อุตตมฯ สั่งการด่วนตั้งคณะทำงานฯ จัดการมลพิษ ฝุ่นละอองจากโรงงาน

กระทรวงอุตสาหกรรม มอบหมายอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศลงพื้นที่ กำกับ ดูแลสถานประกอบการเสี่ยง หากพบความผิดดำเนินการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาด

วันนี้ (15 มกราคม 2562) นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากปรากฏข้อมูลจากรายงานสถานการณ์และคุณภาพอากาศของประเทศไทย จากกรมควบคุมมลพิษ และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องว่า ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล รวมทั้งจังหวัดต่างๆ ในภูมิภาคที่พบว่า ดัชนีคุณภาพอากาศมีฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งสาเหตุของฝุ่นละอองดังกล่าว สามารถเกิดจากการเผาไหม้ทั้งยานพาหนะ การเผาวัสดุการเกษตร ไฟป่า รวมทั้งจากกระบวนการอุตสาหกรรมได้

กระทรวงอุตสาหกรรม โดยนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้หน่วยงานสังกัดในกระทรวงอุตสาหกรรมทั้งหมด รวมทั้งอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ให้เร่งกำชับให้ผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรมที่อยู่ในความรับผิดชอบ กำหนดมาตรการ และปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อป้องกันมิให้เกิดหรือลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ที่มีสาเหตุจากกระบวนการอุตสาหกรรม รวมทั้งให้ทำการสำรวจการประกอบกิจการอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงอันอาจเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาดังกล่าว และเข้าตรวจสอบกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาของภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ และรายงานผลการดำเนินการต่อไป

โดยในเบื้องต้นเพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ลุล่วงไปอย่างรวดเร็ว กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการ

1. ตั้งคณะทำงานวางแผนติดตามจัดการมลพิษ ฝุ่นละอองจากโรงงาน โดยมี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน มีนายสุรพล ชามาตย์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นรองประธาน ทำหน้าที่ตรวจสอบ ตรวจติดตาม การรายงานความคืบหน้าสถานการณ์ และการแก้ไขปัญหาจัดการมลพิษฝุ่นละอองจากโรงงาน

2. สั่งการให้เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ตรวจกำกับดูแลโรงงานที่มีความเสี่ยงปล่อยฝุ่นละอองทั่วประเทศ โดยเฉพาะโรงงานที่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง เช่น โรงงานที่มีหม้อไอน้ำโดยใช้เชื้อเพลิงแข็งเป็นเชื้อเพลิง ที่มีและใช้อยู่ภายในโรงงานทั่วประเทศ 14,000 กว่าลูก และโรงงานที่กระบวนการผลิตที่ก่อให้เกิดฝุ่นในปริมาณมาก เช่น โรงโม่หิน โรงงานผลิตแอสฟัลท์ติก โรงงานผลิตคอนกรีตสำเร็จรูปเพื่อการก่อสร้าง เป็นต้น และหากตรวจพบ การดำเนินกิจการมีการปล่อยมลพิษทางอากาศเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จะดำเนินคดีอย่างเด็ดขาดต่อไป

3. มอบหมายให้ศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงาน ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศทำงานควบคู่กับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ โดยทำการตรวจสอบวิเคราะห์และรายงานผลมลพิษทางอากาศ ของโรงงานที่มีการประกอบกิจการที่มีความเสี่ยงสูงทางด้านมลพิษทางอากาศ ในทุกๆ วัน จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย