“อุตตม” รับข้อเสนอเอกชนดันกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ขึ้นแท่นฮับแปรรูปเกษตรและเซรามิก

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยนายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ได้หารือร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการและภาคเอกชนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน) อาทิ สภาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 สภาเกษตรกรกลุ่มภาคเหนือ สมาคมผู้ประกอบการไม้จังหวัดลำปาง ฯลฯ

ในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2562 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จังหวัดลำปาง 

นายอุตตมฯ กล่าวว่า กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 มีศักยภาพในด้านการเกษตร ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเกษตร และผลิตภัณฑ์เซรามิก โดยปัจจุบันมีการแปรรูปพืช ผัก ผลไม้ และสินค้าเกษตรขั้นต้นที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ วัตถุดิบสำคัญในพื้นที่ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด กาแฟ และพืชผลไม้เมืองหนาว ดังนั้น ภาคเอกชนโดยสภาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตลำปาง มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงอุตสาหกรรม และอุทยานวิทยาศาสตร์ในพื้นที่ภาคเหนือ จึงเห็นควรพัฒนานวัตกรรมการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรไปสู่ผลิตภัณฑ์เกษตรอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงเพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร และเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปในพื้นที่ให้มีขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจเชื่อมโยงสู่สากล ยกระดับกระบวนการผลิตอาหารแปรรูปให้มีมูลค่าเพิ่มสูงและสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในอนาคต และสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปให้เข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างเหมาะสม และเป็นการยกระดับการผลิตอุตสาหกรรมอาหาร และเกษตรแปรรูป ซึ่งเป็นอุตสาหกรรม S-Curve ให้มีขีดความสามารถในการสร้างมูลค่าให้กับผลผลิตทาง การเกษตรเพิ่มขึ้น พร้อมผลักดันเป็นอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่มีอนาคตและปักหมุดให้เป็นฟู๊ดวัลเลย์ของโลกต่อไป

โดยในส่วนของภาคเอกชนในพื้นที่ได้เสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนประกอบด้วย 1) การยกระดับกาแฟอะราบิก้าอย่างครบวงจร ภายใต้อัตลักษณ์กาแฟภาคเหนือ (Northern Boutique Arabica Coffee Hub) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ทำให้ภาคเหนือเป็นแหล่งผลิตเมล็ดกาแฟที่มีชื่อเสียง และเป็นการสร้างอาชีพให้กับชาวไทยภูเขา ให้มีรายได้สามารถเลี้ยงครอบครัวได้อย่างมั่นคง ด้วยการต่อยอดการผลิตสินค้าและบริการที่มีศักยภาพสูงด้วยภูมิปัญญาและนวัตกรรม และยกระดับการเป็นฐานผลิตเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัยเชื่อมโยงอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง ด้วยการพัฒนาองค์ความรู้และเสริมสร้างทักษะผู้ประกอบการ เกษตรกร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม 

2) การพัฒนาศักยภาพการออกแบบและการตลาดผลิตภัณฑ์เซรามิกและหัตถอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมแหล่งผลิตเซรามิกและหัตถอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของจังหวัดลำปาง ให้มีอัตลักษณ์ในเชิงศิลปวัฒนธรรมและมีคุณภาพ เป็นเมืองแห่งการออกแบบเซรามิกและหัตถอุตสาหกรรมควบคู่กับการส่งเสริมการท่องเที่ยว

ปัจจุบันมีโรงงานทั้งสิ้นประมาณ 200 โรง มีแรงงานอยู่ในภาคอุตสาหกรรมนี้และอุตสาหกรรมต่อเนื่องกว่า 20,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 เป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็กและอุตสาหกรรมครัวเรือน ส่วนโรงงานขนาดกลางจะเน้นการผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศ และโรงงานขนาดใหญ่จะผลิตและจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยขอรับการสนับสนุนเกี่ยวกับการจัดตั้งศูนย์ออกแบบและวิจัยเพื่อการพัฒนาวัตถุดิบดินขาวและแร่อื่นที่ใช้ในอุตสาหกรรมเซรามิกและพัฒนาการออกแบบเซรามิกและหัตถอุตสาหกรรม พัฒนาการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีและการออกแบบทันสมัยมีนวัตกรรม และได้มาตรฐานจัดตั้งโรงงานต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่มีการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ โดยใช้อุปกรณ์และเครื่องมือในเชิงเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในส่วนของอุตสาหกรรมเซรามิกซึ่งในพื้นที่มีศักยภาพ โดยในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมจะร่วมดำเนินงานกับภาคเอกชนในพื้นที่เพื่อผลักดันให้เป็นฮับของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เซรามิกด้วยการใช้เทคโนโลยีและการออกแบบมาช่วยโดยใช้เครื่องมือของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมเชียงใหม่ และศูนย์วิจัยและพัฒนาวัสดุและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มาร่วมดำเนินการ

3) ยกระดับนอร์ทเทิร์นไทยแลนด์ฟู๊ดวัลเลย์สู่การขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคตสู่ตลาดสากล (Northern Thailand Food Valley Scale-up for Future Food Innovation to International Market) เพื่อเป็นการพัฒนาพื้นที่เป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่มีประสิทธิภาพ ได้แก่ พื้นที่ ภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่เป้าหมาย Thailand Food Valley ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปที่สำคัญของประเทศให้มีมาตรฐานอาหารปลอดภัย (Local Food Safety Certify) เพื่อเป็นทางเลือกที่ดี และเป็นการเพิ่มราคาให้กับสินค้าเกษตร โดยมีแนวทางการดำเนินการ คือ 1) ยกระดับนอร์ทเทิร์นไทยแลนด์ฟู๊ดวัลเลย์สู่การขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคตสู่ตลาดสากล (Northern Thailand Food Valley Scale-up for Future Food Innovation to International Market) 2) ศึกษาสถานการณ์ตลาดของผลิตภัณฑ์อาหารในพื้นที่ภาคเหนือตามโจทย์ตลาดสากล พร้อมจัดทำแผนความเป็นได้ของการดำเนินธุรกิจ (Feasibility) 3) การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการที่มี R&D และผลิตภัณฑ์ต้นแบบ 4) ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหารโดยผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญ 5) ผลิตสินค้าเพื่อทดสอบตลาด 6) สร้างเครือข่ายของผู้ประกอบการเชื่อมโยงเข้าสู่ตลาด โดยมีระยะเวลาดำเนินการต่อเนื่อง 3 ปี (ปีงบประมาณ 2563-2565) งบประมาณรวม 150 ล้านบาท (ปี 63/30ลบ. ปี 64/60ลบ. ปี 65/60 ลบ.)

นอกจากนี้รัฐมนตรีฯ อุตตม พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่เพื่อพบปะผู้ประกอบการและเยี่ยมชมกิจการผลิตภัณฑ์เซรามิก บริษัท รอยัล เซรามิก จำกัด ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงอุตสาหกรรม ด้านสินเชื่อกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี ตามแนวประชารัฐ เพื่อใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ ด้วยเครื่อง ISO Static Press และ Robot เพื่อเพิ่มคุณภาพสินค้าและเป็นการลดต้นทุนในการผลิต พร้อมทั้งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกได้ ทั้งนี้สินค้าของบริษัทฯ เป็นสินค้าที่มีคุณภาพผ่านมาตรฐาน Food Contact จากนั้น ได้เดินทางไปยัง บริษัท เจริญแสง จำกัด ซึ่งประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากไม้ โดยได้รับการสนับสนุน ด้านสินเชื่อฯ จำนวน 10 ล้านบาท ในการก่อสร้างอาคารโรงงาน