“ม.เกษตร” เร่งวิจัยพัฒนา ปั้น “เมืองนวัตกรรมอาหาร”

อุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง สามารถสร้างมูลค่าส่งออกและรายได้ให้กับประเทศปีละ 102,000 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าปัจจุบันผู้ประกอบการ ผู้ส่งออกให้ความสำคัญในการคิดค้นสินค้า/ผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างต่อเนื่องโดยใช้วัตถุดิบสำคัญที่ประเทศไทยสามารถผลิตได้ เช่น ข้าว อ้อย มันสำปะหลังนอกจากจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มรายได้ให้กับประเทศยังเป็นการส่งเสริมและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกได้อีกด้วย

ดังนั้น เพื่อต่อยอดการส่งเสริมให้มูลค่าอุตสาหกรรมอาหารเติบโต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีงานด้านวิจัยอาหารมากมาย พร้อมส่งเสริมและพัฒนา เพื่อต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ

มก.หนุนต่อยอดนวัตกรรม

รศ.ดร.อนุวัตร แจ้งชัด คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีคณะที่เกี่ยวข้องด้านอุตสาหกรรมอาหารตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ที่พร้อมด้วยบุคลากร นักวิจัยที่จะคอยช่วยและสนับสนุนพัฒนาสินค้าเกษตรของไทยให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและสามารถเข้าสู่การแข่งขันในอุตสาหกรรมอาหารทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ สอดรับกับนโยบายของภาครัฐที่สนับสนุนการต่อยอดสินค้าเกษตรให้เกิดมูลค่าที่สูงขึ้น

ขณะนี้มหาวิทยาลัยได้จัดให้มี “เมืองนวัตกรรมอาหาร” ขึ้น เพื่อศึกษา พัฒนา วิจัยชิ้นงานที่สามารถออกสู่ตลาดได้ ซึ่งเรามีความพร้อมทั้งเครื่องมือที่ทันสมัย และผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศที่คอยให้คำปรึกษา

ต้นแบบงานวิจัย 30 ชิ้น

ปัจจุบันเรามีผลงานวิจัยกว่า 30 ชิ้นงาน มีบริษัทและหน่วยงานเข้ามาใช้พื้นที่และบุคลากรของมหาวิทยาลัยในการวิจัยงานต่าง ๆ กว่า 40 บริษัท ซึ่งบริษัทเหล่านี้ยังได้สิทธิในการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ลดหย่อนภาษีซึ่งช่วยสนับสนุนให้เกิดงานวิจัยที่หลากหลายมากขึ้นการพัฒนาเมืองฯสอดรับนโยบายของภาครัฐที่ต้องการส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่ง 1 ในนั้นคือ อุตสาหกรรมอาหาร จึงเป็นการดึงดูดให้เกิดการวิจัย ลงทุนมากขึ้น

จับมือพาณิชย์แปรรูปมัน

ล่าสุดได้ร่วมกับกรมการค้าภายในและผู้ประกอบการเปิดตัวสินค้า “วาฟเฟิลกรอบ และมันอบกรอบ” จากมันสำปะหลัง โดยผลงานที่เกิดขึ้นนี้เป็นตัวอย่างการศึกษาและวิจัยที่ใช้ระยะเวลานานกว่าจะมีสินค้า 1 ชิ้นที่สามารถออกสู่ตลาดได้

ด้าน รศ.ดร.ปรารถนา ปรารถนาดี หัวหน้าโครงการแปรรูปมันสำปะหลัง และผลิตภัณฑ์สู่อุตสาหกรรมอาหารเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ประจำปีงบประมาณ 2561 ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการที่คิดค้นสินค้าดังกล่าวออกมาได้ระบุว่า สินค้าที่จะมีการนำออกมาสู่ตลาด ภายใต้แบรนด์ Kassa Sweet ซึ่งเป็นแบรนด์ของมหาวิทยาลัยออกมาจำหน่าย โดยผ่านระบบออนไลน์ และจะมีการวางจำหน่ายในการเกษตรแฟร์ที่จะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ด้วย

