“บิ๊กฉัตร” รับด้อยการสื่อสาร ทำคนกรุงตื่นฝุ่นพิษ สาธารณสุขย้ำ หน้ากากซ้อนทิชชู่ป้องกันไม่ได้

“บิ๊กฉัตร” ยอมรับด้อยการสื่อสาร ทำคนกรุงตื่นฝุ่นพิษ เร่งหามาตรการแก้ แนะประชาชนรับข้อมูลจากราชการเป็นหลัก ระบุนักวิชาการบางครั้งอาจให้ข้อมูลไม่ครบ ฟากผอ.สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ย้ำหน้ากากซ้อนทิชชู่ป้องกันไม่ได้ผล

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหา PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นการเน้นย้ำในเรื่องการสื่อสารประชาสัมพันธ์เป็นหลัก เนื่องจากที่ผ่านมาภาครัฐมีจุดอ่อนในเรื่องนี้ ทำให้ประชาชนขาดข้อมูล ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้เน้นย้ำให้ปรับปรุงในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน

ฟุ้งรัฐแก้ปัญหาตั้งแต่ส.ค.ปีที่แล้ว

สำหรับการรับมือกับภาวะฝุ่นละออง PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน รัฐบาลได้ติดตามดูแลปัญหานี้มาตั้งแต่เดือน ส.ค.ปีที่แล้ว โดยมีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ดูแลปัญหานี้โดยตรง รวมถึงการประสานงานไปยังหน่วยงานอื่น แต่เนื่องจากที่ผ่านมาภาครัฐเองยังประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบได้ไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร โดยได้ขอความร่วมมือทุกหน่วยงานเร่งสร้างความรับรู้และประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่ประชาชนควรรู้อย่างชัดเจน

พลเอกฉัตรชัย ชี้แจงต่อว่า การวัดค่าต่างในปัจจุบันอาจจะทำให้ประชาชนสับสนได้ เพราะมีทั้งค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) และค่าฝุ่นละออง PM2.5 จึงขอเรียนว่า ค่า AQI นั้นมีตัววัดที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 6 ตัว โดยมี PM10 และ PM2.5 ประกอบอยู่ด้วย ในส่วนของค่า PM2.5 เกิดจากสาเหตุหลักๆหลายประการ ทั้งการการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ การเผาในโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงการปิ้งย่างต่างๆ ด้วย

โดยมาตรการแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วน ทั้งการฉีดน้ำดักจับฝุ่นละอองในอากาศ และการทำฝนหลวง ถือว่ายังปฏิบัติการได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะการทำฝนหลวง ซึ่งต้องรอสภาพอากาศที่เหมาะสมจึงจะสามารถทำได้

แต่อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมมลพิษแจ้งว่า ในช่วง 7 วันต่อจากนี้ ความกดอากาศจากประเทศจีนจะแผ่ตัวลงมาปกคลุมประเทศไทย ทำให้ฝุ่นละออง PM2.5 กระจายตัวได้ช้าลง โดยรัฐได้เตรียมแผนงานรับมือไว้แล้วตามมาตรการต่างๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว

ส่วนมาตรการของกระทรวงคมนาคมได้มีการรายงานมาตรการต่างๆให้ที่ประชุมได้รับทราบแล้ว และกำลังดำเนินการในหลายข้อ เช่น การรับมอบรถเมล์เป็น NGV , ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในการกวดขันรถที่ปล่อยควันดำ เป็นต้น และได้ให้กระทรวงพาณิชย์ติดตามควบคุมการโก่งราคาหน้ากากอนามัยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะหน้ากากชนิด N95 ซึ่งราคาขายจะต้องอยู่ระหว่าง 30-50 บาทต่อชิ้น โดยเบื้องต้นได้ดำเนินการจับกุมแล้ว 2 ราน

ส่วนแผนระยะยาว กรมควบคุมมลพิษมีแผนงานเดิมอยู่แล้ว แต่ได้ให้ไปปรับแก้ให้ครอบคลุมกับหน่วยงานอื่นๆมากขึ้น เช่น การประสานงานกับกระทรวงพลังงาน เพื่อปรับให้มีการใช้น้ำมันดีเซลชนิด B20 เป็นต้น

“ขอให้ประชาชนรับข้อมูลจากทางการเป็นหลัก เพราะบางครั้งการให้ข้อมูลจากนักวิชาการอาจจะให้ข้อมูลไม่ครบ ก็ขอให้ฟังข้อมูลจากราชการเป็นหลัก ซึ่งจะมีกรมควบคุมมลพิษเป็นหน่วยงานหลักที่จะให้ข้อมูลตรงนี้” พลเอกฉัตรชัยระบุ

