข้าสู่ช่วงการเลือกตั้ง แต่ “นายอุตตมสาวนายน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุในงาน Economic Challenges 2019 ว่า เห็นได้ชัดเจนจากการสำรวจขององค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ถึงความเชื่อมั่น

ของนักลงทุนมาตั้งแต่ปี 2561 ที่ชัดเจนขึ้น สะท้อนว่า EEC คือ ปัจจัยสำคัญที่ดึงการลงทุนเข้ามา บวกกับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve ทำให้ภาพรวมการลงทุนปีที่แล้วเป็นไปตามเป้าที่รัฐบาลตั้งไว้ และจะเห็นการลงทุนจริงปีนี้แน่นอน แต่หลังจากการเลือกตั้งยังต้องรอดูว่ารัฐบาลชุดใหม่จะสานต่อนโยบายนี้มากน้อยเพียงใด

สำหรับภาพการลงทุนใน 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-curve) ที่จะเป็นดาวรุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ อย่างอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ มีนักลงทุนเตรียมยื่นขอส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) 2,000-3,000 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นภาพเม็ดเงินลงทุนจริงในปีนี้ และหาก พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. ….ผ่าน จะมีส่วนช่วยให้สามารถพัฒนาต่อยอดน้ำอ้อยไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่น เช่น ยา ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มมหาศาล

ส่วนอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์จะเริ่มก้าวสู่การเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยานในพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา แม้ว่าจะยังไม่ใช่การประกอบเครื่องบิน อุตสาหกรรมหุ่นยนต์จะเป็นตัวเปลี่ยนระบบการทำงานเดิมมาสู่อัตโนมัติ อุตสาหกรรมดิจิทัลนำเครือข่าย 5G มาใช้พัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ด้วยแพลตฟอร์มการค้าขายออนไลน์ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรที่ไทยจะเป็นฮับ และยังมีอุตสาหกรรมเดิมยานยนต์จะถูกพัฒนาไปสู่ยานยนต์สมัยใหม่และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งได้มีการลงทุนด้านแบตเตอรี่รถยนต์ EV และโรงงานผลิตชิ้นส่วนใหม่ ๆ สูงถึง 30,000 ล้านบาทแล้ว

ทั้งหมดนี้เป็นบทสรุปว่า นับแต่ปี 2559 เป็นต้นมา จากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ต้องการปฏิรูปประเทศไปสู่การเป็น Thailand 4.0 ท่ามกลางปัจจัยลบเรื่องสงครามการค้า ประเทศไทยต้องเรียนรู้ที่จะใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส หากปีนี้ประเทศไทยสามารถขับเคลื่อนนโยบายอีอีซีได้ดี มีความชัดเจนทางการเมือง เชื่อว่าปีนี้ยังคงเป็นปีทองการลงทุนต่อไป

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!