เป้าBOIปี62ดึงลงทุน 7.5 แสนล. โด๊ปเที่ยวเมืองรอง-บ้านบีโอไอ

BOI ตั้งเป้าคำขอรับส่งเสริมลงทุนปี 2562 ไว้ที่ตัวเลข 750,000 ล้านบาท หลังคำขอปีที่ผ่านมาทะลุเป้าถล่มทลายไปถึง 901,770 ล้านบาท จากโครงการรถไฟฟ้า EV กับโครงการปิโตรเคมี-ไบโอชีวภาพในพื้นที่ EEC

คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ตั้งเป้ายอดขอรับส่งเสริมการลงทุนประจำปี 2561 ไว้ที่ 720,000 ล้านบาท ขณะที่คำขอรับส่งเสริมการลงทุน 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน 2561) สามารถทำได้ 377,054 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1 ส่งผลให้เกิดกระบวนการเร่งรัดคำขอรับส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้ได้ยอดคำขอตามเป้าหมายที่วางไว้ปรากฏว่าหลังสิ้นสุดไตรมาส 4/2561 มีคำขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งปี 901,770 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 43 จาก โครงการที่ยื่นขอเข้ามาทั้งหมด 1,626 โครงการ โดยไตรมาส4/61 เพียงไตรมาสเดียวมีคำขอเข้ามาถึง 524,716 ล้านบาท จึงนับเป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการ BOI กล่าวว่า เป็นธรรมชาติที่เมื่อมีมาตรการส่งเสริมที่จะหมดอายุในปี 2561 อาทิ มาตรการส่งเสริมยานยนต์ประเภทปลั๊ก-อิน ไฮบริด และสถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้า (EV charger) ส่งผลให้คำขอรับส่งเสริมลงทุนเข้ามา “สูงกว่า” เป้าหมายที่ตั้งไว้ถึง 25% ประกอบกับมีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อย่าง ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม-อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (bio) ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนเข้ามาด้วย

ส่วนในปี 2562 BOI ได้ตั้งเป้ายอดขอรับส่งเสริมไว้ที่ 750,000 ล้านบาท โดยจะเน้นไปที่โครงการที่มีศักยภาพ รวมถึงการจัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนพิเศษให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีผลต่อการสร้างความเจริญให้กับท้องถิ่น ชุมชน ภูมิภาค เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เช่น กิจการพัฒนาเกษตรในท้องถิ่น, กิจการด้านคมนาคม ถนน เส้นทางเชื่อมเมืองรอง, กิจการท่องเที่ยวในเมืองรอง, กิจการโลจิสติกส์ รวมถึงโครงการบ้าน BOI สำหรับผู้มีรายได้น้อย ที่คาดจะมีการพิจารณากลับมาทำใหม่

พิพิธภัณฑ์-ระบบราง

ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการ BOI ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบปรับปรุง /ขยายขอบเขตประเภทกิจการ อาทิ จากเดิมกำหนดเป็น “กิจการพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ” ปรับเป็น “กิจการพิพิธภัณฑ์” และลดวงเงินลงทุนขั้นต่ำจาก100 ล้านบาท เป็น 30 ล้านบาท เพื่อเปิดกว้างให้พิพิธภัณฑ์ทุกประเภทอย่างพิพิธภัณฑ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน สามารถขอรับส่งเสริมการลงทุนได้

กิจการสนามแข่งยานยนต์กำหนดวงเงินลงทุนขั้นต่ำ 1,000 ล้านบาท เนื่องจากต้องการโครงการที่ดีมีมาตรฐานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะได้รับสิทธิประโยชน์โดยเฉพาะในเมืองรอง ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี

ขณะเดียวกันได้เพิ่มประเภทกิจการ ได้แก่ กิจการท่าเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ (cruise terminal) เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อรองรับการท่องเที่ยวสำราญทางน้ำ วงเงินลงทุนขั้นต่ำเป็น 100 ล้านบาท กับกิจการสร้างแหล่งท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพ เพื่อสนับสนุนให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ที่มีขนาดใหญ่และได้มาตรฐาน สำหรับดึงดูดนักท่องเที่ยว

