6 มาตรการหลังพ้น IUU เดินหน้าตั้ง “กองทุนเยียวยา-ซื้อเรือคืน”

กว่า 4 ปีที่อุตสาหกรรมประมงต้องเผชิญกับการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) แม้ต้องสูญเสียมูลค่าเชิงเศรษฐกิจมหาศาล แต่อีกมุมกลับเป็นประโยชน์ต่อ “ความยั่งยืนบนท้องทะเลไทย” การที่ไทยสามารถปลดล็อก IUU ได้สำเร็จนั้นเป็นก้าวสำคัญของการปฏิรูปการประมง “นายอดิศร พร้อมเทพ” อธิบดีกรมประมง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึง 6 ภารกิจหลังปลดใบเหลืองซึ่งจะเดินหน้าไปสู่ความยั่งยืน

1.ด้านกฎหมาย ต้องเพิ่มความเข้มงวดจาก พ.ร.ก.การประมง 2558 ให้เป็น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพราะแม้ว่า พ.ร.ก.จะมีอำนาจเทียบเท่า พ.ร.บ.แต่หากเป็น พ.ร.บ. ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา หากรัฐบาลจะพิจารณาปรับเปลี่ยน พ.ร.ก.การประมงรูปแบบใดก็ต้องยึดหลักความเข้มงวดทุกมาตรา แต่ไม่ควรมีโทษทางอาญา เพราะเป็นการลงโทษที่หนักสำหรับชาวประมง

2.การบริหารจัดการประมงให้เกิดความสมดุล ไม่ให้มีการทำประมงกันมากกว่าธรรมชาติจะผลิตขึ้นทดแทนได้ทัน (over fishing) ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญมาก จะเห็นได้ว่าหลายมาตรการทั้งการปิดอ่าว หรือจำกัดวันทำประมงที่ผ่านมา จัดสรรโควตา ที่อาศัยเวลาในการฟื้นฟูล้วนส่งผลให้เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน จากข้อมูลเชิงสถิติตั้งแต่ปี 2558-2 ม.ค. 2562 มีการจับปลาได้เพิ่มขึ้นกว่า 300,000 ตัน

3.ด้านการบริหารจัดการกองเรือได้ปรับปรุงระบบให้ดีขึ้น 2 ปีที่แล้วได้มีการปรับขนาดเรือให้ตรงตามความเป็นจริง ต่อจากนี้จะมีการปรับโครงสร้างกองเรืออย่างเหมาะสม ปรับปรุงท่าเทียบเรือ เช่น เรือประมงพื้นบ้าน 27,000 ลำ ต้องสร้างอัตลักษณ์เรือ ซึ่งเป็นเรื่องยากเพราะบางพื้นที่เป็นพื้นที่ห่างไกล แต่กรมประมงจะเร่งดำเนินการให้สำเร็จภายในปีนี้

4.ด้านการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง (MCS) เป็นรากฐานที่สำคัญของประเทศไทยในอนาคต ที่จะยืนยันถึงประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ซึ่งทางกรมประมงมั่นใจว่า วันนี้ประเทศไทยมีระบบ MCS ที่มีประสิทธิภาพดูแลทั้งเรือไทยและเรือต่างชาติ

“กรมประมงจะร่วมกับศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หรือ ศรชล. แทนศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ที่ต้องยุบไปตามคำสั่ง คสช. ให้ปฏิบัติการเดินหน้าตรวจสอบความพร้อมของระบบติดตามเรือ ที่เรียกว่า VMS และเรือขนถ่ายสัตว์น้ำหรือเรือเก็บรักษาสัตว์น้ำ ณ ศูนย์แจ้งเข้า-แจ้งออกเรือประมง (PIPO) ซึ่งสำคัญมาก ๆ ต่อการนำไปสู่ความยั่งยืน”

5.ด้านการตรวจสอบย้อนกลับ กระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) ในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายที่ผ่านมา กรมประมงได้ออกประกาศ 2 ฉบับหลัก (ภายใต้ พ.ร.ก.

