ไทยนั่งแท่น”ประธานอาเซียน” “ม.หอการค้า”ชี้เงินสะพัด1.5พันล้าน

แฟ้มภาพ

ไทยประเดิมหน้าที่ประธานอาเซียนนัดแรกปี”62 มุ่งเดินหน้าความตกลง RCEP ชู 12 ประเด็นผลักดันการค้า-ลดมาตรการทางการค้า ด้าน “หอการค้าไทย” ชี้ไทยเจ้าภาพอาเซียน 180 ครั้ง ช่วยเม็ดเงินสะพัดธุรกิจจัดประชุม 1,500 ล้านบาท

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในโอกาสที่ไทยจะเป็นประธานการจัดประชุมอาเซียนในปี 2562 จะมีการจัดประชุมที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 180 ครั้ง คาดว่าจะมีผู้เดินทางเข้าร่วมการประชุมกว่า 300 คน โดยจะเริ่มการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจและการประชุมที่เกี่ยวข้องเป็นครั้งแรกขึ้นระหว่างวันที่ 12-18 มกราคม 2562 และจะมีการจัดสัมมนาเตรียมความพร้อมอาเซียนรับมือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) ในวันที่ 14 มกราคม 2562

นอกจากนี้ กรมยังต้องเตรียมจัดการประชุมอาเซียนส่วนเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น เช่น ในเดือนมีนาคม 2562 มีการประชุมอาเซียนระดับปลัด ในเดือนเมษายน 2562 ประชุมอาเซียนระดับรัฐมนตรีการค้า ที่จังหวัดภูเก็ต เดือนมิถุนายน 2562 การประชุมอาเซียนระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจครั้งที่ 2 เดือนกรกฎาคม กันยายน 2562

“ในโอกาสที่ไทยในฐานะประธานอาเซียนได้เสนอประเด็นเศรษฐกิจ 12 ประเด็น เพื่อขอให้ผลักดันร่วมกัน อาทิ การรับมือการปฏิวัติอุตสาหกรรม การผลักดันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) การลดมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีที่เป็นอุปสรรคทางการค้า การเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว
การทบทวนความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน การจัดทำระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง และการจัดทำความตกลงยอมรับร่วมในสาขายานยนต์ของอาเซียน รวมถึงการหารือกับประเทศคู่เจรจา 11 ประเทศ เช่น สหรัฐ สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น เกาหลี รัสเซีย อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา เป็นต้น”

ขณะที่นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า โอกาสที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมอาเซียนของไทยปีนี้ไทยคาดว่าจะมีเม็ดเงินในธุรกิจการจัดประชุมประมาณ 1,200-1,500 ล้านบาท เนื่องจากจะมีการจัดประชุมต่าง ๆ ภายในประเทศกว่า 180 ครั้ง ซึ่งในแต่ละครั้งจะมีผู้นำ และเจ้าหน้าที่ติดตามจากสมาชิก 10 ประเทศ และพันธมิตรอีก 6 ประเทศ ร่วมครั้งละ 40-50 คนต่อประเทศ

“ที่สำคัญการเป็นประธานอาเซียน ยังส่งผลดีต่อภาพความเชื่อมั่นที่มีต่อสมาชิก เป็นโอกาสในการหารือเพื่อผลักดันการเพิ่มการค้า ลดปัญหาอุปสรรคทางการค้า และการใช้ประโยชน์ด้านวัตถุดิบ แรงงานระหว่างกันให้มากขึ้น และยังเห็นภาพการเคลื่อนย้ายแรงงานได้น้อย ขณะที่ภาคเอกชน โดยเฉพาะเอสเอ็มอีก็ควรที่จะใช้โอกาสเข้าไปทำการค้า การลงทุน เชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยว หรือธุรกิจด้านบริการให้มากขึ้น เพราะหากเปรียบเทียบแล้วเอสเอ็มอีไทยยังไปลงทุนในอาเซียนน้อย