บททดสอบ บอร์ดแข่งขันการค้า คุมธุรกิจ “ผูกขาด-ควบรวม-ฮั้ว”

“พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560” ซึ่งประกาศบังคับใช้ แทน พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ที่หลายคนขนานนามว่าเป็น “เสือกระดาษ” กำลังเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในการควบคุมดูแลการผูกขาดของภาคธุรกิจกฎหมายฉบับใหม่ได้พลิกโฉมไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะการแยก “สำนักงานแข่งขันทางการค้า” ออกมาเป็นหน่วยงานอิสระ จากเดิมอยู่ภายใต้สังกัดกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ พร้อมกับการสรรหา “คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า” 7 คน ซึ่งคลอดออกมาเมื่อกันยายน 2561 ประกอบด้วย

นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา นายกฤษฎา เปี่ยมพงศ์สานต์ นายสมชาติ สร้อยทอง นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ นางอร่ามศรี รุพันธ์ นายวิษณุ วงศ์สินศิริกุล และนายสมเกียรติ ตันกิตติวัฒน์ ซึ่งจะนั่งทำงานแบบเต็มเวลา ทำหน้าที่กำหนดแนวทางการดูแลธุรกิจให้เป็นไปอย่างเป็นธรรม จากเดิมที่คณะกรรมการแข่งขันฯมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และมีกรรมการมาจากการแต่งตั้ง ช่วยให้การทำงาน “ปลอดการเมือง” เป็นอิสระและโปร่งใสมากขึ้น

สร้างกลไก “ปฏิรูปโครงสร้างการจัดการธุรกิจ”

นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ที่ตัดสินใจลาออกมาสมัครเป็นกรรมการแข่งขันการค้า และได้รับคัดเลือกเป็น “ประธานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า” คนแรก ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จุดเปลี่ยนที่ลาออก เพราะเคยสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ และให้ความสำคัญเรื่องการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำว่าต้องแก้ที่โครงสร้างโดยการวาง eco system ใหม่ สร้างกลไกให้ธุรกิจแข่งขันอย่างเสรีเป็นธรรม ลดการคุมราคาสินค้าซึ่งเป็นเรื่องปลายเหตุ ทั้งนี้เดิมการบังคับใช้กฎหมายนี้ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถเป็นที่พึ่งของภาคส่วนต่าง ๆ ได้ กระทั่งรัฐบาล คสช.ได้ผลักดันกฎหมายฉบับใหม่ เพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัดเดิมทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่ององค์กรให้เป็นอิสระ ให้อำนาจ งบประมาณ สิทธิในการบังคับใช้กฎหมายเบ็ดเสร็จ เรียกได้ว่า “ปฏิรูปโครงสร้างการจัดการของการทำธุรกิจของประเทศไทย”

วางโครงสร้างภารกิจ 7 ด้าน

เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2562 ได้ประชุมคณะกรรมการนัดแรก เพื่อวางโครงสร้างการทำงานเพื่อให้ธุรกิจแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ลบภาพเสือกระดาษ แต่ไม่ได้ห้ามธุรกิจเติบโต แต่ต้องเติบโตอย่างเป็นธรรมไม่ทำให้รายเล็กรายน้อยอยู่ไม่ได้ ประธานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าระบุว่า เป้าหมายในช่วง 6 เดือนแรก จะวางรากฐานการทำงานในมิติต่าง ๆ

ให้เป็นรูปธรรมมากที่สุด เน้นการทำงานเชิงรุกและโปร่งใส โดยกระจายให้กรรมการดูแลภารกิจ 7 ด้าน คือ 1) การสร้างกฎกติการะเบียบบริหาร และการจัดการกำลังพล ซึ่งมี 100 กว่าคน 2) ด้านสืบสวนสอบสวน ต้องวางเกณฑ์การรับเรื่องร้องเรียน 3) ด้านเทคโนโลยี เน้นสร้าง big data เชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่มีเรกูเลเตอร์กำกับดูแลเฉพาะ เช่น กสทช., กกพ., ธปท. เป็นต้น 4) การสร้างองค์ความรู้ทางด้านวิชาการให้เทียบเท่าสากล

5) การสื่อสารสาธารณะ 6) ด้านการนำองค์ความรู้จากต่างประเทศมาช่วยพัฒนาบุคลากร รวมถึงการสร้างหลักสูตร 7) การเฝ้าระวัง มองภาพธุรกิจใหญ่และวิเคราะห์ว่าสินค้าหรือธุรกิจใดควรจับตามอง เพื่อป้องปรามเชิงรุกจากเดิมต้องร้องเรียนเข้ามา ซึ่งสะท้อนว่าการแข่งขันถูกบั่นทอนและเกิดความเสียหายไปแล้ว โดยการทำงานจะเจาะรายเซ็กเตอร์ที่มีแนวโน้มอาจเกิดการผูกขาด เฝ้าระวัง ติดตาม และสร้างความโปร่งใส โดยจะเปิดเผยให้สังคมรู้เหตุและผลการพิจารณา และพยายามจะไม่ให้ใช้ดุลพินิจ ทุกอย่างต้องมีหลักฐานที่ชัดเจน มีลายลักษณ์อักษร

ซ้าย : สกนธ์ วรัญญูวัฒนา/ขวา : สันติชัย สารถวัลย์แพศย์

กำกับธุรกิจ “ผูกขาด-ควบรวม-ฮั้ว”