นอกจากนี้ บอร์ด BOI ยังอนุมัติมาตรการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมระบบรางและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง สืบเนื่องจากในอนาคตจะมีการพัฒนาระบบรางระยะทางรวมมากกว่า 6,000 กิโลเมตร ทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง และพบว่า ในอนาคตอีก 20 ปี

จะมีความต้องการตู้รถไฟถึง 10,000 ตู้ รวมถึงลดการพึ่งพาการนำเข้า โดยการผลิตชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์สำหรับระบบรางที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญ และการผลิตชิ้นส่วนและ/หรือระบบสนับสนุนที่จำเป็น อาทิ การผลิตโครงสร้างหลัก ตู้โดยสาร ห้องควบคุมรถและอุปกรณ์ โบกี้ ระบบห้ามล้อและ/หรือชิ้นส่วนสำคัญ ระบบไฟฟ้าและระบบจ่ายไฟฟ้า ระบบควบคุมและระบบอาณัติสัญญาณ รางและชิ้นส่วนราง เป็นต้น รวมทั้งการออกแบบทางวิศวกรรม จะได้รับการยกเว้นภาษีรายได้นิติบุคคล 8 ปี

และหากยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2564 จะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นระยะเวลา 3 ปี (กรณีลงทุนทุกจังหวัดยกเว้น กทม.) และจะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นระยะเวลา 5 ปี (กรณีลงทุนใน จ.ขอนแก่น และนครราชสีมา) ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติ นับเป็นมาตรการเร่งการลงทุน

พร้อมปัดฝุ่นบ้าน BOI

แหล่งข่าวในวงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เคยแสดงเจตนารมณ์อยากเข้าร่วมโครงการบ้าน BOI แต่ติดเงื่อนไขที่ค่อนข้างยาก อาทิ คอนโดมิเนียมกำหนดราคาไว้ที่ 1 ล้านบาท ขนาดพื้นที่ 30 ตารางเมตร ที่เอกชนขอลดขนาดพื้นที่ลง และบ้านทาวเฮาส์กำหนดราคาไว้ที่ 1 ล้านบาท ขนาดพื้นที่ 16 ตารางวา จะขอปรับเพิ่มราคาเป็น 1.5 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุน และขอให้ BOI เพิ่มสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 5 ปี เป็น 8 ปีนั้น

ปรากฏในการทบทวนเพื่อนำโครงการบ้าน BOI พื่อส่งเสริมการลงทุนที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อยกลับมานั้น เดิมโครงการนี้มีมาตรการอยู่ก่อนแล้ว จะมีทั้งการกำหนดพื้นที่ของแต่และประเภทบ้านไว้ ซึ่งหากโครงการนี้กลับมาทำอีกครั้ง คงต้องกลับมาหารือกันใหม่ หากเอกชนสนใจที่จะร่วมโครงการ แต่ต้องมีเงื่อนไขและคุณภาพให้ได้ตามเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานที่อยู่อาศัย

สำหรับการขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ปี 2561 พบว่า มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมจำนวน 422 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 683,910 ล้านบาท

เป็นคำขอลงทุนในพื้นที่จังหวัดชลบุรีมากที่สุด จำนวน 193 โครงการ เงินลงทุนรวม 576,910 ล้านบาท ตามด้วยจังหวัดระยอง 156 โครงการ เงินลงทุนรวม 58,700 ล้านบาท และจังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 73 โครงการ เงินลงทุนรวม 48,300 ล้านบาท และปี 2562 คาดว่าการลงทุนจะไม่น้อยกว่า 300,000 ล้านบาท เทียบกับเป้าปีที่แล้ว

ส่วนแผนชักจูงการลงทุนหรือโรดโชว์ปลายเดือนมกราคมนี้ ทาง BOI เตรียมร่วมคณะเดินทางไปกับ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ยังประเทศญี่ปุ่น โดยมี “เมืองคันไซ” เป็นเป้าหมายหลัก จากนั้นยังมีประเทศเป้าหมาย เช่น จีน เกาหลี สหรัฐอเมริกา และกลุ่มยุโรป

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!