ชุติมา บุณยประภัศร “พาณิชย์” แก้ปมเผือกร้อนก่อนเลือกตั้ง

ในห้วงเวลาเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ กระทรวงพาณิชย์รับภารกิจสำคัญที่เป็นเผือกร้อนหลายเรื่อง ก่อนส่งไม้ต่อรัฐบาลใหม่ “ชุติมา บุณยประภัศร” อดีตปลัด ขึ้นมานั่งเก้าอี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ไล่เรียงแนวทางจัดการ 5 เรื่องเผือกร้อน ทั้งเรื่องการทำคลอดร่าง พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. …. ที่อยู่

ในช่วงโค้งสุดท้ายในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปลดล็อกปมสิทธิบัตรกัญชาที่ยื้อมาตั้งแต่ปลายปี 2561 ว่ารับจดได้หรือไม่ การติดตามค่าเสียหายโครงการจำนำข้าวยุคอดีตรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และล่าสุดวาระร้อนรัฐยกเลิกมาตรการเซฟการ์ดเหล็กรีดร้อนชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน รวมถึงเรื่องความพร้อมในการเป็นประธานอาเซียน

ปลดล็อกแก้ พ.ร.บ.ข้าว ฉบับ สนช.

ร่าง พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. …. นี้ผ่านมา โดยใช้กลไกทาง สนช. ร่วมกันเข้าชื่อสนับสนุน จึงไม่ได้กลับเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และกฤษฎีกาอีกครั้ง แต่ภายหลังมีชาวนาและผู้ประกอบการค้านมากซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นห่วง จึงมอบหมายให้เราไปแก้ไขตามกระบวนการ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทธุรกิจปัจจุบันให้ปฏิบัติได้จริง ขณะนี้ให้ นางจินตนา ชัยวรรณาการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปร่วมให้ความเห็นแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าว ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญคาดว่าจะสรุปได้ในสัปดาห์หน้า เพื่อให้ สนช.ได้โหวตรับร่างที่ปรับปรุงใหม่ วาระ 2 และ 3 ภายในเดือนนี้

อย่างไรก็ตาม ข้อดีคือ ร่างวางรากฐานเรื่องคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ให้มีกฎหมายรองรับ จากเดิมใช้มติ ครม. แต่ด้านอื่นจำเป็นต้องแก้ไข ยกเลิกเรื่องการให้อำนาจกรมการข้าวกำกับดูแลการค้าข้าว เพื่อให้ไปทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาพันธุ์ให้เต็มที่ ส่วนบทลงโทษนั้นเป็นการรวบรวมบทลงโทษจากกฎหมายเดิมที่ดึงเข้ามารวมในฉบับนี้ เช่น การค้าเมล็ดพันธุ์ปลอม ตาม พ.ร.บ.เมล็ดพันธุ์ เดิมจำคุก 3 ปี เพิ่มเป็น 5 ปี ส่วนการเอาผิดโรงสีจะเหลือเฉพาะการโกงตาชั่งตามกฎหมายชั่งตวงวัดเท่านั้น และเรื่องกองทุนข้าวต้องยกออกก่อน ยังเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก

นบข.เรียกค่าเสียหายจำนำข้าว

อีกเรื่องคือในการประชุม นบข. วันที่ 11 ม.ค.นี้ จะติดตามผลการดำเนินการขององค์การคลังสินค้า (อคส.) เรื่องการระบายข้าวสารจากโครงการรับจำนำ มี 2-3 ประเด็น คือ 1) ความคืบหน้าในการส่งมอบข้าวของ อคส. หลังจากกรมการค้าต่างประเทศประมูลไป รับมอบข้าวไปเท่าไร เพราะรัฐบาลจะไปแล้ว 2) ตามเรื่องข้าวนอกบัญชี กองล้มเหลือที่คาดว่าจะมีปริมาณเหลือ 0.9 ล้านตัน อยู่ที่ไหน ความรับผิดชอบคนที่จะจัดการทั้งเจ้าของโกดัง โกดังเช่า เซอร์เวเยอร์ 3) คดีข้าวไปถึงไหนแล้ว เคลียร์เสร็จหรือยัง ต้องคลีนอัพส่งไม้ต่อรัฐบาลใหม่ ซึ่งอคส.ส่งข้อมูลให้อัยการทำสำนวน 200 กว่าคดีก่อนหมดอายุความ ส่วนการปิดบัญชีรอบปี 2561 ทางกระทรวงการคลังที่ต้องสรุปเดือนก.ย. 61 ยังดำเนินการไม่เสร็จ แนวโน้มขาดทุนคงเยอะขึ้นจากครั้งก่อน (30 ก.ย. 2560) ขาดทุน 680,000 ล้านบาท จาก 4 โครงการจำนำข้าวร (ปี 2554/2555 ปี 2555/2556 และนาปรัง) เพราะรวมค่าเก็บรักษา ค่ารมยา ค่าดอกเบี้ย บวกเข้าไป แต่ถ้าขายไปหมดก็หักลดลง นี่ถือเป็นหน้าที่ นบข.ต้องจัดการข้าวสต๊อกไม่ให้กระทบราคาตลาด คืนเงินหลวงให้มากที่สุดและเร็วที่สุด

