ชง “ตู่” ของบสำรองจ่ายฉุกเฉิน เท 900 ล้านเข้ากองทุนพัฒนาพิเศษ EEC

กบอ.ชงบอร์ด EEC อนุมัติงบฯฉุกเฉิน 1,336 ล้านบาท เทเข้ากองทุน EEC 900 ล้านบาท ใช้พัฒนาเยียวยาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ EEC ด้าน “คณิศ” ปรับเป้าลงทุน S-curve ใหม่ทั้งเก่าใหม่เป็น 50 : 50 รวม 500,000 ล้านบาทในอีก 5 ปีข้างหน้า ขณะที่ กนอ.เร่งหาพื้นที่ตั้งเขตเศรษฐกิจเฉพาะด้านรูปแบบใหม่รับนักลงทุน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในสัปดาห์นี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จะเสนอขอพิจารณาอนุมัติจัดสรรงบประมาณปี 2562 เพื่อเป็นเงิน “สำรองจ่าย” กรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 1,336.91 ล้านบาท ตามที่คณะกรรมการบริหารเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) เป็นผู้เสนอ

ทั้งนี้ เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน แบ่งเป็น 1) งบฯค่าใช้จ่ายสำหรับดำเนินงานกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กองทุน EEC 1,000 ล้านบาท) จำนวน 900 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนที่เพิ่มเข้ามาจากที่ก่อนหน้านี้ได้เคยมีการจัดสรรงบประมาณกองทุนเบื้องต้นมาแล้ว 100 ล้านบาท โดยกองทุน EEC จะใช้สำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน/ชุมชน-การเยียวยาผลกระทบจากการพัฒนาในพื้นที่ EEC และส่งเสริมการศึกษาให้ทุนการศึกษาชุมชนในพื้นที่โดยรอบ

2) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการด้านลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม New S-curve (หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม-อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์-อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ-อุตสาหกรรมดิจิทัล-อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร-อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ-อุตสาหกรรมพัฒนาบุคลากรและการศึกษา) กับโครงการตามนโยบายสำคัญซึ่งจะใช้เงิน 261.67 ล้านบาท

3) ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการบริหารภายใน สกพอ. อาทิ ค่าใช้จ่ายบุคลากร 59.93 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายบริหารสำนักงาน 35.31 ล้านบาท การย้ายสำนักงานไปยังอาคาร CAT Tower และค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วน จำนวน 341.64 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการสำคัญที่จำเป็นต้องดำเนินการภายในปีนี้ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเชื่อมโยงท่าอากาศยานหลักของประเทศ และพื้นที่ EEC กับกรุงเทพฯ ซึ่งจะลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญอิสระในด้านต่าง ๆ ที่มีประสบการณ์ เพื่อทำงานระหว่างเดือน มี.ค.-ก.ย. ร่วมกับเอกชนคู่สัญญาในการบริหารและกำกับให้โครงการดำเนินการได้โดยไม่ติดขัด ในส่วนนี้จะใช้วงเงิน 80 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การเร่งดำเนินงานของอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อให้เป็นไปตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจประเทศภายใต้กรอบไทยแลนด์ 4.0 โดยมีเป้าหมายผลักดันกลุ่มอุตสาหกรรม New S-curve ให้มากขึ้น ดังนั้น สกพอ.จัดให้มีกิจกรรมส่งเสริมความรู้ความเข้าใจให้แก่นักลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่ม New S-curve เพื่อให้เกิดความสนใจและพร้อมที่จะมาลงทุนในพื้นที่ EEC รวมทั้งโครงการสำคัญที่ กพอ. มอบให้ สกพอ.ดำเนินการ ซึ่งยังมิได้รับการจัดสรรงบประมาณ

ด้านนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวในการสัมมนา “เศรษฐกิจไทยกับการเลือกตั้ง” จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า เป้าหมายการลงทุนจากอุตสาหกรรม S-curve ใน 5 ปี อยู่ที่วงเงิน 500,000 ล้านบาท หรือ 100,000 ล้านบาท/ปี นับตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งต้องการให้สัดส่วนการลงทุนจาก 5 อุตสาหกรรมเดิม (First S-curve) 250,000 ล้านบาท หรืออยู่ที่ 50% จากเดิม 70% และจาก 7 อุตสาหกรรมใหม่ (New S-curve) อีก 250,000 ล้านบาท หรือให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 50% จาก 30%

โดยใช้วิธีประสานความร่วมมือทั้งรัฐและเอกชน การทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI), กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงการคลัง, กระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงภาคเอกชนและผู้เชี่ยวชาญเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลและเทคโนโลยีเชิงลึก และร่วมทำข้อเสนอโครงการลงทุนโรดโชว์แบบเจาะลึกตามกลุ่มเป้าหมาย

“ขณะนี้ EEC ได้เข้าสู่แผนเฟสที่ 3 แล้ว โดยเฟส 1 (2560-2561) ดำเนินการจัดทำ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เฟสที่ 2 (2561-2562) จัดทำ TOR เปิดทำ PPP คัดเลือกลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั้ง 5 โปรเจ็กต์ ที่ทั้งหมดจะลงนามสัญญาหลังได้นักลงทุนแล้วภายใน มี.ค.-เม.ย.นี้ ส่วนเฟส 3 (2562) การลงทุนจากอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 12 อุตสาหกรรมให้เห็นจริงในพื้นที่ EEC ที่ 534,481 ล้านบาท จากปีก่อนที่ลงทุน 265,933 ล้านบาท”

นอกจากนี้ยังมีการเสนอจัดตั้ง เขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะด้าน (cluster) โดยนางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ.จะจัดหาพื้นที่ให้นักลงทุนจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการอุตสาหกรรมรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายเฉพาะพิเศษเฉพาะด้าน (cluster) ขึ้นอีก 1 รูปแบบ เพื่อเป็นพื้นที่เพิ่มเติมและรองรับนักลงทุนได้ ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ. EEC การจัดเขตส่งเสริมฯจะต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อนที่จะมีการประกาศพื้นที่ ซึ่งเดิมนั้นเขตส่งเสริมฯจะมีเพียง 2 รูปแบบ และได้ประกาศไปแล้ว 25 แห่ง คือ เขตส่งเสริมพิเศษเพื่อกิจการพิเศษในรูปแบบพื้นที่อย่าง EECa, EECi, EECd รวมถึงเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

ส่วนเขตส่งเสริมพิเศษเพื่ออุตสาหกรรมเป้าหมาย จะอยู่ในรูปแบบนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งแต่ละประเภทจะได้สิทธิประโยชน์แตกต่างกัน “อย่างโตโยต้า บ้านโพธิ์ และโตโยต้า ในนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ คือ หนึ่งในผู้ที่ยื่นขอให้เป็นพื้นที่เขตส่งเสริมฯเช่นกัน และในลักษณะนี้ โตโยต้าน่าจะเข้าข่ายอยู่ในรูปแบบเขตส่งเสริมพิเศษเฉพาะด้าน (cluster)”

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!