มติ ครม. 22 ม.ค. : SEC 116 โครงการ แสนล้าน – 2.6 พันล้านอุ้มมัน-ข้าวโพด

มติ ครม.

 

SEC 116 โครงการแสนล้าน  

คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 22 มกราคม 2562 เห็นชอบศึกษาความเหมาะสมรายละเอียดรูปแบบการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชุมพร-ระนอง และพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี-นครศรีธรรมราช ภายใต้กรอบการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (SEC) จำนวน 116 โครงการ วงเงินปี’62-65 รวม 106,790.13 ล้านบาท โดยอนุมัติงบฯกลางปี’62 จำนวน 448 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการจำเป็นเร่งด่วนในปี’62 จำนวน 5 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวบนเกาะพยาม จ.ระนอง 132 ล้านบาท 2.ปลูกป่าชายเลนระนองสู่มรดกโลก 88 ล้านบาท 3.สนับสนุนการแปรรูปสมุนไพรแบบครบวงจร จ.ชุมพรและสุราษฎร์ธานี 194 ล้านบาท 4.เฝ้าระวังภาวะฉุกเฉินสร้างความเข้มแข็งการบริการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุสู่เทศบาลชุมพร 12 ล้านบาท และ 5.ศึกษาการจัดตั้งศูนย์ความเชี่ยวชาญการวิจัยเชิงพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ 20 ล้านบาท

สำหรับกรอบการพัฒนาคงเหลือ ประกอบด้วย 4 ด้าน ได้แก่ 1.การพัฒนาประตูการค้าฝั่งตะวันตก 11 โครงการ รวม 50,268 ล้านบาท 2.การพัฒนาประตูสู่การท่องเที่ยวอ่าวไทยและอันดามัน 33 โครงการ รวม 39,555 ล้านบาท 3.การพัฒนาอุตสาหกรรมฐานชีวภาพและการแปรรูปการเกษตรมูลค่าสูง 33 โครงการ รวม 7,357 ล้านบาท และ 4.การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ส่งเสริมวัฒนธรรมและพัฒนาเมืองน่าอยู่ 39 โครงการ รวม 9,609 ล้านบาท

คาดว่าผลที่จะได้รับทางเศรษฐกิจในช่วง 10 ปี ผลิตภัณฑ์มวลรวมของพื้นที่ใน SEC จะขยายตัว
เฉลี่ยอย่างน้อยร้อยละ 5 ต่อปี มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านคนต่อปี มีการลงทุนภาอุตสาหกรรม 2 แสนล้านบาท ลดระยะเวลาขนส่งจากท่าเรือแหลมฉบังไปเอเชียใต้ครึ่งหนึ่ง จาก 9-15 วัน เหลือ 4-7 วัน

2.6 พันล้านอุ้มมัน-ข้าวโพด

ครม.เห็นชอบการดำเนินโครงการของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 2 โครงการ 1.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลังในระบบน้ำหยด และสนับสนุนเงินทุนในการพัฒนาการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เป้าหมายเกษตรกร 5,000 ราย รายละไม่เกิน 230,000 บาท วงเงินสินเชื่อรวม 1,150 ล้านบาท รัฐชดเชยดอกเบี้ย 50 ล้านบาท 2.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร มีเป้าหมายเพื่อระบายมันสำปะหลังออกจากตลาดในช่วงที่มีมันสำปะหลังล้นตลาด วงเงินสินเชื่อ 1,500 ล้านบาท รัฐชดเชยดอกเบี้ย 82.65 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังเห็นชอบโครงการรวบรวมสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2561/2562 โดยสนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวมหรือรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกรผู้ขึ้นทะเบียนเกษตรกร เพื่อดูดซับผลผลิต โดยสนับสนุนสินเชื่อ 1,500 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส.
คิดดอกเบี้ยเงินกู้ตามโครงการ ในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี โดยคิดจากสถาบันเกษตรกรในอัตราร้อยละ 1 ต่อปี และรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือน รัฐชดเชยดอกเบี้ย 45 ล้านบาท

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!