หากจะพูดถึงที่มาของการวิจัยนี้ เริ่มศึกษามาตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งศึกษาร่วมหลายคณะของมหาวิทยาลัย ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ แพ็กเกจ เพื่อให้เกิดสินค้า 1 ชิ้นออกมา โดยคิดค้นออกมาได้ 4 สินค้า เช่น วาฟเฟิล มันอบกรอบ มันทอดกรอบ และไอศกรีม ต่อมาก็ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่น่าจะเหมาะสมในการทำตลาดออกมา 2 รายการวาฟเฟิลและมันอบกรอบที่จะทำตลาด ปัจจุบันสินค้า 2 ตัวนี้ได้รับความสนใจจากภาคเอกชนที่จะนำไปต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่จะเห็นได้ว่าสินค้าดังกล่าวนี้ วัตถุดิบสำคัญมาจากมันสำปะหลังที่ปลูกในประเทศไทย เพราะต้องยอมรับว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการส่งออกมันสำปะหลังมากที่สุด มีผลผลิตต่อปีเฉลี่ยอยู่ที่ 30 ล้านตัน และในมันสำปะหลังที่ส่งออกไปสู่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ บางส่วนยังนำมาวิจัยเพื่อผลิตเป็นอาหาร ขนมขบเคี้ยวได้ แต่อาจจะต้องผ่านขบวนการลดสารไซยาไนด์โดยขบวนการที่ถูกต้อง แต่ในประเทศไทยก็ยังมีมันสำปะหลังพันธุ์ที่บริโภคได้ ซึ่งเราได้นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร และเพื่อแข่งขันในตลาดขนมขบเคี้ยว ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าทางการตลาดประมาณ 35,000 ล้านบาทต่อปี ทางมหาวิทยาลัยร่วมกับภาคเอกชน เกษตรกร ได้ร่วมผลักดันวาฟเฟิล และมันอบกรอบ เข้าสู่ตลาด ซึ่งขั้นตอนนั้นอยู่ระหว่างการศึกษา พัฒนากระบวนการผลิตให้เหมาะสมและให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

แนวทางการทำตลาด

หากเป็นไปได้จะเห็นสินค้า วาฟเฟิล มันอบกรอบวางตลาดทั่วไปได้ในช่วงไตรมาส 1-2 นี้ เป้าหมายในระยะสั้นต้องการสร้างการรับรู้และความต้องการบริโภคในตลาด อีกทั้งส่งเสริมเกษตรกรเข้าร่วมโครงการให้มากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าปัจจุบันการปลูกมันสำปะหลังที่รับประทานได้ยังมีจำนวนน้อยมาก จึงต้องการผลักดันให้เกษตรกรเข้าร่วมเยอะ ๆ เพราะหากดูราคาขายแล้ว หากขายแค่หัวมันสดอยู่ที่ 2-3 บาทต่อกิโลกรัม หากผ่านการลดสารที่รับประทานไม่ได้ในตัวมันสำปะหลัง และนำมาขาย จะขายในราคา 25-30 บาทต่อกิโลกรัม แต่เมื่อเข้าสู่ขบวนการผลิตเป็นสินค้าแปรรูปเป็นวาฟเฟิล หรือมันอบกรอบ จะจำหน่ายในราคา 1,000 บาทต่อกิโลกรัม จะเห็นว่าราคานั้นเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว

มหาวิทยาลัยจึงต้องการเชิญชวนเกษตรกร หรือภาคเอกชนที่สนใจ เข้าร่วมโครงการเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรไทย ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่มีความพร้อมและเข้าร่วมโครงการแล้ว เช่น บริษัท พลวรรธน์ ฟู้ดส์ จำกัด, ศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หรือ ศพก.บ้านฉาง จ.ระยอง, คลัสเตอร์มันสำปะหลังกำแพงเพชร, หจก.อนันตรา ฟู้ด แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง และร่วมกับบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวช่น ซิสเทม จำกัด หรือเทสโก้ โลตัส เข้ามาช่วยด้านการผลิตและเป็นช่องทางการจำหน่าย

นอกจากนี้ ความร่วมมือนี้ยังเป็นโครงการภายใต้โครงการประชารัฐของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมเกษตรกร และสนับสนุนเอกชน ในการแข่งขันและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า

อย่างไรก็ดี ทางมหาวิทยาลัยยังมีแนวคิดจะผลักดันการรับรองผลงาน ชิ้นงานวิจัย โดยเฉพาะสินค้าอาหาร เพราะต้องยอมรับว่าปัจจุบันการรับรองยังยุ่งยาก หลายขั้นตอน ค่าใช้จ่ายที่สูง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการวิจัยและผลักดันชิ้นงานที่มีประสิทธิภาพออกสู่ตลาด และหากสามารถดำเนินการได้ จะทำให้ผลงานวิจัยของประเทศไทยมีศักยภาพและนำออกสู่ตลาดได้จริง และเพิ่มมูลค่าสินค้าได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งก็คาดหวังหน่วยงานของภาครัฐให้กับสนับสนุน เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องในหลายหน่วยงานและมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่เชื่อว่าหากดำเนินการได้จะช่วยส่งเสริมผลงานวิจัยสินค้าเกษตรไทยให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆสู่ผู้บริโภคได้ในอนาคต

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!