เอ็นไอเอ จับมือ ไทยยูเนียนฯ ม.มหิดล ตั้ง “สเปซ-เอฟ” บิ๊กเซ็นเตอร์ เป้าหมายภายใน 3 ปี เกิดธุรกิจนวัตกรรมอาหารไม่ต่ำกว่า 60 ราย

เอ็นไอเอ จับมือ ไทยยูเนียนฯ ม.มหิดล ตั้ง “สเปซ-เอฟ” บิ๊กเซ็นเตอร์ เป้าหมายภายใน 3 ปี เกิดธุรกิจนวัตกรรมอาหารไม่ต่ำกว่า 60 ราย พร้อมย้ำความเป็นผู้นำครัวโลกของไทย

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า NIA ในฐานะผู้เชื่อมโยงระบบนวัตกรรมของประเทศ และผู้ขับเคลื่อนแพลตฟอร์มสตาร์ทอัพไทยแลนด์ ได้เล็งเห็นถึงโอกาสและความสำคัญของการพัฒนานวัตกรรมอาหาร และ FoodTech Startup ล่าสุดร่วมมือกับ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนา FoodTech Incubation and Acceleration Program ภายใต้ชื่อ “SPACE-F : สเปซ-เอฟ” โดย NIA ตั้งเป้าว่าโครงการ SPACE-F จะมีส่วนช่วยในการเพิ่มจำนวนวิสาหกิจเริ่มต้นด้านธุรกิจนวัตกรรมอาหารในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 60 ราย ภายในระยะเวลา 3 ปี พร้อมตอกย้ำภาพลักษณ์การเป็น “ครัวโลก” และรักษาขีดความสามารถอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยให้ดีได้ยิ่งกว่าเดิม

สำหรับการพัฒนา FoodTech Incubation and Acceleration Program จะเน้นใน 9 ด้าน ได้แก่ 1.อาหารเพื่อสุขภาพ (Health & Wellness) 2.โปรตีนทางเลือก(Alternative Proteins) 3.กระบวนการผลิตอาหารอัจฉริยะ (Smart Manufacturing) 4.บรรจุภัณฑ์แห่งอนาคต (Packaging Solutions) 5.ส่วนผสมและอาหารใหม่ (Novel Food & Ingredients) 6.วัสดุชีวภาพและสารเคมี (Biomaterials & Chemicals) 7.เทคโนโลยีการบริหารจัดการร้านอาหาร (Restaurant Tech) 8.การตรวจสอบควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร (Food Safety & Quality) และ 9.บริการอัจฉริยะด้านอาหาร (Smart Food Services)

ด้านนายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการพัฒนา SPACE-F จะเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยความร่วมมือครั้งนี้รับว่าเป็นการผลักดัน FoodTech startup ครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อก้าวไปสู่การแข่งขันในตลาด อีกทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวมองว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นยาก แต่ก็ต้องผลักดันเพื้อให้เกิดขึ้นเนื่องจากหลายประเทศมีการพัฒนาไปไกล หากประเทศไทยไม่เดินหน้าก็จะช้ากว่าคู่แข่ง

โดยหลายประเทศ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ฮอลแลนด์ ได้พัฒนาในอุตสาหกรรมดังกล่าวไกลมาก อย่างไรก็ดี บริษัทก็พร้อมสนับสนุนผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดมูลค่าการการค้า และขยายมูลค่าของอุตสาหกรรมอาหารให้เติบโตต่อไปได้ในอนาคต

รศ.ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ คณบดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ร่วมก่อตั้ง SPACE-F เพื่อสร้าง FoodTech startup พร้อมผลักดันการสร้างนวัตกรรม และพัฒนาบัณฑิตที่สนใจให้เป็น Enterpreneur ในอนาคต โดยคณะวิทยาศาสตร์จะสนับสนุน Ecosystem ในการทำงานวิจัยอันได้แก่ สถานที่ ห้องปฏิบัติการงานวิจัย นักวิจัย องค์ความรู้ ตลอดจนผลงานวิจัยที่มีอยู่

อย่างไรก็ดี ความร่วมมือครั้งนี้ จะเพิ่มอัตราความสำเร็จของ Startup จนกระทั่งสามารถสร้าง Impact ต่อเศรษฐกิจในระดับประเทศไทยและระดับโลกต่อไปสำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-0175555 ต่อ 525 (จิตรภณ) เว็บไซต์ www.nia.or.th หรือ facebook.com/niathailand