ผนึกกำลัง 4 หน่วยงาน กฟน.-กนอ.-ทีโอที-SME Bank ขับเคลื่อนระบบโครงสร้างพื้นฐานและพลังงานอัจฉริยะ หนุนนโยบายปั้นสมาร์ทซิตี้

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า วันนี้ (23 มกราคม 2562) นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) พร้อมด้วย ดร.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (ทีโอที) และนายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบดิจิทัลและสื่อสารโทรคมนาคมอัจฉริยะ (Smart Digital/Telecommunication) และบันทึกความร่วมมือโครงการพัฒนาพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) ในนิคมอุตสาหกรรม

นายกีรพัฒน์ เปิดเผยว่า กฟน.ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการพัฒนาพลังงานอัจฉริยะ ในนิคมอุตสาหกรรม กับผู้ว่าการ กนอ. และลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางไฟฟ้าและการสื่อสาร เพื่อนำไปสู่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) กับกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที ณ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่ ซึ่งเป็นนโยบายรัฐบาลในการเดินหน้าพลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร มุ่งเน้นการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และประชาชน

โดยพิธีลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ กฟน.จะพัฒนาพลังงานอัจฉริยะร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พัฒนาพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) ในนิคมอุตสาหกรรม โดยศึกษาและพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เกี่ยวข้องด้านพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) พลังงานทดแทน (Renewable Energy) การบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency) ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรม ทั่วประเทศ ที่มุ่งเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) โครงการนิคมอุตสาหกรรม Smart Park ตามแนวนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ส่งเสริมให้นิคมอุตสาหกรรมมีความทันสมัย ชุมชนในนิคมอุตสาหกรรมมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ในด้านของความร่วมมือกับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) นั้น เป็นการร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางไฟฟ้าและการสื่อสาร เพื่อนำไปสู่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) อันจะเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐในการจัดสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางไฟฟ้าและการสื่อสารสำหรับการนิคมอุตสาหกรรม เพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อน และปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในนิคมอุตสาหกรรมให้สวยงาม เป็นระเบียบ จากความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและการสื่อสาร และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และก่อให้เกิดประโยชน์ ต่อประเทศได้อย่างยั่งยืน