สธ.ชี้หน้ากากซ้อนทิชชู่ไม่ช่วย

ด้านพ.ญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับการพิจารณาสวมใส่หน้ากากอนามัย มีหลักสำคัญในการพิจารณา

ได้แก่ 1.พื้นที่ที่อยู่หรือเดินทางมีปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 เกินค่ามาตรฐานที่ 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร หรือไม่ ถ้าพื้นที่นั้นมีค่าสูงก็ควรจะสวมใส่ และ 2.เวลาที่ใช้ชีวิตกลางแจ้ง ถ้าใช้เวลาอยู่กลางแจ้งเกิน 12 ชั่วโมง/วันก็ควรที่จะสวมใส่

โดยเฉพาะบุคคลที่มีโรคประจำตัวในลักษณะโรคทางเดินหายใจ เช่น ภูมิแพ้ หอบหืด และโรคที่เกี่ยวหัวใจจะต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่ออยู่พื้นที่กลางแจ้ง ส่วนบุคคลที่มีสุขภาพแข็งแรง แม้จะไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่กลางแจ้งเป็นเวลานานเช่นกัน

ขณะที่การเลือกใช้หน้ากากอนามัย โดยเฉพาะข้อแนะนำที่ให้ใช้หน้ากากอนามัยชนิดปกติ แล้วนำกระดาษทิชชู่ซ้อนลงไป 2 ชั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพนั้น เป็นเพียงการวิจัยในห้องทดลองซึ่งสามารถควบคุมตัวแปรต่างๆได้ แต่หากนำมาใช้ในชีวิตประจำวันประสิทธิภาพดังกล่าวก็จะลดลง เพราะฉะนั้นควรใช้หน้ากากอนามัยชนิด N95 เท่านั้น เพราะมีประสิทธิภาพในการป้องกันฝุ่นละอองได้ถึง 0.3 ไมโครกรัม

แนะฟังข้อมูลรัฐเป็นหลัก

ขณะที่นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลตามสื่อมวลชนต่างๆ พบว่ามีการอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ต่างประเทศหลายสำนัก ซึ่งตัวชี้วัดอ้างอิงมีข้อจำกัด เช่น ไม่ได้มีจำนวนกระจายไปในหลายๆพื้นที่มากพอ เพราะกรมควบคุมมลพิษมีจุดวัดคุณภาพธรรมชาติในกรุงเทพฯ 43 จุด โดยค่าที่วัดได้ ณ บริเวณเสาชิงช้า วัดค่า PM2.5 ได้ที่ 49 ส่วนค่า AQI อยู่ที่ 96 เท่านั้น ซึ่งยังไม่เกินมาตรฐาน แต่เว็บไซต์ของต่างประเทศในจุดเดียวกันกลับวัดค่า AQI ได้ถึง 162 ซึ่งทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนกได้ ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนรับฟังข้อมูลข่าวสารจากทางการเป็นหลัก โดยประชาชนสามารถใช้สมาร์ทโฟนโหลดแอปพลิเคชันชื่อว่า Air4Thai (แอร์ฟอร์ไทย) เพื่อติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศได้ตลอดเวลา

จุดวัดอากาศครบ 50 เขตปีหน้า

ด้านนายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวกับ”ประชาชาติธุรกิจ”ว่า เครื่องวัดคุณภาพอากาศเป็นไปตามมาตรฐานสากลแน่นอน สามารถเชื่อถือได้แน่นอน สำหรับราคาเครื่องวัดคุณภาพอากาศที่มีเฉลี่ยอยู่ที่ 7-8 ล้านบาท โดยคาดว่าสิ้นเดือนก.พ.นี้ความกดอากาศสูงจากจีนจะเริ่มคลายตัวและหมดลง และจะเข้าสู่ฤดูร้อนในเดือน มี.ค.ทำให้ระเหยสู่ชั้นบรรยากาศ ภาวะฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานจึงน่าจะคลี่คลายลงไป

ส่วนเครื่องวัดคุณภาพอากาศปัจจุบันมี 43 จุดทั่วกรุงเทพฯ ทางกทม.และคพ.จะดำเนินการจัดซื้อเครื่องวัดคุณภาพอีก 7 ตัวมาติดตั้งเพิ่มเติมให้ครบทั้ง 50 เขต เขตละ 1 ตัว คาดว่าในปี 2563 จะสามารถจัดซื้อได้ครบทั้งหมด