พงศ์นเรศ วนสุวรรณกุล “ท่าฉาง” ผนึก “พีทีจี” ผุดปาล์มคอมเพล็กซ์

สัมภาษณ์

 

กลุ่มบริษัท ท่าฉางอุตสาหกรรม จำกัด บริษัทผู้ผลิตน้ำมันปาล์มแบบครบวงจรรายใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ มีธุรกิจในเครือถึง 6 บริษัท และล่าสุดได้ร่วมมือกับบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด ในการสร้างแหล่งผลิตไบโอดีเซล เพื่อรองรับความต้องการในอนาคต “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “พงศ์นเรศ วนสุวรรณกุล” กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทท่าฉางอุตสาหกรรม ถึงภาพรวมของกลุ่มธุรกิจ

Q : ที่มากลุ่มท่าฉางอุตสาหกรรม

กลุ่มท่าฉางอุตสาหกรรมเริ่มต้นด้วยการปลูกปาล์มน้ำมันบนพื้นที่ 4,500 ไร่ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตั้งแต่ปี 2529 จากนั้นได้พัฒนาและขยายธุรกิจไปยังสาขาอื่น ปัจจุบันมี 6 บริษัทในเครือ ประกอบด้วย บริษัท ท่าฉางสวนปาล์มน้ำมันอุตสาหกรรม จำกัด, บริษัท ท่าฉางรับเบอร์ จำกัด, บริษัท ท่าฉางโลจิสติกส์ จำกัด, บริษัท ริชพร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด, บริษัท ท่าฉาง ไบโอเพาเวอร์ จำกัด และบริษัท พีพีพี กรีน คอมเพล็กซ์ จำกัด มีพนักงานรวมทั้งสิ้น 400 คน

กลุ่มบริษัทมีเป้าหมายหลักต้องการขยายขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าให้เติบโต เทียบเท่ากับคู่แข่งในระดับนานาชาติ จึงได้คัดสรรบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ว่าจะได้รับสินค้าและบริการที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพสูงสุด โดยที่ผ่านมาบริษัทได้มาตรฐานทั้งในและต่างประเทศ ภายใต้สโลแกน “ผลิตสินค้าได้มาตรฐาน บริการฉับไว พัฒนาให้ก้าวไกลอย่างต่อเนื่อง”

Q : การเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจ

6 บริษัทในเครือมีการทำงานเชื่อมโยงกัน โดยนำผลผลิตที่เหลือจากบริษัทหนึ่ง นำไปผลิตต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุด และหากเหลือใช้นำไปขายได้ เพื่อให้เห็นคุณค่าของสินค้าที่รับซื้อจากภาคเกษตรกร

ยกตัวอย่างในกระบวนการสกัดปาล์มน้ำมัน เริ่มจากบริษัทท่าฉางสวนปาล์มน้ำมันอุตสาหกรรม เดิมเริ่มต้นจากขายผลผลิตปาล์มดิบ 16,000 ตันต่อปี ในพื้นที่ 4,500 ไร่ ต่อมาได้ขยายสายการผลิตเข้าไปสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยแปรรูปสินค้าเกษตรขั้นพื้นฐาน ด้วยการก่อตั้งโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบขึ้น เพื่อรองรับผลผลิตที่ผลิตได้ โดยโรงงานมีกำลังการผลิตสูงสุดสามารถรองรับผลผลิตปาล์มดิบได้ประมาณ 150 ตันต่อชั่วโมง สามารถผลิตน้ำมันปาล์มดิบได้ 220,000 ตันต่อปี และน้ำมันเมล็ดในปาล์ม 30,000 ตันต่อปีได้

นอกจากนี้แล้ว ยังนำชิ้นส่วนที่เหลือจากการสกัดน้ำมันปาล์มดิบ เช่น กะลาปาล์ม ทะลายเปล่า น้ำสลัดจ์ (น้ำที่อยู่ในทะลายปาล์ม) และเส้นใยปาล์ม ไปทำผลิตภัณฑ์ที่ใช้ประโยชน์ได้ เป็นการเพิ่มมูลค่า เพื่อเพิ่มรายได้ให้ผลผลิตปาล์มน้ำมัน

Q : จุดเริ่มต้นไปสู่ธุรกิจยางพารา

เมื่อเราทำผลผลิตปาล์มน้ำมันได้ครบวงจรแล้ว ได้เล็งเห็นสินค้าเกษตรตัวอื่น คือ ยางพารา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ และสร้างรายได้ให้กับไทยอย่างมากในช่วงปี 2543 กลุ่มท่าฉางอุตสาหกรรมจึงก่อตั้งบริษัท ท่าฉางรับเบอร์ จำกัดขึ้น เพื่อผลิตและจำหน่ายน้ำยางข้น สกิมบล็อก และสกิมเครป สำหรับลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ มีกำลังการผลิตประมาณ 152,000 ตันต่อปี โดยแยกเป็นน้ำยางข้นจำนวน 144,000 ตัน และสกิมบล็อก สกิมเครป 8,000 ตัน เพื่อให้ลูกค้าได้รับสินค้าที่มีคุณภาพ ซึ่งเราเองมีมาตรฐานและการตรวจสอบคุณภาพเมื่อรับซื้อสินค้าจากเกษตรกรรายย่อยมา ก่อนส่งออกให้ลูกค้า หรือนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากยางพารา เช่น ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย ยางยืด เป็นต้น