ความพร้อมในการเป็นประธานอาเซียน

ปีนี้ไทยจะเป็นประธานอาเซียน เป้าหมายสำคัญคือผลักดันความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจในภูมิภาค (RCEP) ที่ผ่านมา 6 ปีแล้วให้บรรลุผล ซึ่งก่อนหน้านี้คุยกับญี่ปุ่น และจีนแล้วมีสัญญาณที่ดี ต่อไปจะพบกับรัฐมนตรีการค้าอินเดียที่มุมไบ

ในช่วงที่ไปร่วมงานส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลอินเดีย ที่รัฐคุชราต ระว่างวันที่ 15-18 มกราคมนี้ จะผลักดัน RCEP สรุปทั้งเรื่องสินค้า บริการ และการลงทุน ซึ่งอินเดียผ่อนปรนยอมรับข้อเสนอในการเปิดตลาดลดภาษีสินค้า 86% จากที่ค้าขายกัน ส่วนอาเซียนจะลดภาษีสินค้า 90-92% เท่ากับที่เปิดเสรีอาเซียน+1 ส่วนประเด็นเปิดเสรีภาคบริการเหลือเพียงเจรจาให้เปิดตลาดให้สมดุลกัน การเคลื่อนย้ายคนแรงงาน ส่วนเรื่องการคุ้มครองการลงทุนและการเปิดตลาด ซึ่งในฐานะแชร์แมนต้องจัดเวทีให้สมาชิกมาคุยกัน จะมีประชุมย่อย 4 ครั้ง ก่อนจะสรุปผลสำเร็จปลายปีนี้

เซฟการ์ดเหล็กร้อนรัฐ

ประเด็นล่าสุดที่เกิดขึ้นหลังจากคณะกรรมการพิจารณามาตรการปกป้อง (คปป.) (7 ม.ค. 2562) มีมติ “ยุติ” การต่ออายุการใช้มาตรการปกป้อง (เซฟการ์ด) เหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออื่น ๆ ชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน ที่จะหมดอายุลงในเดือน ก.พ. 2562 ทำให้ผู้ผลิตเหล็ก (SSI และจีสตีล) กังวลถึงผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศนั้น “ต้องเข้าใจว่าการใช้เซฟการ์ดก็เหมือนรัฐบาลกางร่มช่วยเอกชนตอนฝนตกหนัก โดยมีเงื่อนไข 2 เรื่อง คือ ต้องมีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้น และต้องสร้างผลเสียหายต่ออุตสาหกรรม แต่การกางร่มจะทำตลอดไปไม่ได้ เอกชนต้องปรับตัวด้วย”

ตามหลักเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก (WTO) กำหนดให้ใช้เซฟการ์ดต่อเนื่องได้ไม่เกิน 10 ปี และต้องเว้นวรรค ไม่เช่นนั้นประเทศส่งออกมามีสิทธิ์ใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้ากับไทย (รีทาริเอต) กับไทยได้ เว้นแต่ไทยจะพิสูจน์ได้ว่าอุตสาหกรรมของไทยยังจำเป็นต้องได้รับการปกป้องต่อไป

ในกรณีนี้ไทยใช้เซฟการ์ดมา 2 รอบ รอบละ 3 ปี ล่าสุดต่ออายุเมื่อปี 2559-2562 ซึ่งผู้ผลิตขอต่อรอบ 3 อีก 3 ปี เพราะปรับตัวไม่ได้ และไม่มีเงินหมุนเวียน เรารับฟังความเห็นและพิจารณาผลการปรับตัวของผู้ผลิตแล้ว ไม่มีเหตุผลในการใช้เซฟการ์ดต่อไปอีก เนื่องจากคนที่เดือดร้อนต้องนำวัตถุดิบเข้ามาเสียภาษีเซฟการ์ด 30-40% และกระทบผู้บริโภคที่ต้องใช้สินค้าแพง บอกไม่มีเหตุผลอะไรจะต่ออีกแล้ว

