พาณิชย์แจงการจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบผลิตไฟฟ้าทำเพื่อประโยชน์สูงสุดให้เกษตรกร ยันไม่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มใดทั้งสิ้น

กรมการค้าภายในชี้แจงการดำเนินการจัดหาผู้จำหน่ายน้ำมันปาล์มให้ กฟผ. โปร่งใส และได้พยายามเชิญชวนและอำนวยความสะดวกให้ผู้จำหน่ายปาล์มมาสมัครอย่างเต็มที่ พร้อมแจงสัญญาระหว่างผู้จำหน่ายน้ำมันปาล์มกับ กฟผ. ดำเนินการด้วยความชัดเจนและรัดกุม

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า จากมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ มอบให้กระทรวงพลังงานโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 160,000 ตัน ไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง ในราคากิโลกรัมละ 18 บาท เพื่อดึงราคาผลปาล์มของเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันให้สูงขึ้นนั้น ปรากฏว่ามีกระแสข่าวที่บิดเบือนทำให้เกษตรกรและประชาชน เกิดความเข้าใจผิดว่าการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจากเกษตรกรมีการเอื้อผลประโยชน์ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

กรมการค้าภายใน ขอชี้แจงดังนี้ การดำเนินการมาตรการดังกล่าว คณะอนุกรรมการบริหารและกำกับดูแลมาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ (เฉพาะกิจ) ได้จัดสรรปริมาณการรับซื้อ จำแนกออกเป็น 4 กลุ่ม โดยในแต่ละกลุ่มกำหนดเป้าหมายรับซื้อให้สอดคล้องกับปริมาณผลผลิตในแต่ละพื้นที่ ดังนี้ กลุ่มที่ 1 ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี 64,000 ตัน กลุ่มที่ 2 กระบี่ พังงา ตรัง 54,000 ตัน กลุ่มที่ 3 นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา สตูล ปัตตานี นราธิวาส 32,000 ตัน กลุ่มที่ 4 ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี ตราด 10,000 ตัน และได้ประกาศรับสมัครผู้ประสงค์จำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบเพื่อส่งมอบให้ กฟผ. ทั้งสิ้นจำนวน 5 ครั้ง ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 2-8 ม.ค. 62 / ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 9-11 ม.ค. 62 / ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 15-18 ม.ค. 62 / ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 19-25 ม.ค. 62

ผลปรากฏว่าในการเปิดรับสมัครรอบที่ 1 มีผู้สมัครในกลุ่ม 1 เพียง 1 ราย และเสนอขายเพียง 2,000 ตันและภายหลังจากการลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการ ทำให้ในการขยายระยะเวลาสมัครครั้งที่ 2-3 มีผู้เข้ามาร่วมโครงการเพิ่มขึ้นในกลุ่มที่ 1 และ 2 แต่สำหรับในกลุ่มที่ 3 และ 4 ผู้ประกอบการยังไม่ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการ ส่งผลให้ราคารับซื้อผลปาล์มในพื้นที่ปรับลดลงเหลือกิโลกรัมละ 2.60 บาท จากเดิมที่ปรับสูงขึ้นกิโลกรัมละ 2.95 บาท ดังนั้น เพื่อให้แก้ไขสถานการณ์ราคาจึงได้ยกเลิกการกำหนดสัดส่วนปริมาณการรับซื้อในแต่ละกลุ่มเพื่อเปิดกว้างให้ผู้ที่มีศักยภาพสามารถเสนอขายน้ำมันปาล์มดิบให้แก่ กฟผ. และไปเร่งรัดให้มีการรวบรวมรับซื้อผลปาล์มดิบจากเกษตรกร ในการแก้ไขสถานการณ์ราคา

สรุปจำนวนผู้ประกอบธุรกิจที่สมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 40 ราย โดยได้รับการอนุมัติจำนวน 32 ราย และเสนอขายน้ำมันปาล์มดิบเพื่อส่งมอบให้ กฟผ. จำนวน 111,000 ตัน แต่ก็ยังไม่ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งต้องผลักดันน้ำมันปาล์มดิบอีกจำนวน 49,000 ตัน จึงจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ 160,000 ตัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประกาศขยายระยะเวลารับสมัครเป็นครั้งที่ 5 ซึ่งเปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 30 ม.ค.-15 ก.พ. 62 เพราะฉะนั้นจึงเห็นได้ว่ากระทรวงพาณิชย์ได้พยายามเชิญชวนประชาสัมพันธ์และอำนวยความสะดวกให้ผู้จำหน่ายปาล์มมาสมัครอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ภายหลังจากปรับปรุงหลักเกณฑ์เงื่อนไขการเสนอจำหน่ายน้ำมันปาล์มเพื่อส่งมอบให้ กฟผ. ส่งผลให้สถานการณ์ราคารับซื้อผลปาล์มดิบจากเกษตรกรปรับเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับจนปัจจุบัน ณ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562 ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 2.90 บาท และคาดว่าจะปรับสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจบางรายขอยกเลิกและขอส่งคืนโควต้าการส่งมอบน้ำมันปาล์มให้ กฟผ. เนื่องจากต้นทุนการรับซื้อสูงขึ้นและอาจไม่สามารถรวบรวมเอกสารหลักฐานการรับซื้อผลปาล์มจากเกษตรกรเพื่อส่งมอบได้ โดยมีผู้ประกอบธุรกิจจำนวน 3 ราย ขอยกเลิก (บจ.พีพีพี กรีน คอมเพล็กซ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ / บจ.ศรีเจริญปาล์มออยล์ จ.ชุมพร / บจ.นามหงส์น้ำมันปาล์ม จ.กระบี่) และขอปรับลดยอดส่งมอบ จำนวน 2 ราย (บจ.ปาล์มพัฒนาชายแดนใต้ จ.ปัตตานี คืน 2,000 ตัน / บจ.ป.พานิชรุ่งเรืองปาล์มออยล์ จ.สุราษฎร์ธานี คืน 3,000 ตัน)

