ชงบอร์ด EEC เคาะเงื่อนไขถมทะเลขยายรง.เอ็กซอนฯ

“คณิศ” เตรียมชงบอร์ด EEC รับข้อเสนอ “เอ็กซอนฯ” เคาะถมทะเลขยายโรงงานในรัศมี 5 กม. ใกล้โรงกลั่นเอสโซ่-แหลมฉบังเดิม ด้านผู้ว่าการ กนอ. ชี้ต้องชงบอร์ดให้ข้อสรุป แนวทางการลงทุน ต้องไม่กระทบสิ่งแวดล้อม คาดได้ข้อสรุปใน 6 เดือน 

จากกรณีที่บริษัท เอ็กซอนโมบิล คอร์ปอเรชั่น แสดงความสนใจขยายการลงทุนตั้งโรงงานปิโตรเคมีส่วนต่อขยายกำลังผลิต 1.74 แสนบาร์เรล/วัน ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มูลค่า 1.6-2 แสนล้านบาท

ล่าสุดนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า สกพอ.จะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ด EEC) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาประเด็นที่เอ็กซอนโมบิลฯ ให้ภาครัฐพิจารณาแนวทางส่งเสริมการลงทุนโดยให้รัฐบาลพิจารณาเรื่องถมทะเล ซึ่งตามหลักการแล้วนั้นการถมทะเลสามารถทำได้ แต่จะต้องอยู่ที่การพิจารณาเพื่อให้ได้ข้อสรุปภายในกลางปีนี้

ด้านนางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า เตรียมเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ด กนอ. ภายในเดือน ม.ค.นี้ เพื่อพิจารณาและอนุมัติให้ดำเนินการทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเอ็กซอนฯ ในเวลา 6 เดือน เพื่อดูภาพรวมการลงทุนทั้งหมด เงินลงทุน และเพื่อให้แน่ใจว่าโครงการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม หากทั้งหมดศึกษาแล้วเป็นไปได้ก็สามารถถมทะเลได้

“เราต้องเตรียมพื้นที่ให้อุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve และเอ็กซอนฯเป็นลูกค้าของรัฐบาลมีการลงทุนในไทยอยู่แล้ว หลังจากศึกษาตามกรอบครบ6 เดือนแล้วจะกำหนดเรื่องของกระบวนการต่อไป เช่น เอกชนรายใดจะเข้ามาถมทะเลรูปแบบใด เบื้องต้นเอ็กซอนฯขอพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่”

ที่ผ่านมา กนอ.ได้หาพื้นที่ตามที่เอ็กซอนฯต้องการ แต่พื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมใน EEC ทั้งมาบตาพุดและแหลมฉบับค่อนข้างเต็ม จึงไม่สามารถสรุปได้ แต่หากเอ็กซอนฯหาพื้นที่ได้ ก็สามารถเสนอที่ประชุม EEC เพื่อเป็นเขตส่งเสริมพิเศษและได้สิทธิประโยชน์

ก่อนหน้านี้คณะทำงาน EEC พยายามเป็นตัวกลางหาพื้นที่ลงทุนที่เหมาะสมซึ่งประกอบด้วย 1.ท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา และ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารดูแลโดยรวมของการท่าเรือแห่งประเทศไทย 2.อู่ซ่อมเรือ พื้นที่ของบริษัท ยูนิไทยชิปยาร์ด แอนด์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด และ 3.พื้นที่ของกรมธนารักษ์ ให้แต่ในที่สุดก็ยังไม่ได้

อย่างไรก็ตาม การลงทุนเพื่ออุตสาหกรรมหนักอย่างปิโตรเคมีได้หรือไม่นั้น จำเป็นเสนอต่อบอร์ด EEC เพื่อประกาศเป้าหมายและกำหนดเป็นเขตส่งเสริมพิเศษ ซึ่งตามนโยบายรัฐได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า ในพื้นที่ EEC ส่วนที่ประกาศเป็นเขตส่งเสริมพิเศษ ต้องเป็นพื้นที่เขตอุตสาหกรรมอยู่แล้ว และจะใช้เป็นพื้นที่ลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เนื่องจากเกรงว่าต้องทำความเข้าใจกับชุมชน และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ใหม่ซึ่งใช้เวลา 1-2 ปี นานเกินไปสำหรับนักลงทุนทั้งนี้ ปัจจุบันท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังเป็นพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรมเบา ที่เน้นด้านโลจิสติกส์

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!