ที่สำคัญตัวแทนรัฐบาลประเทศที่ถูกใช้เซฟการ์ด เช่น เกาหลี ตุรกี อียิปต์ จีน ระบุว่าถ้าต่อเซฟการ์ดอีกจะขอหารือ (คอนซัลต์) และใช้มาตรตอบโต้ทางการค้า (รีทาริเอต) ภายใน 30 วัน โดยจะไปขึ้นภาษีสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปยังประเทศนั้น เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ปิโตรเคมี ผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง

หากไทยจะต่อเซฟการ์ดต้องชี้แจงว่าอุตสาหกรรมยังอ่อนแอ แต่จากข้อมูลระบุว่ายอดขาดทุนของผู้ผลิตลดลงจากพันล้านเหลือไม่กี่ร้อยล้านบาท การจ้างงานก็เพิ่มขึ้น ถ้าช่วยต่ออีก 3 ปี

เป็น 9 ปี แล้วยังไม่ฟื้นก็ใช้เซฟการ์ดต่อไม่ได้แล้วนะ หากรัฐบาลไปอุ้มเขาแล้วจะรับผิดชอบความเสี่ยงต่ออุตสาหกรรมอื่นที่โดนตอบโต้อย่างไร คณะกรรมการดำเนินการตามกฎหมาย หลังจากนี้จะประชาพิจารณ์ ในวันที่ 29 ม.ค.นี้ และแจ้ง WTO ซึ่งประเทศที่จะตอบโต้ก็ยุติไม่ขอคอนซัลต์แล้ว ส่วนประเด็นที่กังวลว่าสงครามการค้าจะมีสินค้าทะลักมาไม่ต้องห่วงเรายังใช้มาตรการเอดี/เซฟการ์ดอีกได้

ปมสิทธิบัตรกัญชา

ส่วนปัญหาสิทธิบัตรกัญชายอมรับว่าเกิดจาก human error ในการรับคำขอจดสิทธิบัตร (ขั้นที่ 1) ซึ่งคำขอที่ยื่นมาไม่ได้ระบุตรง ๆ ว่าเป็นกัญชา หรือสารสกัดที่มีองค์ประกอบจากกัญชา แต่เป็นชื่อทางเคมี มีลิสต์ถึง 7-8 ชื่อ ทางเจ้าหน้าที่ตรวจสอบผิดพลาดไป ทำให้ผ่านเข้าสู่กระบวนการโฆษณา หากมีคนค้านก็จะเพิกถอนได้ แต่กรณีที่อ่านกฎหมายสิทธิบัตร (มาตรา 36) จะคิดว่าอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญามีสิทธิใช้ดุลพินิจเพิกถอนคำขอได้ นั้นเป็นผลจากกฎหมายเขียนไม่สมบูรณ์ และด้วยความที่ไม่สมบูรณ์จึงออก “แนวปฏิบัติในการดำเนินการตามมาตรา 36 หากอ่านเกณฑ์นี้จะรู้ว่า อธิบดีต้องดำเนินการแบบนี้ไม่เช่นนั้นจะถูกร้อง 157 เกณฑ์นี้ใช้มาหลาย 10 ปีแล้ว ตอนนี้กำลังแก้อยู่ที่กฤษฎีกา

และหากไม่มีผู้ค้านจนผ่านขั้นโฆษณาก็จะยังไม่ได้รับคุ้มครอง จนกว่าเจ้าของสิทธิบัตรจะยื่น (ขั้น 2) ให้กรมฯตรวจสอบความใหม่และความซ้ำซ้อน ซึ่งขั้นตอนนี้ยังไม่มีรายใดยื่น หรือแม้ว่าจะยื่นก็จะได้แค่การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเท่านั้น แต่ถ้าจะวางตลาดต้องไปขอ อย.อีก ซึ่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดไทยยังกำหนดให้กัญชาเป็นสารเสพติดวางตลาดไม่ได้ แต่หากกฎหมายยอมรับว่ากัญชาไม่ใช่สารเสพติดแล้วมีเจ้าของสิทธิบัตรมายื่นคำขอขั้น 2 เราพร้อมที่ทุกคนมา

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!