กรมทรัพย์สินทางปัญญา เผยหลังหารือภาคประชาสังคม กรณีจดสิทธิบัตรกัญชา ระบุข้อกฎหมายที่เห็นไม่ตรงกัน

กรมทรัพย์สินทางปัญญา เผยภายหลังหารือกับภาคประชาสังคม กรณีจดสิทธิบัตรกัญชา หลักที่หารือข้อกฎหมายที่เห็นไม่ตรงกัน ยันพร้อมจะเดินหน้าหาวิธีที่เหมาะสมในการแก้ไขเรื่องนี้ ย้ำยังค้างจริง 7 คำขอที่อยู่ตรวจสอบ

นางสาวจิตติมา ศรีถาพร ผู้อำนวยสำนักกฎหมาย กรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยภายหลังการร่วมประชุมหารือกับภาคประชาสังคมกรณีการเข้าขอจดสิทธิบัตรสารสกัดกัญชา ประกอบด้วย FTA Watch มหาวิทยาลัยรังสิต มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) และสภาการแพทย์แผนไทย เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2562 ว่า ในการประชุมครั้งนี้ได้หารือในประเด็นของข้อกฎหมายเป็นหลัก เนื่องจากยังมีความเห็นที่ไม่ตรงกันสำหรับกรณี มาตรา 9 (5) การประดิษฐ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย โดยเฉพาะเรื่องของการตีความในข้อกฎหมาย นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีการหยิบยกข้อกฎหมาย มาตรา 27.2 ห้ามการจดสิทธิบัตรการคิดค้นสร้างขึ้นใหม่ที่เป็นการเอารัดเอาเปรียบทางการค้าอันนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อย และศิลธรรมอันดีในสังคม ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อตกลง เรื่องสิทธิบัตรขององค์การการค้าโลก (TRIPs) ที่มีการระบุข้อห้ามและข้อยกเว้นในการจดสิทธิบัตร มาหารือในการประชุมครั้งนี้ด้วย ซึ่งกรมฯมองว่าเป็นสิ่งที่และพร้อมจะรับและนำไปหารือ

ทั้งนี้ กรมฯก็พร้อมจะรับฟังและนำไปพิจารณา ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมแต่ต้องยอมรับว่าอยู่ระหว่างของการสืบค้นหาข้อมูลซึ่งกรมฯไม่ได้มีการละเลย หรือมีการหยิบยกมาเพียงบางตัวอย่างในบางประเทศที่ดำเนินการรับคำขอการจดสิทธิบัตรเพียงอย่างเดียว ซึ่งกรมฯพร้อมที่จะนำข้อมูลที่หารือไปพิจารณาต่อไปด้วย แต่ประเทศที่มีการรับจดไปก็ไม่ได้หมายความว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ ครอบครอง หรือนำเข้า-ส่งออกได้สะดวกหรือง่าย เพราะในประเทศนั้นๆยังมีกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น พรบ.อาวุธปืน พรบ.ยา พรบ.ยาเสพติดให้โทษด้วย ในการควบคุม

ดังนั้น เรื่องนี้จำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบครอบรวมไปถึง กรมฯก็ยังต้องยึดหลักการปฏิบัติ ขั้นตอนการดำเนินการตามข้อกฎหมายด้วย เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อคำขอเดิมซึ่งมีกว่า 60,000 คำขอในปัจจุบัน แต่ก็พร้อมหาวิธีการที่เหมาะสม แต่อาจจะไม่สามารถทำให้ได้ทันทีแต่ก็จะทำให้เต็มที่ ส่วนเรื่องของ คู่มือ การจดสิทธิบัตรที่ภาคประชาสังคมแย้งออกมานั้นยังขัดต่อกฎหมาย ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้กรมฯได้มีการแก้ไข ปรับปรุงแล้วโดยเฉพาะเรื่องของ สารสกัดจะไม่รับจด ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี 2562 โดยคู่มือที่ภาคประชาสังคมพูดถึงนั้นเป็นฉบับเก่าตั้งแต่ปี 2555

นางสาวจิตติมา กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์ล่าสุดของคำขอจดสิทธิบัตรที่มีสารสกัดจากกัญชาหรือมีสารสกัดจากกัญชาเป็นองค์ประกอบ มี 3 คำขอ ได้ละทิ้งไปแล้ว 4 คำขอได้ยื่นตรวจสอบการประดิษฐ์ และได้ปฏิเสธคำขอไปแล้ว 3 คำขอ เหลืออีก 1 คำขอที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ หากพบว่าไม่เป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ก็จะสั่งยกเลิกต่อไป และอีก 6 คำขอ ประกาศโฆษณาแล้ว แต่ผู้ยื่นยังไม่ยื่นตรวจสอบการประดิษฐ์ ซึ่งหากยื่นมาแล้ว กรมฯ ก็จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป โดยกรมฯ ยืนยันว่า ไม่ทราบคำขอที่เหลือ 7 คำขอ เป็นคำขอของบริษัทเดียวกัน เพราะกรมฯ ตรวจสอบตามระบบ โดยกรมฯยึดหลักและตรวจสอบตามคำขอเป็นแนวปฏิบัติ ไม่ได้รู้ว่าเป็นของบริษัทใดทั้งสิ้น

(คำขอที่ได้ยื่นตรวจสอบการประดิษฐ์ที่ค้างอยู่ 1 คำขอ และคำขอที่ประกาศโฆษณา แต่ยังไม่ยื่นตรวจสอบการประดิษฐ์ 6 คำขอ)

นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานเอฟทีเอ ว็อทช์ เปิดเผยว่า ผิดหวังต่อท่าทีของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ส่งเพียงข้าราชการระดับปฎิบัติการมาร่วมประชุม ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมีอำนาจตัดสินใจ ไม่เข้าประชุมด้วย ทำให้ไม่มีข้อยุติว่าจะแก้ปัญหาคำขอจดสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชาที่เหลืออยู่อีก 7 คำขออย่างไร โดยภาคประชาสังคมยืนยันว่ากรมสามารถยกเลิกคำขอได้ทันที แต่กลับไม่ทำตามกฎหมายไทย โดยอ้างข้อตกลงทริปส์ ที่เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า ระดับสากล

โดยทั้ง 7 คำขอที่เหลือล้วนมาจากบริษัทเดียวกันทั้งหมด ดังนั้นภาคประชาสังคมจึงตั้งข้อสังเกตว่าการไม่ยกเลิกคำขอที่เหลือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนหรือไม่ อย่างไรก็ตามหลังจากนี้จะมีการหารือเพิ่มมาตรการกดดันต่อไป ซึ่งจะดำเนินการทั้งด้านการเมือง สังคมรวมไปถึงด้านกฎหมายที่อาจจะฟ้องร้องการปฎิบัติหน้าที่

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!