การประมง 2558) นั่นคือ ฉบับที่ 1.ประกาศกรมประมง เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการติดตั้งระบบติดตามเรือและดูแลรักษา ระบบติดตามเรือประมงของเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศคู่ค้าว่าสินค้าประมงไทยปลอด IUU

ส่วนข้อสุดท้าย 6.ด้านการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งไทยต้องรักษามาตรฐานนี้ไว้ และต้องเคารพกฎหมายเพราะเป็นกฎหมายของไทยเอง ผมเข้าใจชาวประมงดีว่าช่วงที่ผ่านมามีกฎหมายที่เข้มงวดเกินไป ดังนั้น เราจะทำงานร่วมกับชาวประมงต่อไป ถ้ากฎไหนมากไปก็จะปรับเปลี่ยน เช่น การกรอกข้อมูล log book ข้อมูลแรงงานประมง คนเดินเรือต่าง ๆ จะให้ทำเท่าที่จำเป็นและควบคุมได้ ซึ่งตอนนี้เรือต่าง ๆ ได้ทำข้อมูลเรือให้ดีขึ้น หรือกรณีวันทำประมงที่ถูกควบคุม หากจำนวนปลาเพิ่มขึ้นก็จะเพิ่มวันให้ เช่น ปี 2559 เพิ่มให้เรือประมงอวนลากฝั่งอ่าวไทย จาก 225 วัน เป็น 240 วัน และในปีที่ผ่านมาก็เพิ่มวันทำประมงให้

ขณะเดียวกันล่าสุดเรือประมงนอกน่านน้ำ ที่ผ่านมาแม้ตามกฎหมาย พ.ร.ก.ประมง 2558 ไม่ได้ห้ามออกเรือแต่เนื่องจากไม่มีน่านน้ำประเทศใดเปิดรับ การปลดล็อกใบเหลืองจึงส่งผลเชิงเครดิตภาพลักษณ์ประเทศ เริ่มมีการติดต่อจากเมียนมาและปาปัวนิวกินี ที่แจ้งมาว่าพร้อมให้เรือประมงไทยเข้าไปจับปลาได้ แม้ว่าต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขตามกฎหมายของรัฐเจ้าท่านั้น ๆ ในขณะเดียวกัน เราต้องมีกฎหมายควบคุมด้วย

“กรมประมงจะใช้โมเดลแก้ปัญหา IUU นี้ข้างต้นดังที่กล่าวมาเพื่อเดินหน้าการปฏิรูป และในโอกาสที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ปี 2562 รัฐบาลจะยกระดับแก้ไขปัญหาประมงสู่ระดับภูมิภาค ให้ประเทศไทยนำการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมายเหล่านี้เพื่อความยั่งยืนระหว่างประเทศด้วย”

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมประมงอยู่ระหว่างประสานรัฐบาลเพื่อจัดตั้ง “กองทุนประมงเพื่อความยั่งยืน” และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำประมง ซึ่งจะต้องเพิ่มในกฎหมาย พ.ร.ก.ประมงฉบับใหม่ ที่จะต้องทำการแก้ไข และการทำประชาพิจารณ์ก่อน โดยเบื้องต้นแหล่งเงินทุนจะต้องมาจากงบประมาณประเดิมจากภาครัฐ ทั้งค่าธรรมเนียม การออกใบอนุญาต หรืออาจจะรวมถึงค่าปรับตามกฎหมายต่าง ๆ ทั้งนี้

คาดว่ากฎหมายฉบับใหม่จะเริ่มทำการประชาพิจารณ์หลังจากการเลือกตั้งเสร็จสิ้น รวมไปถึงสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จในระยะเร่งด่วน คือ การซื้อเรือคืน 670 ลำ ซึ่งปัจจุบันกำหนดเกณฑ์ออกมาแล้ว แต่ต้องพิจารณาข้อมูลของเรือแต่ละลำเพื่อกำหนดวงเงินภายในสัปดาห์หน้า เพื่อเสนอรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!