นายสกนธ์ฉายภาพว่า ขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ ครอบคลุมดูแลพฤติกรรมเหนือตลาด หรือผูกขาด ซึ่งมีความซับซ้อนมากขึ้น ทั้งการถือครองบริษัท การถือหุ้นไขว้ต่าง ๆ

ตลอดจนการจัดการการผูกขาดโดยอำนาจรัฐ ที่ออกกฎกติกาที่เอื้อประโยชน์กับบางกิจการ ซึ่งถือเป็นไฮไลต์

นอกจากนี้ การ “ควบรวมกิจการ” (M&A) ภายใต้กฎหมายใหม่นี้ต้องมาขออนุญาตก่อนทุกเคส เพื่อพิจารณาว่าการควบรวมมีผลให้เกิดการผูกขาด ครอบงำตลาดหรือไม่ จากเดิมเพียงแจ้งให้ทราบ ฉะนั้น ต้องมีเกณฑ์มาตรฐานด้าน M&A ว่ามีเงื่อนไข และขั้นตอนอย่างไรให้สอดคล้องกับสากล ทั้งต้องประสานหน่วยงานกำกับดูแลอื่น ๆ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อดูเรื่องการเข้ามาของเงินทุน กฎกติกาของสากล และ “พฤติกรรมการฮั้ว” ไม่ว่าจะเป็นการฮั้วราคา (ฮั้วเบาในธุรกิจเดียวกัน) ตามมาตรา 54 หรือพฤติกรรมร่วมมือกันผูกขาดลดการแข่งขัน หรือมาตรา 55 ห้ามไม่ให้ผู้ประกอบการธุรกิจร่วมกับธุรกิจอื่น ๆ อันนำมาสู่การผูกขาด (ฮั้วหนักข้ามธุรกิจ) ซึ่งกำลังร่างกฎกติกาเรื่องนี้

ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดให้คณะกรรมการต้องพิจารณาเรื่องร้องเรียนให้เสร็จภายใน 1 ปี ขยายเวลาได้ เพียง 6 เดือนเท่านั้น

เร่งเคลียร์ 8 เคสค้างท่อ

“นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์” กรรมการแข่งขันทางการค้า ในฐานะโฆษกคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า กล่าวว่า คณะกรรมการจะเร่งรัดงานค้างให้ออกมาโดยเร็ว โดยเฉพาะเคสร้องเรียนที่มีค้าง 8 เคส (ตามตาราง) ที่เคยช้ามาก กรรมการทุกคนต่างมุ่งมั่นทำงานเพื่อสร้างศรัทธาและการยอมรับต่อกฎหมายให้ได้ พลิกโฉมการทำงานยุคใหม่ ให้ “รวดเร็ว โปร่งใส เป็นธรรม”

ถือว่าขณะนี้สำนักงานมีความพร้อมทุกด้าน โดยปี 2561 ที่ผ่านมาได้รับจัดสรรงบประมาณ 197 ล้านบาท และปี 2562 เพิ่มเป็น 266 ล้านบาท เพื่อใช้ดำเนินการวางรากฐานสำนักงาน นอกจากนี้ยังมีรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ

ในส่วนกฎหมายลูกออกครบแล้ว อาทิ หลักเกณฑ์เรื่องอำนาจเหนือตลาด เรื่องการพิจารณาผู้ประกอบธุรกิจที่ความสัมพันธ์ทางนโยบายหรืออำนาจสั่งการ (บริษัทในเครือ) เรื่องการพิจารณาการรวมธุรกิจ เรื่องแนวทางการพัฒนาขอบเขตตลาดและส่วนแบ่งตลาด แนวปฏิบัติการพิจารณาการกระทำการต้องห้ามของผู้ประกอบธุรกิจ (ที่มีอำนาจในตลาด)

โทษปรับสูงสุด 10% ของรายได้

สเต็ปต่อไปเตรียมตั้งอนุกรรมการพิจารณายกร่างแนวปฏิบัติ (ไกด์ไลน์) รายธุรกิจ โดยจะเน้นธุรกิจที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุด 3 ธุรกิจในปีแรก อาทิ ธุรกิจค้าปลีก ที่มีโชห่วยร้องเรียนเข้ามามาก ที่สำคัญคือไกดไลน์จะมีผลทางกฎหมาย และมีบทลงโทษ จากเดิมซึ่งเป็นแค่ระเบียบสำนักงานไม่มีผลทางกฎหมาย เช่น หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติการค้าที่ไม่เป็นธรรม เข้าข่ายผิดมาตรา 57 มีโทษปรับทางปกครองสูงสุด 10% ของรายได้ปีที่ผ่านมา

สรุปว่า ไฮไลต์สำคัญคือกฎหมายใหม่ยกระดับให้ “กรรมการ” ให้มีสิทธิ์เสนอแนะความเห็นต่อครม.เกี่ยวกับนโยบายของรัฐด้านการแข่งขัน และให้อำนาจในการให้คำแนะนำ หรือแจ้งหน่วยงานของรัฐที่ออกระเบียบคำสั่งที่จำกัดการแข่งขัน ถือว่าให้ดาบมากขึ้น และจากนี้กรรมการสามารถถอดถอนเลขาธิการสำนักงานแข่งขันฯได้