รื้อTORแหลมฉบังเขย่าเพิ่มกำไร สะเทือนอู่ตะเภา-ซีพีฝ่าวิบากกรรมไฮสปีด

จ่อรื้อทีโออาร์ประมูลใหม่แหลมฉบังเฟส 3 วงเงิน 8.5 หมื่นล้าน หลังเอกชน 32 ราย เมินยื่นซอง การท่าเรือเปิดเวทีรับฟังข้อคิดเห็นรอบใหม่ 21 ม.ค.นี้ บอร์ด EEC ยืดเวลาให้ 1 เดือน ลุ้นประมูลเมืองการบินอู่ตะเภา ท่าเรือมาบตาพุด ด้านไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน เร่งเจรจาพิเศษกลุ่ม ซี.พี. เซ็นสัญญา 31 ม.ค.นี้ 

แหลมฉบัง:แหล่งข่าวจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลยื่นซองประมูลโครงการท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 ระยะที่ 1 ท่าเทียบเรือ F วงเงิน 84,361 ล้านบาท วันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา ปรากฏว่า มี บจ.แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จากประเทศไทย ยื่นซองรายเดียว จาก 32 ราย ที่ซื้อเอกสารมีทั้งไทยและต่างชาติ แต่บริษัทไม่มีหลักประกันซอง จึงไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ ทำให้มีแนวโน้มจะยกเลิกประมูลและจัดทำการทดสอบความสนใจ (market sounding) ภาคเอกชนใหม่ในวันที่ 21 ม.ค.นี้ เพื่อทำความเข้าใจกับเอกชนถึงเงื่อนไขและปัญหาต่าง ๆ และปรับปรุงทีโออาร์ให้เกิดการจูงใจมากขึ้น เช่น กรอบระยะเวลาดำเนินการ ผลตอบแทนการลงทุนโครงการที่ต่ำไป โดยจะเร่งดำเนินการให้เร็วขึ้น เพื่อให้ทันกรอบเวลาที่รัฐกำหนดได้ผู้ชนะและเซ็นสัญญาในเดือน มี.ค.นี้

“ทีโออาร์เดิมอาจจะกำหนดคุณสมบัติเข้มงวดเกินไป เช่น ต้องมีประสบการณ์บริหารท่าเรือ 10 ปี การท่าเรือจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้ 53,490 ล้านบาท เอกชนจะลงทุน 30,871 ล้านบาท พัฒนาท่าเรือและรับสัมปทานบริหาร 35 ปี เริ่มสร้างปี 2562 เสร็จในปี 2566”

สำนักงานคณะกรรมการเขตพัฒนาภาคตะวันออก (สกพอ.) ชี้แจงกรณีมีผู้ยื่นซองรายเดียวว่า สาเหตุสำคัญมาจากข้อจำกัดทางด้านเวลาเตรียมข้อเสนอสั้นประมาณ 2 เดือน ทางคณะกรรมการคัดเลือก กำลังพิจารณาขยายเวลาในการยื่นข้อเสนออย่างน้อย 1 เดือน และจะจัดชี้แจงผู้ซื้อซองวันที่ 21 ม.ค.นี้ เพื่อรับฟังข้อเสนอและวางกำหนดการขยายเวลารับข้อเสนออย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ จากปัญหาของท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ที่มีเอกชนยืนซองน้อย กำลังเป็นข้อกังวลถึงการยื่นซองประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก พื้นที่ 6,500 ไร่ มูลค่าโครงการ 290,000 ล้านบาท มีเอกชนไทยและต่างชาติซื้อทีโออาร์ 42 ราย จะยื่นซองวันที่ 28 ก.พ.นี้ และท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 วงเงิน 55,400 ล้านบาท มีเอกชน 18 บริษัทซื้อซอง จะยื่นวันที่ 6 ก.พ.นี้ เนื่องจากในทีโออาร์อาจจะมีเงื่อนไขที่ไม่จูงใจเอกชนมากนัก

ด้านนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า คณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท ยังไม่สามารถให้กลุ่ม ซี.พี. และพันธมิตรผู้เสนอราคาซองที่ 3 ต่ำสุด โดยให้รัฐสนับสนุนวงเงิน 117,227 ล้านบาท ผ่านการพิจารณาซองที่ 4 ข้อเสนอเพิ่มเติมที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการได้

เนื่องจากรายละเอียดยังมีเนื้อหาไม่สมบูรณ์ ทางกลุ่ม ซี.พี. ต้องชี้แจงเพิ่มเติมวันที่ 18 ม.ค.นี้ หากสามารถตรวจสอบข้อมูล ความถูกต้องและตอบรับข้อเสนอเพิ่มเติมได้แล้ว จะเริ่มเจรจาต่อรองทันที วางกรอบเจรจาไว้ 4 หมวด เช่น ข้อเสนอด้านการเงิน ส่วนต่อขยาย จะสรุปผลวันที่ 25 ม.ค.นี้

ทั้งนี้ กลุ่ม ซี.พี. มีข้อเสนอเพิ่มเติมเป็นเอกสารร่วม 200 หน้า 108 ประเด็นสำคัญ มีทั้งส่วนต่อขยายไปถึง จ.ระยอง ข้อเสนอด้านการเงิน การทำสเปอร์ไลน์ขนส่งเชื่อมสถานีอำนวยความสะดวกให้ประชาชนมาใช้บริการ ทั้งนี้ ยังคงกำหนดเซ็นสัญญาวันที่ 31 ม.ค.นี้

คลิออ่านเพิ่มเติม … “อีอีซี” ทดเวลาบาดเจ็บ 1 เดือน คัดเลือกเอกชนใหม่ สัมปทานท่าเรือแหลมฉบัง 8.4 หมื่นล้าน

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!