อลาวรี่ประเดิมกม.ประกันธุรกิจ ครบ1ปีมียอดจดทะเบียน2.6ล้านล้าน

1 ปี กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ เอกชนแห่ขอสิทธิเพียบ “อลาวรี่” ประเดิมใช้เครื่องหมายการค้าขอหลักประกันเจ้าแรก เกือบ 2,000 ล้านบาท กรมพัฒนาธุรกิจจับมือกรมทรัพย์สินทางปัญญาเร่งกระตุ้นผู้ประกอบการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาขอหลักประกันเพิ่ม

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า หลังจากกฎหมาย พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2559 ซึ่งมีผลบังคับใช้ครบ 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2559 -4 กรกฎาคม 2560 ได้มีการยื่นจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ จำนวน 145,205 คำขอ โดยมีมูลค่าทรัพย์สินที่นำมาจดทะเบียนทั้งสิ้น 2,671,146 ล้านบาท แบ่งประเภททรัพย์สินกลุ่มสิทธิเรียกร้อง สูงที่สุดมูลค่า 2,144,266 ล้านบาท คิดเป็น 80.28% แบ่งเป็นบัญชีเงินฝากธนาคาร มูลค่า 1,602,681 ล้านบาท คิดเป็น 60% สิทธิการเช่า มูลค่า 84,542 ล้านบาท คิดเป็น 3.17% และอื่น ๆ เช่น ลูกหนี้การค้า สัญญาจ้าง สัญญาซื้อขาย มูลค่า 457,043 ล้านบาท คิดเป็น 17.11%

และกลุ่มสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ มูลค่า 524,905 ล้านบาท คิดเป็น 19.65% ซึ่งกลุ่มนี้จะแบ่งเป็นสินค้าคงคลัง/วัตถุดิบ มูลค่า 279,213 ล้านบาท คิดเป็น 10.45% เครื่องจักร/รถยนต์/เรือ มูลค่า 187,748 ล้านบาท คิดเป็น 9.20% และกลุ่มทรัพย์สินทางปัญญา มูลค่า 1,975 ล้านบาท คิดเป็น 0.07% หากเฉลี่ยยอดการจดทะเบียนหลักประกันย้อนหลังไป 6 เดือน พบว่ามีผู้มาจดเดือนละ 287 คำขอ โดยยอดการจดสูงสุดในเดือนเมษายน 429 คำขอ

เป็นที่น่าสังเกตว่าขณะนี้มีสถิติการใช้ประโยชน์เพิ่มมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นสินทรัพย์ประเภทสิทธิเรียกร้อง เช่น บัญชีเงินฝากธนาคารสัดส่วน 60% ส่วนทรัพย์สินประเภทอื่นยังมีการใช้สิทธิไม่มากนัก โดยเฉพาะทรัพย์สินทางปัญญา มีสัดส่วนเพียง 0.07% ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า มีผู้ประกอบการรายใหญ่ใช้สิทธิ 2 ราย ซึ่ง 1 ใน 2 ราย คือ บริษัท กิมจั๊วกรุ๊ป จำกัด หรือเคซีจี ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเนยและชีส ซึ่งยื่นขอจดเครื่องหมายการค้าแบรนด์ “อลาวรี่” ซึ่งนับได้ว่าเป็นแบรนด์สินค้าอาหารระดับพรีเมี่ยมประเภทผลิตภัณฑ์จากนมที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ได้รับความนิยมมายาวนาน ซึ่งได้รับการประเมินมูลค่าเครื่องหมายการค้า 1,955 ล้านบาท

นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมได้ประสานกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อหาแนวทางผลักดันให้ผู้ประกอบการที่มีทรัพย์สินทางปัญญามายื่นขอจดหลักประกัน โดยใช้ประโยชน์จากกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจมากขึ้น

โดยเบื้องต้นศึกษาแนวทางในการประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาที่จะช่วยลดความกังวลเรื่องการตีมูลค่า ยกตัวอย่าง ปัจจุบันราคาเท่านี้ ในอนาคตราคาอาจจะเปลี่ยนแปลงไป ประเด็นนี้ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญา มีหลักการทำงานที่เคยทำโครงการแปลงสินทรัพย์ทางปัญญาเป็นทุน อาจจะมาศึกษาว่าจะปรับอย่างไร เพื่อให้สามารถใช้ขอหลักประกันได้เพิ่มขึ้น

พร้อมกันนี้ กรมยังได้ส่งเสริมให้มีการอบรมผู้รับหลักประกันไปแล้ว 583 ราย และกรมได้ออกใบอนุญาตผู้รับหลักประกัน รวมทั้งสิ้น 392 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สอบบัญชีมากที่สุด 38% รองลงมาคือ ทนายความ ได้รับใบอนุญาตไป 36%

ด้านนายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ตามแผนยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญา (IP โรดแมป) กรมได้ส่งเสริมให้มีการสร้างสรรค์ผลงานด้านทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้น และส่งเสริมให้มาจดทะเบียน เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์

“หลักการจะต้องจดทะเบียนให้เร็วขึ้น คนที่คิดสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาก็ต้องจดทะเบียนให้ได้ จากนั้นจะมีการส่งเสริมให้มีการต่อยอดเพื่อใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม โดยกรมจะคัดกรองนวัตกรรมที่มีศักยภาพจากฐานข้อมูลของกรม เพื่อจะช่วยส่งเสริมต่อยอดธุรกิจ อีกด้านหนึ่งกรมได้จัดหาผู้เชี่ยวชาญจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาช่วยให้คำปรึกษาในการพัฒนาและคัดเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม สามารถขายได้อย่างน้อยเอสเอ็มอีที่ทุนน้อยไม่ต้องคิดอะไรที่ขายไม่ได้ และเร่งจดทะเบียนใช้ประโยชน์ทางพาณิชย์”

ในด้านการทำตลาดสินค้านวัตกรรม กรมมีแผนจะพัฒนาต่อยอด “IP Mart” เพื่อเป็นมาร์เก็ตเพลซ หรือเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อผู้สร้างและผู้ใช้นวัตกรรมให้มาจับคู่ธุรกิจกัน หลังจากนั้นกรมจะประสานกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรมกลุ่มนี้ ยื่นขอจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ เพื่อนำนวัตกรรมไปใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน

“สินค้าที่เข้าไปทำตลาดในไอพี มาร์ท ถ้าเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมดีจะพัฒนาให้ครบวงจร หากใครจะกู้เงิน ถ้าประเมินแล้วพอทำตลาดได้ก็จะมีกระบวนการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ แปลงทรัพย์สินเป็นทุน จากเดิมหากนำนวัตกรรมที่พัฒนาใหม่ไปกู้เงิน บางทีสถาบันการเงินไม่แน่ใจว่าให้กู้แล้วสินค้าจะขายได้หรือไม่ ค่อยมีประสบการณ์ประเมินว่าจะเป็นอย่างไร ตีราคาอย่างไร และถ้าผิดนัดชำระแล้วแบงก์ได้ทรัพย์สินทางปัญญามา แบงก์จะทำอย่างไร หากเป็น NPL ซึ่งในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์จะส่งเสริมให้กับผู้ประกอบการเฉพาะรายใหญ่ ที่มีมูลค่าสูง ส่วนจีนมีเอสเอ็มอี แต่ว่าไม่ได้ใช้ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหลักทรัพย์ในการขอกู้เงินทั้ง 100% ต้องมีคนค้ำประกันเหมือนเดิม”