สำหรับประเด็นเรื่องสัญญาระหว่างผู้จำหน่ายกับ กฟผ. ที่มีกระแสข่าวว่าไม่เป็นธรรมนั้น กรมการค้าภายในขอยืนยันว่าดำเนินการด้วยความชัดเจนและรัดกุม โดยเรื่องการจ่ายเงินให้ผู้เสนอขายจะได้รับชำระเงินร้อยละ 90 ของมูลค่าปาล์มน้ำมันที่ส่งมอบ ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 10 จะได้รับเมื่อนำหลักฐานการรับซื้อผลปาล์มจากเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรในราคาที่แจ้งไว้ในสัญญา ทั้งนี้ ภาระค่าขนส่งผู้ขายจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเองทั้งหมด โดยอัตราค่าขนส่งทางเรือจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 0.6 บาท ประกอบด้วย ค่าขนถ่ายขึ้นและลงค่าขนส่งจากต้นทางถึงปลายทาง ค่าตรวจสอบคุณภาพโดย surveyor

ส่วนเงื่อนไขไม่ให้ผู้จำหน่ายน้ำมันปาล์มส่งมอบทางรถยนต์นั้น เพราะจากการกำหนดปริมาณการส่งมอบ งวดละไม่น้อยกว่า 2,000 ตัน หากเป็นการส่งมอบโดยทางรถยนต์จะส่งผลในทางปฏิบัติแก่ผู้จำหน่ายทั้งด้านการจัดการและประเด็นข้อกฎหมาย ที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดให้การขนส่งในรถบรรทุกขนาดใหญ่ กำหนดไว้ 2 ช่วงเวลา ได้แก่ ช่วงเช้าและช่วงเย็นเท่านั้น ซึ่งหากจะต้องขนส่งน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 2,000 ตันต่องวด จะต้องใช้รถบรรทุกจำนวน 67 คันในคราวเดียวกัน ซึ่งจะทำให้เกิดความแออัดและยากต่อการบริหารจัดการการส่งมอบ – รับมอบ อีกทั้งยังส่งผลต่อสภาพการจารจรและมลภาวะในบริเวณโดยรอบ นอกจากนี้ ยังไม่นับรวมมีภาระต้นทุนค่าน้ำมันเชื้อเพลิงระหว่างการรอขนถ่ายที่จะเกิดขึ้นอีกด้วย จึงกำหนดจุดส่งมอบ ณ ท่าเทียบเรือโรงไฟฟ้าบางปะกง เพื่อให้สะดวกต่อการรับมอบส่งมอบของทั้งผู้จำหน่ายและ กฟผ. อีกทั้งยังมีต้นทุนการจัดการและการขนส่งที่ต่ำกว่า

สำหรับอัตราค่ากรดไขมันอิสระ (FFA) ที่ต้องกำหนดอัตราไม่เกินร้อยละ 7 จากอัตราปกติที่ไม่เกิน ร้อยละ 5 เนื่องจากไม่ใช่น้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภค อย่างไรก็ตามหากค่า FFA เกินกว่าร้อยละ 7 (แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 9) จะมีค่าหักลดน้ำหนักที่ร้อยละ 0.5 ของปริมาณที่ส่งมอบ ส่วนการกำกับดูแลและการจ่ายชดเชยเพื่อป้องกันคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดจะเป็นผู้ตรวจสอบเอกสารการรับซื้อผลปาล์มจากเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรนับตั้งวันที่ได้ทำสัญญากับ กฟผ.จากนั้นจึงจะส่งเอกสารหลักฐานการรับซื้อไปยัง กฟผ. เพื่อจ่ายชำระเงินในส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 10 กรณีที่ไม่สามารถจัดหาหลักฐานการรับซื้อจากเกษตรกรได้ภายใน 60 วัน กฟผ. จะคิดค่าปรับอัตราร้อยละ 0.1 ต่อวัน ของยอดวงเงินที่ทำสัญญา

นอกจากนี้ตามที่มีกระแสข่าวว่าปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มคงเหลือในประเทศ มีจำนวน 700,000 ตัน ไม่เป็นความจริง เพราะหากถูกนำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า 160,000 ตัน ครบถ้วน จะเหลือน้ำมันปาล์มดิบในสต็อกเพียง 190,000 ต่ำกว่าสต็อกปกติที่มี คือ 250,000 ตัน และผลผลิตที่เพิ่มขึ้นกับอัตราที่ใช้ค่อนข้างจะสอดคล้องกัน เพราะฉะนั้นโอกาสที่สต๊อกน้ำมันคงเหลือในประเทศ มีจำนวน 700,000 ตัน จึงเป็นไปไม่ได้ การบิดเบือนข้อเท็จจริงข้อมูลดังกล่าว จะสร้างความเสียหายต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบเป็นอย่างมาก