Q : ขนส่ง-พลังงานต้นทุนสำคัญ

ใช่ มีความสำคัญและเป็นต้นทุนสำคัญในการผลิตสินค้า ทางกลุ่มท่าฉางอุตสาหกรรมจึงได้ตั้ง บริษัท ท่าฉางโลจิสติกส์ จำกัด เพื่อขนส่งสินค้าของบริษัทในเครือ เช่น น้ำยางข้น สกิมบล็อก น้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันเมล็ดในปาล์ม กะลาปาล์ม เนื้อในของเมล็ดปาล์ม ทะลายเปล่า พร้อมให้บริการลูกค้าภายนอกด้วย

สำหรับธุรกิจพลังงานบริษัทได้ตัดสินใจลงทุน โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพร่วมกับบริษัท ไทย ไบโอแก๊ซ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (TBEC) ภายใต้ข้อตกลงประเภท Build Own Operate Transfer (BOOT) ในระยะเวลา 10 ปี บนพื้นที่ของกลุ่มบริษัทท่าฉางอุตสาหกรรม โดยโครงการท่าฉางได้เริ่มก่อสร้างระบบก๊าซชีวภาพ และระบบไฟฟ้าขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2550 และจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเมื่อเดือนกรกฎาคม 2552 กำลังการผลิต 2.8 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง ใช้วัตถุดิบ เช่น ทะลายปาล์มเปล่า เส้นใยปาล์ม และกะลาปาล์ม

Q : โครงการใหม่ของกลุ่มท่าฉาง

ตอนนี้กำลังทำโครงการใหม่ เพื่อทำให้เป็นศูนย์กลางในการผลิตไบโอแมส และสกัดน้ำมันปาล์ม ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง โดยจัดให้เป็นศูนย์คอมเพล็กซ์ในอุตสาหกรรมและแปรรูปแบบครบวงจรในจุดเดียว ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างกลุ่มบริษัทท่าฉางอุตสาหกรรม และบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) ถือเป็นความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตและผู้ซื้อมาอยู่ด้วยกัน คือ เราผลิตแล้วมีลูกค้ารองรับเป็นการลดต้นทุน ตอนนี้เล็งพื้นที่เป้าหมายในการก่อสร้างโครงการ และกระจายสินค้าไว้ 2 ที่ คือ จังหวัดสุราษฎร์ธานีและประจวบคีรีขันธ์ ในอนาคตอาจจะขยายไปในพื้นที่อื่นต่อไป ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อให้โครงการเกิดขึ้นโดยเร็ว

Q : อุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ

ปัจจัยสำคัญหลัก ๆ มาจากเรื่องของต้นทุนของเกษตรกร โดยเฉพาะเรื่องต้นทุนการเพาะปลูกที่ยังสูง ทำให้การแข่งขันลำบาก เช่น ปุ๋ย น้ำ หนี้สินครัวเรือน ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกษตรกรบางรายต้องตัดสินใจตัดปาล์มน้ำมันที่ยังไม่ได้คุณภาพนำมาขาย ซึ่งนอกจากจะได้ราคาไม่ดี ยังส่งผลต่อเนื่องมายังภาคอุตสาหกรรมแปรรูปด้วย โดยต้นทุนในส่วนนี้เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย ต้องยอมรับว่าประเทศไทยเสียเปรียบ 2 ประเทศนี้มาก

Q : การจัดโซนนิ่งปาล์มน้ำมัน

การทำโซนนิ่งสำหรับสินค้าเกษตร ถือเป็นสิ่งที่เดินมาถูกทางแล้ว แต่การจะทำให้เกิดขึ้นจริงเป็นเรื่องยาก หน่วยงานต้องดูแลควบคุมอย่างจริงจัง นอกจากนี้ ต้องส่งเสริมลดต้นทุนการเพาะปลูกและพัฒนาผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรแข่งขันกับต่างประเทศได้ เพราะคุณภาพผลผลิตปาล์มน้ำมันของไทยนั้นดี แข่งขันได้อยู่แล้ว ส่วนอีกปัจจัยที่น่ากังวลในอนาคต คือ เรื่องของแรงงานที่คาดว่าจะขาดแคลน จะทำให้ผลผลิตเข้าสู่โรงงานช้าและน้อยลง เพราะไม่มีแรงงานตัดปาล์มน้ำมัน

ส่วนการที่รัฐกำหนดให้โรงสกัดรับซื้อผลปาล์มสดเปอร์เซ็นต์น้ำมัน 18% มองว่าเป็นการดี แต่การปฏิบัติอาจจะเป็นเรื่องลำบาก หวังว่าหน่วยงานที่ดูแลจะเข้าไปให้ความรู้แก่ผู้ตัดปาล์ม เกษตรกรรายย่อยให้เข้าใจมากขึ้นว่าปาล์มคุณภาพควรจะตัดช่วงไหน เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อให้อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของไทยสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ เพราะเรามีศักยภาพในการแข่งขันเต็มที่อยู่แล้ว